ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
สอบถามเรื่องการฉีดวัคซีนในผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกัน

ผู้ป่วยโรค bullous vulgaris รักษาด้วยยา prednisolone และมียาอื่นด้วยดังนี้
- aspirin 81 mg 1 tab
- prednisolone 5 mg 3 tab
- loratadine 10 mg 1 tab
- calcium 120,000 mg 1 tab
- simvastatin 20 mg 1 tab
หากต้องการฉีดวัคซีน COVID-19 ของบริษัท AstraZeneca จะต้องลดยาหรือหยุดยาตัวไหนหรือไม่

[รหัสคำถาม : 242] วันที่รับคำถาม : 14 ก.ค. 64 - 14:59:11 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคเพมฟิกัสชนิดลึก (pemphigus vulgaris) และโรคบุลลัส เพมฟิกอยด์ (bullous pemphigoid) เป็นโรคถุงน้ำที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน (autoimmune bullous skin disease, AIBD) โรคดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน ได้แก่ ยากลุ่ม glucocorticoids รูปแบบรับประทาน (เช่น ยา prednisolone) ซึ่งอาจใช้เป็นยาเดี่ยวหรือให้ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันชนิดอื่น ๆ (เช่น ยา Azathioprine, mycophenolate mofetil, rituximab หรือยา cyclophosphamide) [1] โรคดังกล่าวมักเป็นในผู้สูงอายุ จากปัจจัยเสี่ยงของอายุและการใช้ยากดภูมิคุ้มกันในโรคดังกล่าวจึงทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีระดับรุนแรงมากขึ้นหากมีการติดเชื้อไวรัส SARS CoV-2 (โรค COVID-19) ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 [2],[3]
ในปัจจุบัน (ณ เดือน พ.ค. 2564) วัคซีนที่จะนำมาใช้ภายในประเทศได้แก่วัคซีนของ Sinovac ซี่งเป็นชนิดเชื้อตายและวัคซีนของ Oxford–AstraZeneca ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ ผลิตโดยใช้ไวรัส Adenovirus ของลิงชิมแพนซีซึ่งนำมาดัดแปลงพันธุกรรมทำให้ไม่สามารถแบ่งตัวได้และสอดใส่สารพันธุกรรมของไวรัส SARS CoV-2 นับเป็นวัคซีนเชื้อมีชีวิตที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ [4] สำหรับวัคซีนของ Oxford–AstraZeneca ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ มีคำแนะนำจากกรมควบคุมโรคและสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ระบุว่าไม่ควรฉีดวัคซีนชนิดนี้ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมากหรือกำลังรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากเป็นวัคซีนทำจากเชื้อที่ไวรัสยังที่มีชีวิตแม้จะถูกทำให้อ่อนฤทธิ์หรือไม่แบ่งตัว แต่ยังขาดข้อมูลความปลอดภัยที่เพียงพอ [4],[5] ดังนั้นการฉีดวัคซีนในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว จำเป็นต้องประเมินประโยชน์และความเสี่ยงจากการได้รับวัคซีน เช่น การเกิดการติดเชื้อจากวัคซีน จึงควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยเป็นประจำ เพื่อพิจารณาก่อนฉีดวัคซีน หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับมากกว่าเสี่ยงก็สามารถฉีดวัคซีนได้ [3],[4],[5],[6] จากคำแนะของกรมควบคุมโรคและสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ระบุว่าการฉีดวัคซีนในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวให้พิจารณาฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย (เช่น Sinovac) ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องของผลข้างเคียงจากเชื้อในวัคซีนน้อยกว่าชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (เช่น Oxford–AstraZeneca) ซึ่งเชื้อที่ใช้ผลิตวัคซีนดังกล่าวยังคงมีชีวิตอยู่ [4],[5] อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) และสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England) ระบุว่าวัคซีนของ Oxford–AstraZeneca แม้จะประกอบไปด้วยไวรัส adenovirus ที่ยังมีชีวิต แต่ไวรัสดังกล่าวไม่สามารถที่จะเพิ่มจำนวนตัวเองได้ [6],[7] อีกทั้งมีการศึกษาในอดีตเกี่ยวกับวัคซีนชนิดอื่นที่ใช้วิธีการผลิตแบบใช้ไวรัสเป็นพาหะ (เช่นเดียวกับวัคซีนของ Oxford–AstraZeneca) ในกลุ่มอาสาสมัครที่รวมผู้ป่วยติดเชื้อ HIV เข้าไว้ในการศึกษาด้วย โดยการศึกษาดังกล่าวไม่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงหลังฉีดวัคซีน [8] ดังนั้นอาจพิจารณาฉีดวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะให้แก่ผู้ป่วยที่มีที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันได้ [6],[7]
การฉีดวัคซีนในผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน อาจทำให้การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนลดลงเมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไป ซึ่งอาจส่งผลประสิทธิภาพของวัคซีน [3],[6],[7],[9] จึงต้องประเมินความเสี่ยงของการชะลอการฉีดวัคซีนและความล้มเหลวในการป้องกันโรค COVID-19 จากการตอบสนองต่อวัคซีนที่ลดลง แต่ในทางปฏิบัติอาจพิจารณาฉีดวัคซีนแก่ผู้ป่วยได้ เนื่องจากภาวะดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และยังขาดหลักฐานสนับสนุนที่เพียงพอ [9] อย่างไรก็ตามจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนลดลงเมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไป ผู้ป่วยยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังตนเองจากการติดเชื้อแม้ได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม โดยปฏิบัติตามคำแนะนำมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก เช่น เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ หรือการสวมใส่แมส และหลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชุนแออัด [5]
ดังนั้นผู้ป่วยที่ใช้ยา prednisolone ในขนาดยาน้อยกว่า 20 mg/วัน มีคำแนะนำว่าผู้ป่วยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้โดยไม่ต้องหยุดยาหรือปรับลดขนาดยา [2],[3],[5],[9] ส่วนยารักษาโรคอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่เป็นประจำ เช่น ยา aspirin ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือด แม้ยาดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกบริเวณที่ฉีดวัคซีนมากขึ้น หรืออาจเกิดรอยช้ำหรือบวมบริเวณที่ฉีด แต่มีคำแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานตามปกติและไม่จำเป็นต้องหยุดยาหรือปรับลดขนาดยาก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนเช่นกัน [4],[10]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Yancey KB, Lawley TJ. Immunologically Mediated Skin Diseases. In: Jameson J, Fauci AS, Kasper DL, Hauser SL, Longo DL, Loscalzo J. eds. Harrison's Principles of Internal Medicine, 20e. McGraw-Hill; Accessed May 11, 2021. https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid= 2129§ionid=192013794.
[2]. European Reference Networks. Vaccination advices [Internet]. [cited 2021 May 11]. Available from: https://ern-skin.eu/vaccination-advices/#.
[3]. Centers for Disease Control and Prevention. Interim Clinical Considerations for Use of COVID-19 Vaccines Currently Authorized in the United States [Internet]. [cited 2021 May 11]. Available from: https://www.cdc.gov/vaccines/covid-19/info-by-product/clinical-considerations.html.
[4]. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาดปี 64 ของประเทศไทย [อินเตอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 11 พฤษภาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก https://ddc.moph.go.th/up loads/files/1729520210301021023.pdf.
[5]. สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย และเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย. แนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับผู้ป่วยโรคระบบประสาท [อินเตอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 11 พฤษภาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Covid_Health/Attach/25640316092717AM_Final%2015%20March%20COVID%20vaccine%20and%20
neurological%20disease%20with%20reference.pdf?fbclid=IwAR1iWNisUrwl2KiGWwvLxfdkPSgjNIwzxF36bKg8_BR1Vf5v8OWsWaxsGwY.
[6]. World Health Organization. World Health Organization : Interim recommendations for use of the ChAdOx1-S [recombinant] vaccine against COVID-19 (AstraZeneca COVID-19 vaccine AZD1222, SII Covishield, SK Bioscience) [Internet]. [cited 2021 May 11]. Available from: https://www.who.int /publications/i/item/WHO-2019-nCoV-vaccines-SAGE_recommendation-AZD1222-2021.1.
[7]. Public Health England. Coronavirus (COVID-19) vaccination information for public health professionals [Internet]. [cited 2021 May 11]. Available from: https://www.gov.uk /government/publications/covid-19-the-green-book-chapter-14a.
[8]. Kennedy SB, Bolay F, Kieh M, Grandits G, Badio M, Ballou R, et al. Phase 2 placebo-controlled trial of two vaccines to prevent ebola in liberia. N Engl J Med. 2017;377(15):1438–47. doi:10.1056/NEJMoa1614067.
[9]. American College of Rheumatology. COVID-19 Vaccine Clinical Guidance Summary for Patients with Rheumatic and Musculoskeletal Diseases [Internet]. [cited 2021 May 11]. Available from: https://www.rheumatology.org/Portals/0/Files/COVID-19-Vaccine-Clinical-Guidance-Rheumatic-Diseases-Summary.pdf.
[10]. European Society of Cardiology. COVID-19 vaccine information for heart patients. [Internet]. [cited 2021 May 11]. Available from: https://www.escardio.org/static-file/Escardio/Education-General/Topic%20pages/Covid-19/Documents/Vaccine-Q&A-12-april.pdf.

วันที่ตอบ : 14 ก.ค. 64 - 19:07:57




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110