ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
กระชายขาวกับฟ้าทะลายโจรที่ใช้ในโรคcovid19

อยากทราบว่ากระชายขาวและฟ้าทะลายโจรสามารถใช้ป้องกัน หรือรักษาโรคโควิดได้จริงมั้ย และต้องกินอย่างไรคะ

[รหัสคำถาม : 249] วันที่รับคำถาม : 17 ก.ค. 64 - 19:40:33 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ฟ้าทะลายโจรมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall. Ex Nees มีสารสำคัญในกลุ่ม Lactone คือ Andrographolide, Neo-Andrographolide, deoxy-andrographolide และ Di-de-hydro-andrographolide[1] โดยในหลอดทดลอง มีฤทธิ์ยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัส การจำลองสารพันธุกรรม การสังเคราะห์โปรตีนของไวรัสและการปลดปล่อยไวรัส (Viral release) รวมทั้งไวรัส SARS-CoV-2[1] ในปัจจุบันฟ้าทะลายโจรถูกบรรจุเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้บรรเทาอาการท้องเสียที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ โดยรับประทานยาเม็ดหรือยาแคปซูลผงฟ้าทะลายโจร (มี andrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 โดยน้ำหนัก) ครั้งละ 500 มิลลิกรัม ถึง 2 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน และรักษาอาการทางระบบทางเดินหายใจ (เช่น ไอ เจ็บคอ) โดยรับประทานยาเม็ดหรือยาแคปซูลผงฟ้าทะลายโจร (มี andrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 โดยน้ำหนัก) ครั้งละ 1.5 กรัม ถึง 3 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน[2]
บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ได้ระบุเงื่อนไขการใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรและยาผงฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ดังนี้ 1) ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง 2) ใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีการควบคุมปริมาณ andrographolide 3) รับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณ andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง 4) ใช้ได้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม 5) มีการติดตามประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยหลังการใช้อย่างเป็นระบบ[3]
ส่วนแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุง วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564 จะพิจารณาใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโควิด-19 ที่รุนแรง และไม่มีข้อห้ามใช้ฟ้าทะลายโจร แต่ไม่แนะนําให้ใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกันโควิด-19 ขนาดยาสำหรับรักษาโควิด-19 ที่แนะนําในผู้ใหญ่คือ ใช้ยาฟ้าทะลายโจรชนิดสารสกัด (extract) หรือผงบด (crude drug) ซึ่งระบุปริมาณของสาร andrographolide เป็นมิลลิกรัมต่อแคปซูล หรือเป็นร้อยละของปริมาณยา คํานวณให้ได้สาร andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งให้ 3 ครั้ง รับประทานติดต่อกัน 5 วัน (ถ้าจำนวนแคปซูลต่อครั้งมาก อาจแบ่งให้ 4 ครั้งต่อวัน) โดยเริ่มยาเร็วที่สุดหลังการติดโควิด-19 แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะแนะนําการใช้ในเด็ก เพื่อรักษาโควิด-19 [4]
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แนะนำเกี่ยวกับการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ติดเชื้อโควิด-19 ดังนี้ 1) กรณีไม่มีอาการ ให้ใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณ andrographolide 20 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน และเย็น (รวม 60 มิลลิกรัมต่อวัน) ติดต่อกันนาน 5 วัน 2) กรณีอาการไม่รุนแรงและไม่มีอาการปอดบวม หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรครุนแรง ให้ใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณ andrographolide ครั้งละ 60 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน และเย็น (รวม 180 มิลลิกรัมต่อวัน) ติดต่อกันนาน 5 วัน[5]
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ฟ้าทะลายโจร เช่น ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ใจสั่น เบื่ออาหาร เวียนศีรษะ (พบมากขึ้นเมื่อใช้ยาขนาดสูงหรือระยะเวลานาน) และอาจเกิดลมพิษหรือ anaphylaxis (พบน้อย) ฟ้าทะลายโจรมีข้อห้ามใช้ ได้แก่ 1) ผู้มีประวัติแพ้ยาฟ้าทะลายโจร 2) หญิงตั้งครรภ์/อาจจะตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร เพราะอาจมีผลต่อการหดตัวของมดลูกและทารผิดปกติ นอกจากนี้ควรระวังการใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันหรือยาที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่น warfarin, aspirin และ clopidogrel) เพราะฟ้าทะลายโจรอาจเสริมฤทธิ์ของยาดังกล่าว ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้น[4]
สำหรับการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับประสิทธิภาพของฟ้าทะลายโจรในการรักษา โรคติดเชื้อโควิด-19 เช่น
1) การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลและความปลอดภัยสารสกัดฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงน้อย อายุ 18-60 ปี ซึ่งมีอาการแสดงของระบบทางเดินหายใจเล็กน้อย เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ เป็นต้น มีหายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบากและไม่มีภาวะปอดอักเสบร่วมด้วย ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตามมาตรฐานร่วมกับฟ้าทะลายโจรรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้ ฟ้าทะลายโจรผงอัดแคปซูล 60 และ 180 มิลลิกรัมต่อวัน ฟ้าทะลายโจรสกัด 60 และ 180 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานนานติดต่อกัน 5 วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานเพียงอย่างเดียว พบว่า กลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรทุกราย เริ่มมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันแรกของการใช้ยาและไม่พบอาการแสดงใด ๆ ในวันที่ 7 ของการศึกษา ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีเพียงร้อยละ 53.8 ที่ไม่มีอาการแสดงในวันที่ 7 นอกจากนี้ กลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรมีระยะเวลาของอาการสั้นกว่าและสามารถลดน้ำมูก ลดความรุนแรงและความถี่ในการไอ ลดปัญหาการรับกลิ่นได้ดีกว่ากลุ่มควบคุม (p < 0.05 ) โดยฟ้าทะลายโจรขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน ให้ผลลดความถี่ในการไอได้ดีกว่าขนาด 60 มิลลิกรัมต่อวัน (p < 0.05) สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ที่พบ คือ ท้องเสียและปวดแสบกระเพาะอาหาร[6]
2) จากการเก็บข้อมูลในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงน้อย จำนวน 6 ราย อายุเฉลี่ย 31.0 ± 11.8 ปี ได้รับการรักษาตามมาตรฐานร่วมกับการได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร (andrographolide 20 มิลลิกรัมต่อแคปซูล) ครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง (andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน) นาน 5 วัน พบว่า ความรุนแรงและความถี่ของอาการไอ ความรุนแรงของอาการเจ็บคอ ปริมาณเสมหะ และความรุนแรงของความปวดศีรษะลดลงอย่างนัยสำคัญทางสถิติในวันที่ 3 และ 5 (p < 0.05) ด้านความปลอดภัย พบว่า มี 1 รายที่มีค่า Alanine Aminotransferase (ALT) เพิ่มสูงเป็น 1.7 เท่าของค่าปกติในวันที่ 5 และอีก 1 ราย มีค่า Aspartate aminotransferase (AST) และ ALT มีค่าสูงขึ้นแต่ไม่เกินค่าปกติและกลับสู่ปกติหลังจากสิ้นสุดการรักษา[7]
3) ข้อมูลจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงน้อย ซึ่งเปรียบเทียบกลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจร (309 ราย) กับกลุ่มที่ไม่ได้รับฟ้าทะลายโจร (526 ราย) พบว่า กลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจร จำนวน 306 ราย มีอาการดีขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 และมีเพียง 3 ราย ที่เกิดภาวะปอดอักเสบ (ร้อยละ 0.97) ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับฟ้าทะลายโจรมี 77 ราย ที่เกิดภาวะปอดอักเสบ (ร้อยละ 14.64) โดยมีค่า relative risk (RR) เท่ากับ 0.057 และมีค่า number needed to treat (NNT) เท่ากับ 7.32 กล่าวคือ การใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด ทุก ๆ 8 ราย จะสามารถลดการเกิดภาวะปอดอักเสบได้ 1 ราย[7]
กระชายขาวมีชื่อวิทยาศาสตร์ Boesenbergia rotunda (Linn.) Mansf. ในน้ำมันระเหยกระชายขาวมีสารสำคัญคือ 1,8 cineol, boesenbergin A, dl-pinostrobin, camphor, cardamonin, panduratin[1]
จากการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้เซลล์เยื่อบุไตของลิงเขียวแอฟริกัน (Vero E6) และเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจมนุษย์ (Calu-3) พบว่า สารสกัดกระชายขาวและสารประกอบ panduratin A มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 โดยใช้ยา hydroxychloroquine เป็นยาอ้างอิง (Reference drug) ดังนี้
- ยา hydroxychloroquine มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ก่อนเข้าสู่เซลล์ Vero E6 (Pre-entry: ค่า IC50 5.08 µM) และหลังจากเซลล์ Vero E6 ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 (Post-entry: ค่า IC50 8.07 µM)
