ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยา amoxicillin รับประทาน 2*1 10วัน และ 1*2 10 วันแบบไหนให้ผลการรักษาดีกว่ากัน แท

ยา amoxicillin รับประทาน 2*1 10วัน และ 1*2 10 วันแบบไหนให้ผลการรักษาดีกว่ากัน แทนกันได้ไหม

[รหัสคำถาม : 24] วันที่รับคำถาม : 17 ม.ค. 63 - 12:16:49 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยา amoxicillin เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม penicillin มีข้อบ่งใช้ในการรักษา เช่น รักษา คอหอยอักเสบ (pharyngitis) ทอนซิลอักเสบ (tonsillitis) หูชั้นกลางอักเสบ (otitis media) ไซนัสอักเสบ (rhinosinusitis) รักษาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินอาหาร รักษาการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง (ปอดอักเสบ) รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง เป็นต้น ซึ่งระยะเวลาและขนาดยาที่ใช้ในการรักษาจะแตกต่างกันออกไป เช่น ขนาดยาที่ใช้ในการรักษาคอหอยอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ group A streptococci จะใช้ขนาดยา 1,000 มก.วันละ 1 ครั้งหรือ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง (ขนาดยาสูงสุด 1,000 มก.ต่อวัน) เป็นเวลา 10 วัน ในผู้ใหญ่ และ 50 มก./กก. วันละ 1 ครั้ง หรือ 25 มก./กก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน (ขนาดยาสูงสุด1,000 มก.ต่อวัน) ในเด็กอายุ 3-18 ปี[1]
จากการศึกษาของ Nakao และคณะ[2] ได้ทำการศึกษาในเด็กอายุ ≥ 3 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นคอหอยอักเสบจากการติดเชื้อ group A streptococcal (GAS) และได้รับยา amoxicillin ขนาด 40-50 มก./กก./วัน โดยแบ่งเป็นหนึ่ง (QD) สอง (BID) หรือสาม (TID) ครั้งต่อวันเป็นเวลา 10 วัน เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของการได้รับยา amoxicillin วันละ 1 ครั้งเปรียบเทียบกับวันละหลายครั้ง โดยผลลัพธ์หลักที่ใช้ในการเปรียบเทียบคือ ผล PCR ที่เป็นลบ (ไม่มีเชื้อ) และจำนวนเชื้อ GAS ซึ่งหาปริมาณ GAS ด้วยวิธี real-time PCR ( Polymerase Chain Reaction) จากไม้ป้ายลำคอ (throat swab) สรุปผลได้ว่าการได้รับยา amoxicillin ขนาด 40-50 มก./กก./วัน วันละ 1 ครั้งเปรียบเทียบกับวันละหลายครั้ง ผลลัพธ์การทำ PCR ที่เป็นลบและค่ามัธยฐานของจำนวนเชื้อ GAS ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ดังนั้นการให้ยาวันละ 1 ครั้ง มีประสิทธิภาพในการกำจัดการติดเชื้อ GAS เทียบเท่ากับการให้ยาวันละ 2 และ 3 ครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Clegg และคณะ[3] ได้ศึกษาการรักษาผู้ป่วยคอหอยอักเสบจากการติดเชื้อ GAS อายุ 3-18 ปี ด้วยการใช้ยา amoxicillin วันละ 1 ครั้ง (750 มก. สำหรับผู้ป่วยน้ำหนัก <40 กก.หรือ 1,000 มก. สำหรับผู้ป่วยน้ำหนัก ≥ 40 กก.) เปรียบเทียบกับวันละ 2 ครั้ง (375 มก. สำหรับผู้ป่วยน้ำหนัก <40 กก. หรือ 500 มก. สำหรับผู้ป่วยน้ำหนัก ≥ 40 กก.) โดยดูผลลัพธ์อัตราความล้มเหลวของการกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ได้จากไม้ป้ายลำคอ พบว่าการได้รับยา amoxicillin วันละ 1 ครั้ง (750 มก. หรือ 1,000 มก.) ไม่ด้อยไปกว่าการได้รับยาวันละ 2 ครั้ง (375 มก.หรือ 500 มก.) ในการรักษาคอหอยอักเสบจากการติดเชื้อ GAS
ดังนั้นการได้รับยา amoxicillin ขนาด 40-50 มก./กก./วัน ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 1000 มก./วัน ในการรักษาผู้ป่วยคอหอยอักเสบจากการติดเชื้อ GAS อายุ 3-18 ปี แบบรับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 10 วันและครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน ให้ผลการรักษาที่ไม่แตกต่างและสามารถใช้แทนกันได้[2,3] อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการใช้ยา amoxicillin วันละ 1 ครั้งและวันละ 2 ครั้ง ในการรักษาโรคอื่นหรือกลุ่มผู้ป่วยที่นอกเหนือจากช่วงอายุที่ได้กล่าวไว้
เอกสารอ้างอิง
[1] American Pharmacists Association. Drug information handbook. 25th ed. Hudson, Ohio: Lexi-Comp; 2016.
[2] Nakao A, Hisata K, Fujimori M, Matsunaga N, Komatsu M, Shimizu T. Amoxicillin effect on bacterial load in group A streptococcal pharyngitis: comparison of single and multiple daily dosage regimens. BMC Pediatrics. 2019 Jun 21;19(1):205.
[3] Clegg HW, Ryan AG, Dallas SD, Kaplan EL, Johnson DR, Norton HJ, Roddey OF, Martin ES, Swetenburg RL, Koonce EW, Felkner MM, Giftos PM. Treatment of streptococcal pharyngitis with once-daily compared with twice-daily amoxicillin: a noninferiority trial. Pediatr Infect Dis J. 2006 Sep;25(9):761-7.

วันที่ตอบ : 17 ม.ค. 63 - 19:00:30




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110