ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Mechanism of action ของ azithromycin ในการรักษาโควิด-19

เนื่องจากมีการแชร์ข้อมูลว่ามีการใช้ ฟ้าทะลายโจร NAC long Paracetamol และ Azithromycin ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่หนัก จึงอยากทราบว่า Azithromycin มีกลไกรักษาอย่างไรต่อโรคโควิด-19 ค่ะ

[รหัสคำถาม : 239] วันที่รับคำถาม : 08 ก.ค. 64 - 15:52:24 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Azithromycin เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่ม macrolide มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ จับกับ 50S subunit ของ bacterial ribosomes ยับยั้งกระบวนการ transpeptidation, translocation, chain elongation และการสังเคราะห์โปรตีนของแบคทีเรียในท้ายที่สุด[1][2] นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านไวรัสและปรับภูมิคุ้มกัน (immunomodulatory)[3] โดยในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 มีการนำ Azithromycin มาทดสอบเพื่อใช้ในป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งยังไม่ได้รับการพิจารณาเรื่องประสิทธิภาพ[2]
กลไกการออกฤทธิ์ของ Azithromycin ต่อการต้านไวรัส SARS-CoV-2 มีการนำเสนอไว้หลายกลไก ได้แก่ ยาอาจรบกวนการจับกันระหว่าง spike protein ของไวรัส กับ ACE 2 receptor ที่อยู่บริเวณเยื่อบุผิวทางเดินหายใจ ทำให้ไวรัสไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ได้ ยาอาจยับยั้ง viral cofactor binding site นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านไวรัสทางอ้อมด้วยการเพิ่มการตอบสนองต่อการต้านไวรัสของเซลล์ผ่าน IFN pathway และช่วยรักษาสมดุลในการตอบสนองภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติในช่วงแรก ส่วนกลไกอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องทดลองเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความเป็นไปได้ ได้แก่ ยารบกวนการเข้าสู่เซลล์ของไวรัสด้วยวิธี endocytosis โดยการทำให้ pH ใน endosome สูงขึ้น และรบกวน mTOR-signaling ซึ่งเป็น signaling pathways ในการอยู่รอดและจำลองตัวเองของไวรัส[3] นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการปรับภูมิคุ้มกัน (immunomodulatory) ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินโรคของโรคโควิด 19 ได้แก่ 1. ยาลดการสร้างเมือกและเพิ่มความหนาของเยื่อบุผิว นอกจากนี้ยังลดการทำงาน matrix metalloprotease (MMP) ซึ่งจะช่วยลดสัญญาณการอักเสบ 2. ยาเป็นตัวควบคุมสัญญาณในการตอบสนองของ monocyte และ macrophage cytokine โดยการกดการส่งสัญญาณ NF-κB และลดการหลั่งของ classical M1 activated macrophage differentiation markers IL-8, IL-6, TNFα และ granulocyte-macrophage colony-stimulating factor 3. ยาปรับเปลี่ยนการตอบสนองของ Th2-cell and B-cell 4. ยาช่วยลดการทำงานของ neutrophil และจำกัดการปล่อย neutrophil extracellular traps (NET) 6. ยาช่วยลด TGF-β-induced myofibroblast differentiation, fibroblast collagen secretion และ extracellular matrix remodeling โดยเกิดขึ้นผ่านการลดลงของ MMP production และ vascular endothelial growth factor release[3]
จากกลไกของยา จึงมีการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา Azithromycin ในผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้อโควิด 19 ในชุมชนที่มีความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน แต่พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับ azithromycin ร่วมกับการรักษาตามมาตรฐาน มีการฟื้นตัวร้อยละ 80 ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานเพียงอย่างเดียว มีการฟื้นตัวร้อยละ 77 จึงไม่พบความแตกต่างของเวลาในการฟื้นตัวครั้งแรกของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม (hazard ratio 1.08, 95%[BCI 0.95 to 1.23]) ไม่พบความแตกต่างของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (3% vs 3% ; absolute benefit in percentage 0.3%, 95% BCI –1.7 to 2.2)[4] นอกจากนี้มีอีกการศึกษาที่ทำในผู้ป่วยที่ยืนยันว่าเป็นโรคโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรงน้อยหรือปานกลาง ก็ไม่มีความแตกต่างกันของอาการทางคลินิกในวันที่ 15 ของกลุ่มที่ได้รับการรักษามาตรฐาน เทียบกับกลุ่มที่ได้รับการรักษามาตรฐานร่วมกับ Azithromycin และ Hydroxychloroquine (odds ratio, 0.99; 95% CI, 0.57 to 1.73; P=1.00) แต่พบอาการไม่พึงประสงค์การเกิด QT prolongation และระดับเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ได้รับ Hydroxychloroquine ร่วมกับ Azithromycin[5]
จากข้อมูลข้างต้นจึงสรุปว่า ในปัจจุบันการใช้ Azithromycin ในการรักษาโรคโควิด 19 ไม่มีผลในทางรักษาทั้งในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคโควิด 19 และผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีอาการน้อย นอกจากนี้ยังพบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เนื่องจากยานี้เป็นยาหลักชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับต้านเชื้อแบคทีเรียดังนั้นจึงมีคำเตือนว่าการนำยานี้มาใช้มากโดยไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อโรคโควิด 19 แต่อาจเกิดผลเสียในเรื่องเกิดเชื้อดื้อยาแบคทีเรียเพิ่มขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง
[1] Amy G. Azithromycin and clarithromycin [Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2021 [cited 12 July 2021]. Available from: http://www.uptodate.com
[2] MICROMEDEX® [Database on the internet]. Colorado: Thomson Reuters (Healthcare); c2021. DRUGDEX® System, Azithromycin; [Cited 12 July 2021]. Available from: http://www.micromedexsolutions.com
[3] Gyselinck I, Janssens W, Verhamme P, et al. Rationale for azithromycin in COVID-19: an overview of existing evidenceBMJ Open Respiratory Research 2021;8:e000806
[4] PRINCIPLE Trial Collaborative Group. Azithromycin for community treatment of suspected COVID-19 in people at increased risk of an adverse clinical course in the UK (PRINCIPLE): a randomised, controlled, open-label, adaptive platform trial. Lancet. 2021 Mar 20;397(10279):1063-1074.
[5] Cavalcanti AB, Zampieri FG, Rosa RG, et al. Hydroxychloroquine with or without Azithromycin in Mild-to-Moderate Covid-19 [published correction appears in N Engl J Med. 2020 Nov 19;383(21):e119]. N Engl J Med. 2020;383(21):2041-2052.


วันที่ตอบ : 16 ก.ค. 64 - 14:32:17




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110