- ฤทธิ์การยับยั้งเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ก่อนเข้าสู่เซลล์ Vero E6 ของสารสกัดจากกระชายขาวและสารประกอบ panduratin A มีค่า IC50 เท่ากับ 20.42 μg/mL และ 5.30 μM ตามลำดับ ส่วนฤทธิ์การยับยั้งหลังจากเซลล์ Vero E6 ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ของสารสกัดจากกระชายขาวและสารประกอบ panduratin A มีค่า IC50 เท่ากับ 3.62 μg/mL และ 0.81 μM ตามลำดับ[8]
เมื่อเปรียบเทียบสารประกอบ panduratin A กับยา remdesivir ด้วยวิธี high-content imaging technique และ plaque reduction assay พบว่า ในเซลล์ Vero E6 สารประกอบ panduratin A จะมีค่า IC50 เท่ากับ 0.81 μM และ 0.0078 μM ตามลำดับ ส่วนยา remdesivir จะมีค่า IC50 เท่ากับ 2.71 μM และ 2.65 μM ตามลำดับ แต่เมื่อเปรียบเทียบในเซลล์ Calu-3 พบว่า สารประกอบ panduratin A จะมีค่า IC50 เท่ากับ 2.04 μM และ 0.53 μM ตามลำดับ ส่วนยา remdesivir จะมีค่า IC50 เท่ากับ 0.043 μM และ 0.086 μM ตามลำดับ[8]
จากการศึกษาในหลอดทดลองข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากกระชายขาวและสารประกอบ panduratin A มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ SARS-CoV-2 ทั้งก่อนเชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์และหลังจากเซลล์ติดเชื้อไวรัส โดยสารประกอบ panduratin A มีฤทธิ์แรงกว่ายา hydroxychloroquine นอกจากนี้สารประกอบ panduratin A มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ใกล้เคียงกับยา remdesivir อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้เป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองเท่านั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในทางคลินิกต่อไป[8]
โดยสรุป การใช้ฟ้าทะลายโจร เพื่อรักษาการติดเชื้อโควิด-19 ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ในผู้ใหญ่แนะนําให้รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณ andrographolide 60 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน และเย็น (andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน) เป็นเวลาติดต่อกันนาน 5 วัน แต่ไม่แนะนําให้ใช้ฟ้าทะลายโจร เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนกระชายขาวถึงแม้การศึกษาในหลอดทดลองจะมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อไป

เอกสารอ้างอิง
[1]. ศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง. สมุนไพรไทยกับงานวิจัยเกี่ยวกับการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 26 ตุลาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://mpic.mfu.ac.th/fileadmin/mpic_file/news/2564/05/Review_สมุนไพร_ฉบับย่อ_Finaly_Edit.pdf.
[2]. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/E/072/57.PDF.
[3]. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 26 ตุลาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/120/T_0046.PDF.
[4]. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุง วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564 [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 26 ตุลาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Covid_Health/Attach/25640909181401PM_CPG_COVID_v.18.2_ns_20210909%20-.pdf.
[5]. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. คำแนะนำการใช้ฟ้าทะลายโจร สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 26 ตุลาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://thaicam.go.th/wp-content/uploads/2021/07คำแนะนำการใช้ฟ้าทะลายโจร-บุคลากรทางการแพทย์_24042564_compressed1-1_compressed.pdf.
[6]. Rattanaraksa D, Khempetch R, Poolwiwatchaikool U, et al. The Efficacy and Safety of Andrographis paniculataExtractfor Treatment of COVID-19 Patients with Mild Symptoms,Nakhonpathom Hospital [internet]. [cited 29 Oct 2021]. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/reg45/article/view/252146/171327.
[7]. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. รายงานสังเขปผลการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 29 ตุลาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://he01.tci-thaijo.org/index.php/JTTAM/article/view/249140/168781.
[8]. Kanjanasirirat P, Suksatu A, Manopwisedjaroen S, et al. High-content screening of Thai medicinal plants reveals Boesenbergia rotunda extract and its component Panduratin A as anti-SARS-CoV-2 agents. Sci Rep. 2020;10(1):19963. Published 2020 Nov 17.
วันที่ตอบ : 15 พ.ย. 64 - 16:15:53




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110