ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
วัคซีนโควิด

ตอนนี้วัคซีนโควิด-19 มีกี่ชนิด แต่ละชนิดมีกลไกและประสิทธิภาพแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

[รหัสคำถาม : 237] วันที่รับคำถาม : 08 ก.ค. 64 - 10:31:57 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย
การพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ในปัจจุบันอาศัยองค์ความรู้เรื่องโครงสร้างของไวรัสโควิด-19 มาประยุกต์ใช้ในการสร้างวัคซีน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนสไปค์ของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนที่ทำหน้าที่จับกับตัวรับ angiotensin-reverting enzyme-2 (ACE2) receptor บนผิวเซลล์ของระบบทางเดินหายใจ หลอดเลือด และลำไส้ในร่างกาย เป็นผลให้เกิดการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันตามมา [1]
ปัจจุบัน อย. ได้อนุมัติทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว 6 รายการ โดยมี 5 รายการที่ถูกนำมาใช้โดยทั่วไปในประเทศไทย เรียงลำดับตามการอนุมัติได้ดังนี้ 1) ChAdOx1-S (AstraZeneca) 2) PiCoVacc (Sinovac) 3) mRNA-1273 (Moderna) 4) BBIBP-CorV (Sinopharm) และ 5) BNT162b2 (Pfizer) [1] ซึ่งสามารถจำแนกวัคซีนตามกลไกได้ดังนี้
1. วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม หรือ messenger RNA (mRNA) ได้แก่ BNT162b2 (Pfizer) และ mRNA-1273 (Moderna) ผลิตโดยการสังเคราะห์สารดีเอ็นเอหรือสารเอ็มอาร์เอ็นเอที่หุ้มด้วย lipid nanoparticle มากำกับการสร้างโปรตีนสไปค์ของไวรัสโควิด-19 เมื่อเข้าสู่เซลล์จะกระตุ้นสร้างสารโปรตีนสไปค์ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเชื้อไวรัส [1,2,3]
2. วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector) ได้แก่ ChAdOx1-S (AstraZeneca) เกิดจากการนำสารพันธุกรรมที่กำกับการสร้างโปรตีนสไปค์ของไวรัสโควิด-19 มาสอดใส่แทนส่วน พันธุกรรมที่จำเป็นในการแบ่งตัวของไวรัสพาหะ ทำให้ไวรัสพาหะนี้ไม่สามารถแบ่งตัวก่อโรคได้ แต่จะกำกับให้เซลล์ของมนุษย์สร้างโปรตีนสไปค์ที่มันพาไป [1,4]
3. วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Virus) ได้แก่ BBIBP-CorV (Sinopharm) และ PiCoVacc (Sinovac) ผลิตโดยการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเซลล์เพาะเลี้ยงจำนวนมาก จากนั้นทำให้ตายด้วยความร้อน รังสี หรือสารเคมี เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายแล้วจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนและทำให้เกิดโรคได้ [1,5,6]
ประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และผลต่อไวรัสกลายพันธุ์
ด้านประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ของแต่ละวัคซีนจากงานวิจัยต่างๆ พบว่าวัคซีน BNT162b2 (Pfizer) สามารถป้องกันไม่ให้มีอาการของโควิด-19 ได้ 95% [7,12], วัคซีน mRNA-1273 (Moderna) มีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 คิดเป็น 94.1% [8,13], วัคซีน ChAdOx1-S (AstraZeneca) มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้มีอาการของโควิด-19 ได้ 70.4% [4,14] วัคซีน BBIBP-CorV (Sinopharm) มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้มีอาการของโควิด-19 ได้ 79% [5,10] ส่วนวัคซีน PiCoVacc (Sinovac) มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้มีอาการของโควิด-19 ได้ 65.9% และเมื่อเปรียบเทียบผลต่อไวรัสกลายพันธุ์พบว่าวัคซีน BNT162b2 (Pfizer) และ วัคซีน ChAdOx1-S (AstraZeneca) มีประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์ชนิดสายพันธุ์แอลฟา และสายพันธุ์เดลตาได้ โดยวัคซีน BNT162b2 (Pfizer) มีประสิทธิภาพเหนือกว่า [7,9,16] ในขณะที่วัคซีน mRNA-1273 (Moderna) วัคซีน BBIBP-CorV (Sinopharm) และวัคซีน PiCoVacc (Sinovac) ยังไม่อาจประเมินประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เดลตาได้ [8,10,11] อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถนำผลวิจัยทั้งหมดข้างต้นมาใช้เปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโควิด-19 ได้โดยตรง เนื่องจากแต่ละงานวิจัยมีความแตกต่างในด้านรูปแบบการศึกษา ลักษณะประชากรที่ใช้ และการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ต่างกัน แต่สามารถสรุปได้เบื้องต้นว่าวัคซีนที่มีกลไกการผลิตเหมือนกันจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ที่ใกล้เคียงกัน อาจได้ผลที่แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อไวรัสที่ใช้ และส่วนประกอบบางส่วนที่แตกต่างกันในกระบวนการผลิต โดยวัคซีนชนิดสารพันธุกรรมจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 มากที่สุด รองลงมาคือวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อตายนั้นจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้น้อยที่สุด
ด้านความปลอดภัยพบว่าอาการไม่พึงประสงค์โดยทั่วไปเกิดไม่รุนแรง เช่น ปวด บวม แดง คัน และมีรอยช้ำบริเวณที่ฉีด ร่างกายอ่อนล้า ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ หนาวสั่น ซึ่งอาการส่วนใหญ่เกิดจากปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกายที่มีต่อวัคซีน และเกิดได้ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนชนิดใด [2,3,4,5,6,12,13,14] สำหรับผลไม่พึงประสงค์บางอย่างซึ่งอาจสัมพันธ์กับวัคซีนที่ใช้ ขณะนี้หลักฐานยังไม่ชัดเจน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) โดยเฉพาะภายหลังได้รับวัคซีนเข็มที่สอง พบในผู้ที่ฉีดวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม (วัคซีน Pfizer และวัคซีน Moderna) มากกว่าวัคซีนชนิดอื่น [2] ส่วนภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดร่วมกับมีเกล็ดเลือดต่ำ (thrombosis with thrombocytopenia syndrome หรือ TTS) นั้น ข้อมูลในขณะนี้พบในผู้ที่ฉีดวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (AstraZeneca) มากกว่าวัคซีนชนิดอื่น [4] อย่างไรก็ตามถือเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้น้อยมาก ในขณะที่วัคซีนเชื้อตาย (วัคซีน Sinopharm และวัคซีน Sinovac) พบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงได้น้อยที่สุด [5,6]
ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนสูตรไขว้ และการฉีดกระตุ้นด้วยเข็มที่ 3
จากการศึกษาเบื้องต้นในประเทศไทย โดยวัดระดับภูมิต้านทาน anti-receptor binding domain (anti-RBD IgG) รวมทั้งอาการข้างเคียงในอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ชนิดเดียวกันหรือสลับกัน ได้แก่ Sinovac+AstraZeneca, AstraZeneca+Sinovac, AstraZeneca+Pfizer, Sinovac+Pfizer, AstraZeneca 2 เข็ม, Sinovac 2 เข็ม หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นเวลาสองสัปดาห์ พบว่า AstraZeneca+Pfizer มีระดับภูมิคุ้มกันสูงที่สุด รองลงมาเป็นวัคซีน Sinovac+Pfizer ซึ่งสูงกว่าการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนวัคซีน Sinovac+AstraZeneca กระตุ้นภูมิได้สูงกว่าการฉีดด้วย AstraZeneca+Sinovac หรือAstraZeneca 2 เข็ม หรือ Sinovac 2 เข็ม กล่าวสรุปคือการให้วัคซีน Sinovac เป็นเข็มแรก แล้วตามด้วย AstraZeneca หรือ Pfizer เป็นเข็มที่ 2 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี และการฉีดวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มแรกควรตามด้วย Pfizer เป็นเข็มที่ 2 [17,18]
