ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
G6PD กับ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

1.คนมีโรคประจำตัว G6PD ฉีด วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ไหมครับ
2.คนมีโรคประจำตัว G6PD ได้รับเชื้อโควิดด19 สามารถใช้ยักรักษาเหมือนคนปาติได้ไหม

[รหัสคำถาม : 243] วันที่รับคำถาม : 15 ก.ค. 64 - 07:52:57 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคพร่องเอนไซม์ G6PD (Glucose-6-phosphate dehydrogenase deficiency) เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมในการสร้างเอนไซม์ G6PD ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยป้องกันเม็ดเลือดแดงจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ (oxidants) ซึ่งทำให้เกิดอาการเม็ดเลือดแดงแตกได้ง่าย (hemolysis) โดยจะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัยภายนอกมากระตุ้น เช่น การติดเชื้อต่างๆ (รวมถึงเชื้อไวรัสโคโรน่า (SARS-CoV-2)) การได้รับยาบางชนิด การสัมผัสสารเคมี และการรับประทานอาหารบางอย่าง เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่มีโรคพร่องเอนไซม์ G6PD ควรตระหนักและเห็นความสำคัญในการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก[1-[2]
ผู้ป่วยโรคพร่องเอนไซม์ G6PD หากป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) และจำเป็นต้องรักษาด้วยยา ยาที่ใช้ในโรค COVID-19 ตามแนวทางเวชปฏิบัติการวินิิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลของประเทศไทย และแนวทางการรักษาและการจัดการผู้ป่วยโควิด 19 ของต่างประเทศพบว่า ยาที่มีแนวโน้มไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคพร่องเอนไซม์ G6PD คือ ยาhydroxychloroquine เนื่องจากอาจทำให้เกิดการแตกของเม็ดเลือดได้[2-4] ดังที่พบในรายงานผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโควิด 19 และมีโรคพร่อง G6PD การได้รับรักษาด้วย hydroxychloroquine มีอาการของเม็ดเลือดแดงแตก ซึ่งอาการแย่ลงหรือยาวนานขึ้นอาจเกิดจากการได้รับยาร่วมกับภาวะของโรค[5] แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนถือว่ายายังปลอดภัยเมื่อใช้ในขนาดมาตรฐาน[2]
ผู้ป่วยที่มีโรคพร่องเอนไซม์ G6PD หากต้องการฉีดวัคซีน AstraZeneca ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant viral vector vaccine) สามารถใช้ได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป โดยไม่เป็นผู้ที่แพ้ตัวยาหรือส่วนประกอบตัวใดตัวหนึ่งของวัคซีนนี้ ข้อควรระวังในการใช้วัคซีน ได้แก่ ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ผู้ที่มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือดหรือผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีข้อห้ามใช้หรือข้อควรระวังในผู้ป่วยโรคพร่องเอนไซม์ G6PD [6]
โดยสรุป ผู้ป่วยที่มีโรคพร่องเอนไซม์ G6PD สามารถรักษาด้วยยาตามมาตรฐานการรักษาโรคโควิด 19 ได้เหมือนคนทั่วไป แต่ควรระมัดระวังการใช้ยา hydroxychloroquine เนื่องจากอาจทำให้เพิ่มความรุนแรงของโรคได้ ผู้ป่วยที่มีโรคพร่องเอนไซม์ G6PD สามารถการฉีดวัคซีน AstraZeneca ได้

เอกสารอ้างอิง
[1]. สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย. โรคพร่องเอนไซม์ G6PD [อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก http://tsh.or.th/Knowledge/Details/43
[2]. Asnani A, Neilan TG, Tripathy D. Diagnosis and management of glucose-6-phosphate dehydrogenase (G6PD) deficiency. In: Bertil G. Up-to-Date [database on the Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2020 [cited 24 Jun 2021]. Available from: http://www. uptodate.com
[3]. กรมการแพทย์. แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข [อินเตอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Covid_Health/Attach/25640721115923AM_CPG_COVID_v.16.4.n.pdf
[4]. Infectious Diseases Society of America. Guidelines on the Treatment and Management of Patients with COVID-19 [Internet]. 2021 [cited 24 July 2021]. Available from: https://www.idsociety.org/practice-guideline/covid-19-guideline-treatment-and-management/
[5]. Beauverd Y, Adam Y, Assouline B, Samii K. COVID-19 infection and treatment with hydroxychloroquine cause severe haemolysis crisis in a patient with glucose-6-phosphate dehydrogenase deficiency. Eur J Haematol. 2020;105(3):357-359.
[6]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. COVID-19 Vaccine AstraZeneca (เอกสารกำกับยาภาษาไทย) [อินเตอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564] : https://www.fda.moph.go.th/Pages/Package_Leaflet_TH.html

วันที่ตอบ : 30 ส.ค. 64 - 11:16:26




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110