ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
วัคซีน

หากฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 ของ Astrazeneca เข็มที่ 2 สามารถฉีดวัคซีนของ Sinovac หรือ Moderna ได้หรือไม่ ถ้าได้ ต้องห่างจากเข็มที่ 1 กี่วัน

[รหัสคำถาม : 240] วันที่รับคำถาม : 12 ก.ค. 64 - 00:03:28 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การฉีดวัคซีน COVID-19 แบบไขว้ เป็นหลักการการฉีดวัคซีน 2 ชนิดที่ต่างกันร่วมกัน เช่น การฉีด Viral vector vaccine ในชื่อการค้า AstraZeneca® ตามด้วย mRNA vaccine (Pfizer® และ Moderna®) การฉีดวัคซีนแบบไขว้ระหว่าง Viral vector vaccine และ mRNA vaccine เป็นแนวทางที่ทำให้ร่างกายอาจเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่สูงกว่า เนื่องจากกลไกต้านไวรัสโควิดของ Viral vector vaccine คือ การกระตุ้น T-cell ที่เป็นตัวกำจัดไวรัสโควิดออกจากร่างกาย ส่วนกลไกของ mRNA vaccine จะกระตุ้นการสร้าง Antibody ต่อเชื้อไวรัสโควิด ซึ่งเป็นการทำงานเสริมกัน[1]
การฉีดวัคซีน COVID-19 แบบไขว้ ผู้ที่ฉีดวัคซีนไขว้ AstraZeneca®/Pfizer® มีภูมิสูงกว่าผู้ที่ได้ AstraZeneca®/AstraZeneca® 9.2 เท่า[2] และประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน COVID-19 แบบไขว้ ผู้ได้ AstraZeneca®/Moderna® และ AstraZeneca®/Pfizer® (ฉีดกระตุ้นด้วย mRNA vaccines หลังจาก AstraZeneca® 12 สัปดาห์) หลังจากฉีดเข็มที่ 2 ไป 1 สัปดาห์มีภูมิสูงกว่าผู้ที่ได้ AstraZeneca®/AstraZeneca® และมีภูมิต่อสายพันธุ์ Alpha, Beta, Gamma สูงกว่าผู้ที่ได้ AstraZeneca®/AstraZeneca®[3,4]
การศึกษาประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนแบบไขว้ในการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 แบบมีอาการที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไปมากกว่า 14 วัน เปรียบเทียบกับ AstraZeneca®/AstraZeneca® พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca®/Pfizer®, AstraZeneca®/Moderna® และ AstraZeneca®/AstraZeneca® วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 แบบมีอาการได้ร้อยละ 67, 79 และ 50 ตามลำดับ
ด้านอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนแบบไขว้ ผู้ที่ฉีดวัคซีน AstraZeneca®/Moderna® ไม่พบอุบัติการณ์การเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ และการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดแดงในขณะที่ผู้ที่ฉีด AstraZeneca®/AstraZeneca® พบอุบัติการณ์การเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำอยู่ที่ 0-0.1 คนใน 100,000 คน-วัน การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำอยู่ที่ 0-0.06 คนใน 100,000 คน-วัน และการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดแดงอยู่ที่ 0-0.04 คนใน 100,000 คน-วัน[5]
ดังนั้น หากฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 เป็น AstraZeneca สามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เป็น Moderna® ได้ โดยมีระยะห่างจากเข็มแรกประมาณ 3 เดือน ส่วนการฉีด Sinovac® เป็นเข็มที่ 2 ยังไม่มีการศึกษารองรับ ซึ่งการฉีดแบบไขว้ AstraZeneca®/Moderna® มีอุบัติการณ์การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดต่ำกว่า AstraZeneca®/AstraZeneca® แต่อาจมีผลข้างเคียงอื่น เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่พบบ่อยในการฉีดวัคซีน Moderna® แต่เป็นอาการข้างเคียงที่ไม่ร้ายแรงและสามารถทนได้

เอกสารอ้างอิง
[1]. Callaway E. Mix-and-match COVID vaccines ace the effectiveness test. Nature. 2021 Oct. 21. doi: 10.1038/d41586-021-02853-4. Epub ahead of print. PMID: 34675430.
[2]. Chiu NC, Chi H, Tu YK, Huang YN, Tai YL, Weng SL, Chang L, Huang DT, Huang FY, Lin CY. To mix or not to mix? A rapid systematic review of heterologous prime-boost covid-19 vaccination. Expert. Rev. Vaccines. 2021 Oct.;20(10):1211-1220. doi: 10.1080/14760584.2021.1971522. Epub 2021 Sep. 1. PMID: 34415818; PMCID: PMC8425437.
[3]. Fabricius D, Ludwig C, Scholz J, Rode I, Tsamadou C, Jacobsen EM, Winkelmann M, Grempels A, Lotfi R, Janda A, Körper S, Adler G, Debatin KM, Schrezenmeier H, Jahrsdörfer B. mRNA Vaccines Enhance Neutralizing Immunity against SARS-CoV-2 Variants in Convalescent and ChAdOx1-Primed Subjects. Vaccines (Basel). 2021 Aug. 18;9(8):918. doi: 10.3390/vaccines9080918. PMID: 34452043; PMCID: PMC8402682.
[4]. Normark J, Vikström L, Gwon YD, Persson IL, Edin A, Björsell T, Dernstedt A, Christ W, Tevell S, Evander M, Klingström J, Ahlm C, Forsell M. Heterologous ChAdOx1 nCoV-19 and mRNA-1273 Vaccination. N. Engl. J. Med. 2021 Sep. 9;385(11):1049-1051. doi: 10.1056/NEJMc2110716. Epub 2021 Jul. 14. PMID: 34260850; PMCID: PMC8314734.
[5]. Nordström P, Ballin M, Nordström A. Effectiveness of heterologous ChAdOx1 nCoV-19 and mRNA prime-boost vaccination against symptomatic Covid-19 infection in Sweden: A nationwide cohort study. Lancet. Reg. Health. Eur. 2021 Oct. 18:100249. doi: 10.1016/j.lanepe.2021.100249. Epub ahead of print. PMID: 34693387; PMCID: PMC8520818.

วันที่ตอบ : 07 ก.พ. 65 - 14:18:15




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110