เมื่อพิจารณาการฉีดกระตุ้นด้วยเข็มที่ 3 ในผู้ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม โดยแบ่งการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ Sinovac 2 เข็ม+Sinopharm และ Sinovac 2 เข็ม+AstraZeneca ด้วยวิธีเดียวกัน พบว่าผู้ที่ได้วัคซีน AstraZeneca เป็นเข็ม 3 หลังจากฉีดวัคซีน Sinovac 2 เข็มไปมีภูมิขึ้นไม่ต่างจากการฉีด pfizer 2 เข็มในการศึกษาก่อนหน้ามากนัก ส่วนผู้ฉีดวัคซีน Sinopharm เป็นเข็ม 3 ภูมิขึ้นน้อยกว่าการใช้ AstraZeneca เป็นเข็ม 3 และยังต้านเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้น้อยกว่ามาก ในขณะที่อาการไม่พึงประสงค์ที่พบจากการฉีดวัคซีนนั้นอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลางในวัคซีนทุกรูปแบบ [17]
รูปแบบการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรต่างๆ ในประเทศไทย [1]
1. วัคซีน Sinovac
- Sinovac เข็ม 1 + Sinovac เข็ม 2 ห่างกัน 2-4 สัปดาห์
- Sinovac เข็ม 1 + AstraZeneca เข็ม 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์
- Sinovac เข็ม 1 + Moderna เข็ม 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์
- Sinovac เข็ม 1 + Pfizer เข็ม 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์
- Sinovac เข็ม 1 + Sinovac เข็ม 2 + AstraZeneca เข็ม 3 ห่างกัน 3 สัปดาห์
- Sinovac เข็ม 1 + Sinovac เข็ม 2 + Moderna เข็ม 3 ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังกระตุ้นเข็ม 2
- Sinovac เข็ม 1 + Sinovac เข็ม 2 + Pfizer เข็ม 3 ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังกระตุ้นเข็ม 2
2. วัคซีน Sinopharm
- Sinopharm เข็ม 1 + Sinopharm เข็ม 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์
- Sinopharm เข็ม 1 + Sinopharm เข็ม 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์
- Sinopharm เข็ม 1 + Moderna เข็ม 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์
- Sinopharm เข็ม 1 + Pfizer เข็ม 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์
- Sinopharm เข็ม 1 + Sinopharm เข็ม 2 + AstraZeneca เข็ม 3 ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังกระตุ้นเข็ม 2
- Sinopharm เข็ม 1 + Sinopharm เข็ม 2 + Moderna เข็ม 3 ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังกระตุ้นเข็ม 2
- Sinopharm เข็ม 1 + Sinopharm เข็ม 2 + Pfizer เข็ม 3 ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังกระตุ้นเข็ม 2
3. วัคซีน AstraZeneca
- AstraZeneca เข็ม 1 + AstraZeneca เข็ม 2 ห่างกัน 4-12 สัปดาห์
- AstraZeneca เข็ม 1 + Moderna เข็ม 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์
- AstraZeneca เข็ม 1 + Pfizer เข็ม 2 ห่างกัน 4-12 สัปดาห์
- AstraZeneca เข็ม 1 + AstraZeneca เข็ม 2 + Moderna เข็ม 3 ประมาณ 6 เดือนหลังเข็มที่ 2
- AstraZeneca เข็ม 1 + AstraZeneca เข็ม 2 + Pfizer เข็ม 3 ประมาณ 6 เดือนหลังเข็มที่ 2
4. วัคซีน Moderna
- Moderna เข็ม 1 + Moderna เข็ม 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์
5. วัคซีน Pfizer
- Pfizer เข็ม 1 + Pfizer เข็ม 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์

เอกสารอ้างอิง
[1]. กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ใน
สถานการณ์การระบาด ปี 2564 ของประเทศไทย ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2. สมุทรปราการ: ทีเอส อินเตอร์พริ้นท์; 2564: 4-16.
[2]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. COVID-19 โคเมอร์เนตี (COMIRNATYTM). [21]. สืบค้น
จากhttps://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/Vaccine/U1DR1C1072640000811C สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564.
[3]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. COVID-19 Vaccine Moderna. [14]. สืบค้นจาก
https://www.fda.moph.go.th/Pages/Document/covid19_vaccine/Moderna.
สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564.
