ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
อาการไม่พึงประสงค์ของยา doxazosin

ผู้ป่วยอายุ 70 ปี เป็น BPH ได้รับยา doxazosin เป็นครั้งแรก หลังรับประทานมีอาการปวดบริเวณโหนกแก้มและใบหน้า วันที่ 2 ลองรับประทานยาอีก ก็ยังมีอาการปวดอีก วันถัดไปเลยหยุดยาปรากฏว่าอาการดีขึ้น อยากทราบอาการดังกล่าวเกิดจากยา doxazosin หรือไม่ (ผู้ป่วยได้รับยา Finasteride แต่ไม่ได้รับประทาน) และหากต้องการเปลี่ยนการรักษา ต้องใช้ยาใดแทน doxazosin เพื่อไม่ให้เกิดอาการดั่งกว่าว

[รหัสคำถาม : 258] วันที่รับคำถาม : 12 ส.ค. 64 - 15:21:27 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคต่อมลูกหมากโต เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเซลล์เนื้อเยื่อบุผิวต่อม กล้ามเนื้อเรียบ และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันภายในต่อมลูกหมาก พบได้ในชายสูงวัย อายุตั้งแต่ 40-45 ปีขึ้นไป ซึ่งอุบัติการณ์การเกิดโรคสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการหรือมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแบบเร่งรีบ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะไหลช้าลง ต้องเบ่งช่วยเวลาถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะไหล ๆ หยุด ๆ ต้องรอนานกว่าจะปัสสาวะได้ และถ่ายปัสสาวะเสร็จแล้วรู้สึกไม่สุด หากไม่รักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน เกิดภาวะอุดกั้นของทางออกของกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น[1]
ยาสำหรับรักษาโรคต่อมลูกหมากโตมีหลายกลุ่มดังนี้ 1) กลุ่ม Alpha-adrenergic receptor blockers เช่น alfuzosin, doxazosin, tamsulosin 2) กลุ่ม 5-Alpha Reductase inhibitor เช่น finasteride, dutasteride 3) กลุ่ม Phosphodiesterase-5 Inhibitor เช่น tadalafil 4) กลุ่ม Anticholinergic agents เช่น fesoterodine, tolterodine, oxybutynin 5) กลุ่ม Beta-3-agonists เช่น mirabegron, vibegron[2] จากแนวทางการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต ได้แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม Alpha-adrenergic receptor ในการเริ่มต้นการรักษา หากไม่ตอบสนองต่อการรักษา สามารถเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่ม 5-Alpha Reductase inhibitor, Phosphodiesterase-5 Inhibitor[3]
ยา Doxazosin เป็นยากลุ่ม alpha1-adrenergic receptor blockers ออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อบริเวณต่อมลูกหมากและกระเพาะปัสสาวะ[4] ยานี้จัดเป็นยาทางเลือกแรกในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต[2] อาการไม่พึงประสงค์ที่พบ เช่น ปวดหัว เวียนหัว อ่อนเพลีย ความดันโลหิตต่ำเมื่อมีการเปลี่ยนท่า ง่วงซึม ภาวะองคชาติไม่แข็งตัว การหลั่งอสุจิช้าเกินไป เป็นต้น[4] ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทนต่ออาการไม่พึงประสงค์จากยา doxazosin สามารถเปลี่ยนมาใช้เป็นยาตัวอื่นในกลุ่มเดียวกัน[3] เช่น prazosin, alfuzosin, terazosin เป็นต้น การใช้ยาที่มีจำเพาะต่อ α1A adrenergic receptor (เช่น silodosin) จะลดการเกิดอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับความดันโลหิตต่ำ แต่จะเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ เช่น ภาวะองคชาติไม่แข็งตัว การหลั่งอสุจิช้า การหลั่งย้อนทาง[2,3]
แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา doxazosin แนะนำให้เปลี่ยนเป็นยากลุ่มอื่น[3] เช่น ยากลุ่ม 5- Alpha Reductase inhibitor ได้แก่ ยา finasteride และ dutasteride หากผู้ป่วยมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศร่วมด้วย อาจเปลี่ยนมาใช้ยากลุ่ม Phosphodiesterase-5 Inhibitor ได้แก่ tadalafil หากผู้ป่วยมีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินร่วมด้วย (ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแบบเร่งรีบ และกลั้นปัสสาวะไม่ได้) อาจเปลี่ยนมาใช้ยากลุ่ม Beta-3 adrenergic agonists ได้แก่ mirabegron และ vibegron หรือยากลุ่ม anticholinergics ได้แก่ fesoterodine, tolterodine, oxybutynin, darifenacin, solifenacin และ trospium[2,3]
สำหรับการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ doxazosin กับยาอื่น ๆ ในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตที่มีการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม เช่น
1) การศึกษาประสิทธิภาพของยา doxazosin เปรียบเทียบกับ finasteride ประเมินผลโดยใช้แบบประเมินภาวะต่อมลูกหมากโต และการไหลของปัสสาวะ พบว่า หลังจากใช้ยา 52 สัปดาห์ กลุ่มที่ได้รับ doxazosin มีคะแนนเฉลี่ยของภาวะต่อมลูกหมากโตลดลงจากค่าเริ่มต้นเท่ากับ -8.3 ± 0.4 และความเร็วเฉลี่ยในการไหลของปัสสาวะสูงสุดเพิ่มขึ้นจากค่าเริ่มต้นเท่ากับ 3.6 ±0.3 ส่วนกลุ่ม finasteride มีคะแนนเฉลี่ยของภาวะต่อมลูกหมากโตลดลงจากค่าเริ่มต้นเท่ากับ -6.6 ± 0.4 และความเร็วเฉลี่ยในการไหลของปัสสาวะสูงสุดเพิ่มขึ้นจากค่าเริ่มต้นเท่ากับ 1.8 ±0.3[5]
2) การศึกษาประสิทธิภาพของยา doxazosin เปรียบเทียบกับ tamsulosin ประเมินผลโดยใช้แบบประเมินภาวะต่อมลูกหมากโต การไหลของปัสสาวะ และปริมาตรปัสสาวะเหลือค้างหลังถ่ายปัสสาวะ พบว่า หลังจากใช้ยา 6 สัปดาห์ กลุ่มที่ได้รับ doxazosin มีคะแนนเฉลี่ยของภาวะต่อมลูกหมากโตลดลงจากค่าเริ่มต้นเท่ากับ -7.2 (38.2%) ความเร็วเฉลี่ยในการไหลของปัสสาวะสูงสุดเพิ่มขึ้นจากค่าเริ่มต้นเท่ากับ 0.7 (6%) และปริมาตรปัสสาวะเหลือค้างเฉลี่ยหลังถ่ายปัสสาวะลดลงจากค่าเริ่มต้นเท่ากับ -2.1 (4.5%) ส่วนกลุ่ม tamsulosin มีคะแนนเฉลี่ยของภาวะต่อมลูกหมากโตลดลงจากค่าเริ่มต้นเท่ากับ -9.2 (49.4%) ความเร็วเฉลี่ยในการไหลของปัสสาวะสูงสุดเพิ่มขึ้นจากค่าเริ่มต้นเท่ากับ 2.7 (27.2%) และปริมาตรปัสสาวะเหลือค้างเฉลี่ยหลังถ่ายปัสสาวะลดลงจากค่าเริ่มต้นเท่ากับ -8.2 (18.7%)[6]
โดยสรุป จากข้อมูลเท่าที่สืบค้นได้ ไม่พบข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับอาการปวดบริเวณใบหน้าหรือโหนกแก้มหลังจากใช้ยา doxazosin และเนื่องจากการรักษารักษาโรคต่อมลูกหมากโตควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ดังนั้น หากผู้ป่วยไม่สามารถทนต่ออาการไม่พึงประสงค์จากยาได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อปรับเปลี่ยนการรักษาเหมาะสมต่อไป

