ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การใช้ favipiravir ในคนไข้ติดโควิดและเป็นโรคไต

Favipiravir ควรปรับขนาดยาในการรักษาคนไข้ที่ติดเชื้อโควิดและมี renal impairment ไหม ? ถ้าปรับ จะให้ยังไงดีครับ ?

[รหัสคำถาม : 246] วันที่รับคำถาม : 16 ก.ค. 64 - 09:22:53 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยา favipiravir เป็นต้านไวรัส มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในกระบวนการสร้างอาร์เอ็นเอ (RNA replication) [1] ยานี้ขึ้นทะเบียนยาในประเทศญี่ปุ่น มีข้อบ่งใช้ที่ได้รับการอนุมัติคือ รักษาโรคไข้หวัดใหญ่[2] ยาถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย และไทย[1] อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบจากยา เช่น เจ็บหน้าอก ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง จำนวนนิวโทรฟิลลดลง การเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ตับ การเพิ่มขึ้นของระดับ triglycerides ท้องเสีย เป็นต้น[1,3]
ตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของประเทศไทย แนะนำให้เริ่มยา favipiravir ในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าเกณฑ์ดังนี้ 1) มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ 2) ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดบวมเล็กน้อย 3) มีปอดบวมที่มี hypoxia หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจน SpO2 ≥3% ของค่าที่วัดได้ครั้งแรกขณะออกแรง หรือภาพรังสีทรวงอกมี progression ของ pulmonary infiltrates โดยขนาดยาที่ใช้ในการรักษาคือ วันแรก รับประทาน 1,800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง จากนั้นให้ยาในขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการทำงานของตับบกพร่องในระดับปานกลางถึงรุนแรง ควรปรับลดขนาดยาเป็น 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ในวันแรก จากนั้นให้ยาในขนาด 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ส่วนผู้ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา[4]
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก Lexicomp เกี่ยวกับการใช้ยา favipiravir ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องมีรายละเอียดดังนี้ ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา แต่ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องระดับรุนแรง ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้[3]
จากข้อมูลจากการศึกษาการใช้ favipiravir ในผู้ป่วยโรคไต มีรายงานผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ได้รับการรักษาด้วยยา favipiravir ขนาดรับประทาน 3600 mg ในวันแรก จากนั้นให้ยาในขนาด 1600 mg โดยแบ่งให้วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 14 วัน พบว่า ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น[5] ส่วนอีกหนึ่งการศึกษาที่รายงานการตรวจวัดระดับยาในเลือดของผู้ป่วยโรคไตที่ต้องฟอกเลือดซึ่งติดเชื้อโควิด-19 และได้รับการรักษาด้วยยา favipiravir พบว่าความเข้มข้นของยาในเลือดผู้ป่วยใกล้เคียงกับที่พบในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการฟอกเลือด[6]
จากการศึกษาประสิทธิภาพยา favipiravir ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง จำนวน 150 ราย (มีผู้ป่วยที่มีค่า eGFR 30–50 mL/min 1 ราย และไม่มีผู้ป่วยที่มีค่า eGFR < 30 mL/min) พบว่า ระดับของเมแทบอไลต์ของยา (M1) ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องระดับปานกลาง เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังไม่สามารถสรุปผลด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องหรือต้องบําบัดทดแทนไต[2]
โดยสรุป ข้อมูลการใช้ยา favipiravir ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องยังมีน้อย ตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของประเทศไทย แนะนำว่า ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา ส่วนข้อมูลจาก Lexicomp แนะนำว่า ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา แต่ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องระดับรุนแรง ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้

เอกสารอ้างอิง
[1.] Joshi S, Parkar J, Ansari A, et al. Role of favipiravir in the treatment of COVID-19. Int J Infect Dis. 2021;102:501-508. doi:10.1016/ j.ijid.2020.10.069.
[2.] Marra, F., Smolders, E.J., El-Sherif, O. et al. Recommendations for Dosing of Repurposed COVID-19 Medications in Patients with Renal and Hepatic Impairment. Drugs R D 21, 9–27 (2021). https://doi.org/10.1007/s40268-020-00333-0.
[3.] Favipiravir. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 28 June 2021; cited 2 September 2021]. Available from: http:// online.lexi.com.
[4.] กรมการแพทย์. แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่4 สิงหาคม พ.ศ. 2564. [Internet]. [cited 2021 September 2]. Available from:https://covid19. dms. go.th/backend/Content/Content_File/ Bandner_(Big)/Attach/25640820144939PM_ 25640804 171629PM_CPG_COVID_ v.17_n_ 20210804.pdf.
[5.] Koshi E, Saito S, Okazaki M, et al. Efficacy of favipiravir for an end stage renal disease patient on maintenance hemodialysis infected with novel coronavirus disease 2019. CEN Case Rep. 2021;10(1):126-131. doi:10.1007/s13730-020-00534-1.
[6.] Hirai D, Yamashita D, Seta K. Favipiravir for COVID-19 in a Patient on Hemodialysis. Am J Kidney Dis. 2021;77(1):153-154. doi:10.1053/ j.ajkd.2020.09.007.


วันที่ตอบ : 18 ต.ค. 64 - 10:06:09




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110