ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
TRANEXAMIC ACID

มีผู้มาขอซื้อTRANEXAMIC ACID ที่ร้านขายยาบอกว่าจะเอาไปกินรักษาฝ้า...อยากถามอาจารย์หรือผู้รู้ทุกท่านว่าใช้ได้จริงหรือเปล่า มีการออกฤทธิ์อย่างไร มีอันตรายอย่างไรบ้าง เพราะเท่าทราบ TRANEXAMIC ACID ช่วยในการแข็งตัวของเลือดนะครับ

[รหัสคำถาม : 255] วันที่รับคำถาม : 04 ส.ค. 64 - 12:15:43 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Tranexamic acid มีข้อบ่งใช้ที่ได้รับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ให้ใช้สำหรับภาวะระดูมากผิดปกติ (menorrhagia) และใช้ป้องกันระยะสั้นในโรคเลือดออกผิดปกติทางพันธุกรรม (hemophilia) [1] ข้อบ่งใช้ตามบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย คือ ใช้ในทางทันตกรรมเฉพาะกรณีห้ามเลือดด้วยวิธีปกติแล้วไม่ได้ผล ใช้ก่อนทำหัตถการในช่องปากในผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเลือดออกแล้วหยุดยาก และใช้สำหรับภาวะระดูมากผิดปกติ (menorrhagia)[2] ยานี้ไม่มีข้อบ่งใช้เพื่อรักษาฝ้า
Tranexamic acid ถูกเอามารักษาฝ้าเนื่องจากมีกลไกการออกฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับ Keratinocyte– Plasminogen pathway สามารถยับยั้งการสร้างเมลานินได้ด้วยหลายกลไก ประกอบด้วย 1) ลดการกระตุ้น tyrosinase ที่เปลี่ยน plasminogen เป็น melanocyte 2) ลดการสร้าง prohormone covertase (PC2) ซึ่งเกี่ยวข้องกับ proopiomelanocortin system (PMOC) ในการสร้าง α-melanocyte–stimulating hormone (α-MSH) ทำให้เมื่อมีการกระตุ้นด้วยแสง UV จะไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็น α-MSH ได้ (α-MSH จะถูกเปลี่ยนเป็น melanocyte ต่อไป) ส่งผลให้ผิวยังคงสว่างอยู่ 3) ลดการกระตุ้นจาก prostaglandin E2 (PGE2), leukotriene, and fibroblast growth factor (FGF) ในกระบวนการสร้างเมลานิน[3]
ไม่มีแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการรักษาฝ้าด้วยยา tranexamic acid ชนิดรับประทาน แต่มีการศึกษาประสิทธิภาพรักษาฝ้า การศึกษา Meta-analysis ในปี 2021 พบว่า หลังการใช้ยา Tranexamic acid คะแนน Melasma Area Severity Index (MASI)/modified MASI (mMASI) ลดลงมากกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อเทียบระหว่างมี/ไม่มีการใช้ Tranexamic acid ร่วมกับการรักษาปกติ คะแนน MASI/mMASI ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่มีการใช้ Tranexamic acid แต่การลดลงของ Melanin index (MI) ที่สัปดาห์ที่ 12 ไม่แตกต่างกัน ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยของรูปแบบยารับประทาน ได้แก่ อาการแสบร้อนยอดอก คลื่นไส้ และปวดท้อง[4] อย่างไรก็ตามก็มีรายงานพบการอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง Deep vein thrombosis 0.0018% (1 ใน 561 ราย) หลังจากใช้ยาเพื่อรักษาฝ้า พบว่าผู้ป่วยมีภาวะ protein S deficiency[5] ยานี้มีข้อห้ามใช้ใน ผู้ที่กำลังเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน มีประวัติหลอดเลือดอุดตัน และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของหลอดเลือดอุดตัน (เช่น กำลังใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด และผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์)[6]
การใช้ยา Tranexamic acid รูปแบบรับประทาน เพื่อรักษาฝ้ายังคงมีการศึกษาที่น้อย ยังสรุปผลไม่ได้ชัดเจน[2] นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังผลอันไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากยาที่อาจทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตัน ปัจจุบันยังไม่พบแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับยา tranexamic acid ชนิดรับประทานในข้อบ่งใช้รักษาฝ้า


เอกสารอ้างอิง
[1]. Chauncey JM, Wieters JS. Tranexamic Acid. [Updated 2021 Mar 2]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2021 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK532909/.
[2]. National Drug Information. Tranexamic acid [Internet]. [cited 2021 June 28]. Available from: http://ndi.fda.moph.go.th/drug_national_detail/index/4612.
[3]. Harini R, Pandya, Amit G, et al. Oral Tranexamic Acid for the Treatment of Melasma: A Review, Dermatologic Surgery 2018;44-6:814-825.
[4]. Feng X, Su H, Xie J. Efficacy and safety of tranexamic acid in the treatment of adult melasma: An updated meta-analysis of randomized controlled trials. J Clin Pharm Ther. 2021 May 7.
[5]. Sundström A, Seaman H, Kieler H, et al. The risk of venous thromboembolism associated with the use of tranexamic acid and other drugs used to treat menorrhagia: a case-control study using the General Practice Research Database. BJOG. 2009 Jan;116(1):91-7.
[6]. Asnani A, Neilan TG, Tripathy D, Crosbie MS. Tranexamic acid: Drug information. Up-to-Date [database on the Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2020 [cited 2021 June 28]. Available from: http://www. uptodate.com.
วันที่ตอบ : 04 ส.ค. 64 - 13:55:34




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110