ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Covid

Long COVID คืออะไร มีอาการอย่างไรบ้างและสามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร

[รหัสคำถาม : 245] วันที่รับคำถาม : 16 ก.ค. 64 - 09:13:27 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Post-COVID Conditions คือปัญหาสุขภาพทั้งที่เกิดขึ้นใหม่ กลับเป็นซ้ำหรือแบบต่อเนื่อง สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วง 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังจากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงทุกระดับรวมถึงคนที่ไม่มีอาการ อาจเป็นที่รู้จักในชื่อ long COVID, long-haul COVID, post-acute COVID-19, long-term effects of COVID หรือ chronic COVID
ประเภทของ Post-COVID Conditions ได้แก่
1. Multiorgan Effects of COVID-19 เป็นภาวะที่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีความผิดปกติในหลายอวัยวะ จะเกิดกับระบบต่างๆในร่างกาย สามารถทำให้เกิดอาการระยะยาว และคงอยู่ได้แม้ว่าอาการเจ็บป่วยจะหายไป เช่น พังผืดในปอด กล้ามเนื้อหัวใจตาย
2. Effects of COVID-19 Illness or Hospitalization เป็นผลกระทบระยะยาวจากการนอนโรงพยาบาลและการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงการตีบของหลอดลมเนื่องจากการใส่ท่อช่วยหายใจเป็นเวลานาน และยังครอบคลุมถึง post-intensive care syndrome (PICS)
3. New or Ongoing Symptoms เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการใหม่ หรืออาการเดิมไม่หายไป สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่มีความความรุนแรงของการติดเชื้อทุกระดับ รวมถึงผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ
อาการของ Post-COVID Conditions ที่สามารถพบได้หลากหลาย ได้แก่ หายใจลำบาก เหนื่อยล้า Post-exertional malaise and/or poor endurance, “Brain fog” หรือ ความจำลดลง, ไอ, เจ็บหน้าอก, ปวดหัว, ใจสั่น และ/หรือ หัวใจเต้นเร็ว, ปวดข้อ, ปวดกล้ามเนื้อ, Paresthesia, ปวดท้อง, ท้องเสีย, นอนไม่หลับและภาวะเกี่ยวกับการนอนอื่นๆ, ไข้, วิงเวียนศีรษะ, ความคล่องตัวในการดำเนินชีวิตประจำวันลดลง, อาการปวด, ผื่น เช่น urticarial, อารมณ์แปรปรวน, การรับกลิ่นหรือรสผิดปกติ, รอบประจำเดือนผิดปกติ[1],[2]
จากการศึกษาแบบ systematic review และ meta-analysis แสดงให้เห็นว่าร้อยละ 80 (95% CI 65–92) ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-19 จะมีอาการอย่างน้อย 1 อาการ ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์หลังจากการติดเชื้อ ซึ่งพบว่า อาการเหนื่อยล้า เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดร้อยละ 58 (95% CI 42–73) แม้จะผ่านไป 100 วันนับจากมีอาการของโรคโควิด-19 ครั้งแรก รองลงมาได้แก่ อาการปวดศีรษะร้อยละ 44 (95% CI 13–78) attention disorder ร้อยละ 27 (95% CI 19–36) ผมร่วงร้อยละ 25 (95% CI 17–34) และหายใจลำบากร้อยละ 24 (95% CI 14–36)[3]
มีรายงานอาการเหนื่อยล้าด้วยตัวเองของผู้ป่วยหลังจากกลับบ้านพบว่าอาการคงอยู่ได้นานถึง 6 เดือน ผู้ป่วย post-covid-19 มีความเสี่ยงจะเกิดอาการเหนื่อยล้าเพิ่มขึ้น 3.7 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มคนสุขภาพดี ความชุกของอาการเหนื่อยล้าที่รายงานด้วยตัวเองมีร้อยละ 42 และมีรายงานมากในกลุ่มผู้ป่วยหญิง[4] มีการศึกษาการให้วิตามินซีทางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อยล้าหลังติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่าฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ฟื้นฟูเนื้อเยื่อบุผนังหลอดเลือด และปรับภูมิคุ้มกันของวิตามินซีที่ให้ทางหลอดเลือดดำในขนาดสูงอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการรักษาอาการเหนื่อยล้า[5]
เนื่องจากภาวะ long COVID ทำให้เกิดอาการได้หลากหลาย ดังนั้นการรักษาจึงควรจัดให้เหมาะสมเป็นรายบุคคล ควรรักษาและควบคุมโรคร่วมที่เป็นอยู่ เช่น เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจสอบตนเองที่บ้าน เช่น การใช้เครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด เครื่องวัดความดันโลหิต และเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ รักษาสุขอนามัยในการนอนหลับ จำกัดการใช้แอลกอฮอล์และเลิกสูบบุหรี่ พิจารณาใช้ยาแก้ปวดตามความจำเป็น และควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม[6]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Center for Disease Control and Prevention (CDC). Post-COVID Conditions (Online). 2021. Available from https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/long-term-effects/index.html [14 November 2021].
[2]. Center for Disease Control and Prevention (CDC). Post-COVID Conditions: Information for Healthcare Providers (Online). 2021. Available from https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/hcp/clinical-care/post-covid-conditions.html [14 November 2021].
[3]. Lopez-Leon S, Wegman-Ostrosky T, Perelman C, Sepulveda R, Rebolledo PA, Cuapio A, Villapol S. More than 50 long-term effects of COVID-19: a systematic review and meta-analysis. Sci. Rep. 2021 Aug 9;11(1):16144. doi: 10.1038/s41598-021-95565-8. PMID: 34373540; PMCID: PMC8352980.
[4]. Rao S, Benzouak T, Gunpat S, Burns RJ, Tahir TA, Jolles S, Kisely S. Fatigue Symptoms Associated With COVID-19 in Convalescent or Recovered COVID-19 Patients; a Systematic Review and Meta-Analysis. Ann Behav. Med. 2021 Oct 19:kaab081. doi: 10.1093/abm/kaab081. Epub ahead of print. PMID: 34665858; PMCID: PMC8574547.
[5]. Vollbracht C, Kraft K. Feasibility of Vitamin C in the Treatment of Post Viral Fatigue with Focus on Long COVID, Based on a Systematic Review of IV Vitamin C on Fatigue. Nutrients. 2021 Mar 31;13(4):1154. doi: 10.3390/nu13041154. PMID: 33807280; PMCID: PMC8066596.
[6]. Chippa V, Aleem A, Anjum F. Post Acute Coronavirus (COVID-19) Syndrome. 2021 Oct 1. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2021 Jan.–. PMID: 34033370.


วันที่ตอบ : 07 ก.พ. 65 - 11:03:29




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110