ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
กระชายกับโควิด 19

อยากทราบว่ากระชายสามารถใช้ป้องกัน หรือรักษาโรคโควิดได้จริงมั้ย และต้องกินอย่างไรคะ

[รหัสคำถาม : 261] วันที่รับคำถาม : 19 ส.ค. 64 - 12:48:55 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

กระชายหรือกระชายเหลือง (พืชสมุนไพรคนละชนิดกับพืชที่ชื่อว่า กระชายขาว) เป็นเหง้าและรากแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Boesenbergia rotunda (L.) Mansf. ในพืชวงศ์ขิง (Zingiberaceae) มีสารสำคัญคือแคมพ์เฟอรอล (Kaempferol), เควอซิทิน (Quercetin) และแพนดูเรทีน-เอ (Panduratin A) ข้อบ่งใช้ตามตำราสรรพคุณยาไทยว่า กระชายมีรสเผ็ดร้อน ขม แก้ปวดมวนในท้อง แก้ชัก แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ บำรุงกำลัง บำรุงกำหนัด เป็นต้น
ข้อมูลจากการศึกษาทางพรีคลินิก พบว่า สารสกัดกระชาย แสดงฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย และเชื้อราบางชนิด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และฤทธิ์ลดไข้[1] รวมทั้งมีการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ พบว่า แคมพ์เฟอรอล และเควอซิทิน สามารถจับกับตำแหน่ง main protease (Mpro) จึงช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ได้[2]
ปัจจุบัน มีการศึกษาในหลอดทดลองเพื่อวิจัยฤทธิ์ต้านไวรัสก่อโรคโควิด 19 (SARS -CoV -2) ของสารสกัดกระชาย และแพนดูเรทีน-เอ ซึ่งเป็นสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากเหง้ากระชาย โดยทดสอบฤทธิ์การยับยั้งเชื้อไวรัส ทั้งก่อนเข้าสู่เซลล์และภายหลังจากไวรัสเข้าสู่เซลล์แล้ว พบว่า ฤทธิ์การยับยั้งเชื้อไวรัสก่อนเข้าสู่เซลล์ของสารสกัดกระชาย และแพนดูเรทีน-เอ มีค่า IC50 (ค่าความเข้มข้นที่ใช้ในการยับยั้งเชื้อได้ร้อยละ 50 ถ้ามีค่าน้อยแสดงว่ามีฤทธิ์ดี ค่ามากแสดงว่ามีฤทธิ์น้อย) เท่ากับ 20.42 μg/ml และ 5.30 μM ตามลำดับ ส่วนค่า CC50 (ค่าความเข้มข้นที่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ร้อยละ 50 ถ้ามีค่าน้อยแสดงว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์มาก ค่ามากแสดงว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์น้อย) เท่ากับ >100 μg/ml และ 43.47 μM ตามลำดับ สำหรับฤทธิ์การยับยั้งไวรัสภายหลังจากเข้าสู่เซลล์ พบว่า มีค่า IC50 เท่ากับ 3.62 μg/ml และ 0.81 μM ตามลำดับ ส่วนค่า CC50 เท่ากับ 28.06 μg/ml และ 14.71 μM ตามลำดับ[3]
จากข้อมูลการทดสอบ จะเห็นได้ว่าค่าความเข้มข้นที่ใช้ในการยับยั้งเชื้อได้ร้อยละ 50 ของสารสกัดกระชาย และแพนดูเรทีน-เอ น้อยกว่าค่าความเข้มข้นที่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ร้อยละ 50 ประมาณ 10 เท่า จึงค่อนข้างมีความปลอดภัยต่อการนำมาใช้ และฤทธิ์การยับยั้งเชื้อไวรัสหลังจากเข้าสู่เซลล์ดีกว่าฤทธิ์การยับยั้งเชื้อไวรัสก่อนเข้าสู่เซลล์ เนื่องจากความเข้มข้นสำหรับฤทธิ์การยับยั้งเชื้อไวรัสหลังเข้าสู่เซลล์น้อยกว่าความเข้มข้นสำหรับฤทธิ์การยับยั้งเชื้อไวรัสก่อนเข้าสู่เซลล์
การศึกษาในหลอดทดลองนี้เป็นงานวิจัยเดียว ณ ขณะนี้ที่รายงานผลว่าสารสกัดกระชาย และแพนดูเรทีน-เอ มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ทั้งการยับยั้งเชื้อไวรัสก่อนเข้าสู่เซลล์หรือการป้องกันการติดเชื้อ และการยับยั้งไวรัสภายหลังจากไวรัสเข้าสู่เซลล์หรือการรักษาภายหลังการติดเชื้อแล้ว
การรับประทานกระชาย เพื่อป้องกันหรือรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ยังมีการศึกษาน้อย ข้อมูลจึงไม่เพียงพอต่อการสรุปผลประสิทธิภาพและความปลอดภัย ต้องมีการวิจัยประสิทธิภาพในมนุษย์ต่อไป อย่างไรก็ตามวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนการนำกระชายมาประกอบอาหาร เพื่อส่งเสริมสุขภาพ สร้างเสริมภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคโควิด 19 ในขนาดการรับประทานแบบอาหารตามปกติ[4] (ข้อมูลการสืบค้น ณ เดือนสิงหาคม 2564)

เอกสารอ้างอิง:
[1.] คณะอนุกรรมการจัดทำตำราอ้างอิงยาสมุนไพรไทย ในคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย. (2563). กระชาย (Kra Chai). วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, 18(2),433-7.
[2.] กองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางปฏิบัติทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1.[Internet]. [cited 2021 August 5]. Available from: https://www.dtam.moph.
go.th/ E-Book/TM-Covid-19/index.html.
[3.] Kanjanasirirat P, Suksatu A,Manopwisedjaroen S, et al. High-content screening of Thai medicinal plants reveals Boesenbergia rotunda extract and its component Panduratin A as anti-SARS-CoV-2 agents. Sci Rep. 2020;10(1):19963. Published 2020 Nov 17. doi:10.1038/s41598-020-77003-3.
[4.] วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย (ว.ภ.ส.). (2564, 30 กรกฎาคม). แถลงการณ์วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม เรื่องการใช้ยาฟ้าทะลายโจรและสมุนไพรในผู้ป่วยโควิด ๑๙.


วันที่ตอบ : 19 ส.ค. 64 - 13:51:31




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110