[4]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. COVID-19 Vaccine AstraZeneca. [12]. สืบค้นจาก
https://www.fda.moph.go.th/Pages/Document/covid19_vaccine/AstraZeneca. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564.
[5]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. COVILO. [13]. สืบค้นจาก
https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/Vaccine/U1DR1C1072640000711C-SPC สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564.
[6]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. โคโรนาแวค. [12]. สืบค้นจาก
https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/Vaccine/U1DR1C1072640000311C-SPC-TH.pdf สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564.
[7]. World Health Organization. Interim recommendations for use of the Pfizer–
BioNTech COVID-19 vaccine, BNT162b2, under Emergency Use Listing, updated 15 June 2021. Available from: https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/338484/WHO-2019-nCoV-vaccines-SAGE_recommendation-BNT162b2-2021.1-eng.pdf?sequence=1&isAllowed=y. Accessed: November 16, 2021.
[8]. World Health Organization. Interim recommendations for use of the Moderna
mRNA-1273 vaccine against COVID-19, updated 25 June 2021. Available from:
https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/338862/WHO-2019-nCoV-vaccines-SAGE_recommendation-mRNA-1273-2021.1-eng.pdf?sequence=5&isAllowed=y. Accessed: November 16, 2021.
[9]. World Health Organization. Interim recommendations for use of the ChAdOx1-S
[recombinant] vaccine against COVID-19 (AstraZeneca COVID-19 vaccine AZD1222 VaxzevriaTM, SII COVISHIELDTM), updated 30 July 2021. Available from: file:///C:/Users/Acer/Downloads/WHO-2019-nCoV-vaccines-SAGE-recommendation-AZD1222-2021.3-eng.pdf. Accessed: November 16, 2021.
[10]. The Sinopharm COVID-19 vaccine: What you need to know, 10 May
2021. https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-sinopharm-covid-19-vaccine-what-you-need-to-know. Accessed: November 16, 2021.
[11]. The Sinovac COVID-19 vaccine: What you need to know, 2 June
2021. https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-sinovac-covid-19-vaccine-what-you-need-to-know. Accessed: November 16, 2021.
[12]. Polack FP, Thomas SJ, Kitchin N, et al. Safety and Efficacy of the BNT162b2
mRNA Covid-19 Vaccine. N Engl J Med. 2020;383(27):2603-2615.
[13]. Baden LR, El Sahly HM, Essink B, et al. Efficacy and Safety of the mRNA-1273
SARS-CoV-2 Vaccine. N Engl J Med. 2021;384(5):403-416.
[14]. Voysey M, Clemens SAC, Madhi SA, et al. Safety and efficacy of the ChAdOx1
nCoV-19 vaccine (AZD1222) against SARS-CoV-2: an interim analysis of four randomised controlled trials in Brazil, South Africa, and the UK [published correction appears in Lancet. 2021 Jan 9;397(10269):98]. Lancet. 2021;397(10269):99-111.
[15]. Jara A, Undurraga EA, González C, et al. Effectiveness of an Inactivated SARS-CoV-
2 Vaccine in Chile. N Engl J Med. 2021;385(10):875-884.
[16]. Lopez Bernal J, Andrews N, Gower C, et al. Effectiveness of Covid-19 Vaccines
against the B.1.617.2 (Delta) Variant. N Engl J Med. 2021;385(7):585-594.
[17]. Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University and Department of
Medical Sciences, Ministry of Public Health. (2021). Safety and Immunological Response following Heterologous Primary Series of COVID-19 Vaccination: The preliminary report focusing on the delta variant. Available form: https://sicres.org/wp-content/uploads/2021/08/Poster-hetero-in-Eng_8pm.pdf. Accessed November 18,2021.
[18]. Nasamon W, Suntronwong N, Phowatthanasathian H, Yorsang R, Thongmee T,
Vichaiwattana P. Immunogenicity of heterologous prime/boosterinactivated and adenoviral-vectored COVID-19 vaccine: real-world data. Available from: https://www.researchsquare.com/article/rs-785693/v1. Accessed November 18,2021.

วันที่ตอบ : 14 ก.พ. 65 - 09:32:04




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110