เอกสารอ้างอิง
[1.] McVary KT. Clinical manifestations and diagnostic evaluation of benign prostatic hyperplasia. Up-to-Date [database on the Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2020 [cited 2021 August 31]. Available from: http://www. uptodate.com.
[2.] McVary KT. Medical treatment of benign prostatic hyperplasia. Up-to-Date [database on the Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2020 [cited 2021 August 31]. Available from: http://www. uptodate.com.
[3.] Lerner LB, McVary, KT, Barry MJ et al: Management of lower urinary tract symptoms attributed to benign prostatic hyperplasia: AUA Guideline part I, initial work-up and medical management. J Urol 2021; https://doi.org/10.1097 /JU.000000000000 2183.
[4.] Doxazosin. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 28 August 2021; cited 31 August 2021]. Available from: http://online. lexi.com.
[5.] Kirby RS, Roehrborn C, Boyle P, et al. Efficacy and tolerability of doxazosin and finasteride, alone or in combination, in treatment of symptomatic benign prostatic hyperplasia: the Prospective European Doxazosin and Combination Therapy (PREDICT) trial. Urology. 2003;61(1):119-126. doi:10.1016 /s0090-4295(02)02114-3.
[6.] Rahardjo D, Soebadi DM, Sugandi S, Birowo P, Djati W, Wahyudi I. Efficacy and safety of tamsulosin hydrochloride compared to doxazosin in the treatment of Indonesian patients with lower urinary tract symptoms due to benign prostatic hyperplasia. Int J Urol. 2006;13(11):1405-1409. doi:10.1111/j.1442-2042.2006.01590.x.



วันที่ตอบ : 18 ต.ค. 64 - 10:07:48




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110