ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Bisoprolol ใช้ในหญิงตั้งครรภ์

Bisoprolol ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ยาในกลุ่มเดียวกันยาตัวไหนปลอดภัยที่สุด

[รหัสคำถาม : 265] วันที่รับคำถาม : 29 ส.ค. 64 - 16:00:08 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Bisoprolol เป็นยากลุ่ม Beta-Blockers ชนิดจำเพาะต่อหัวใจ (cardioselective) ออกฤทธิ์ยับยั้งตัวรับ Beta1 แต่มีผลต่อตัวรับ beta2 น้อย ยกเว้นการใช้ยาในขนาดยาสูง ข้อบ่งใช้ของยา Bisoprolol ที่ได้รับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา คือ ใช้รักษาความดันโลหิตสูง โดยอาจใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาลดความดันโลหิตกลุ่มอื่น ส่วนข้อบ่งใช้อื่น ๆ เช่น รักษาโรคหัวใจขาดเลือด (stable chronic angina) และรักษาโรคหัวใจวายเรื้อรัง (stable chronic heart failure) โดยอาจใช้ร่วมกับยากลุ่ม ACE inhibitors และยาขับปัสสาวะ อาการข้างเคียงที่พบได้ เช่น มึนงง นอนไม่หลับ หัวใจเต้นช้า เป็นต้น[1,2]
ยา Bisoprolol มีค่าครึ่งชีวิตยาว จับกับโปรตีนในเลือดได้ปานกลาง (30%)[1] และยาอาจสามารถผ่านรกได้[3] แต่ปริมาณยาที่แพร่ผ่านรกสู่ทารกในครรภ์ยังไม่ทราบแน่ชัด การศึกษาในหนูทดลองพบว่า ยาสามารถผ่านรกไปสู่ตัวอ่อนได้[4] โดยทั่วไป ไม่แนะนำให้ใช้ยา Bisoprolol ในหญิงตั้งครรภ์ยกเว้นมีความจำเป็นและต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ และควรมีการติดตามภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและภาวะหัวใจเต้นช้าในทารกแรกคลอด ซึ่งมักพบภายใน 3 วันแรกหลังคลอด[1] ยานี้จัดอยู่ใน Pregnancy category C[5]
จากการศึกษาซึ่งติดตามหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับ bisoprolol ขณะตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 ในประเทศเยอรมนี เปรียบเทียบผู้ที่ได้รับยา bisoprolol จำนวน 339 ราย และไม่ได้รับยา 678 ราย พบว่า การใช้ยา bisoprolol ช่วงไตรมาสที่ 1 ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการแท้งโดยธรรมชาติ หรือการเกิดความพิการแต่กำเนิดของทารก อย่างไรก็ตาม การใช้ยา bisoprolol อย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 และ 3 จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและทารกแรกคลอดมีน้ำหนักน้อย ประมาณ 1.9 และ 1.48 เท่าตามลำดับ[6]
จากการศึกษาแบบย้อนหลัง (retrospective cohort) ซึ่งศึกษาภาวะทารกในครรภ์โตช้า (growth retardation) ในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับยากลุ่ม beta-blockers โดยวัดผลเป็นน้ำหนักทารกแรกคลอด พบว่า การใช้ยา atenolol และ labetalol มีความสัมพันธ์กับภาวะทารกในครรภ์ โตช้า (กลุ่ม atenolol มีน้ำหนักทารกเฉลี่ย=3,058±748 กรัม ; adjusted OR 2.4 (1.7‐3.3) ส่วนกลุ่ม labetalol มีน้ำหนักทารกเฉลี่ย=2,926±841 กรัม; adjusted OR 2.9 (2.6‐3.2)) ส่วนน้ำหนักทารกแรกคลอดในกลุ่มมารดาที่ใช้ metoprolol และ propranolol ไม่มีความแตกต่างกับกลุ่มที่ไม่ใช้ยา (กลุ่ม metoprolol มีน้ำหนักทารกเฉลี่ย=3,163±702 กรัม; adjusted OR 1.5 (0.9‐2.3), ส่วนกลุ่ม propranolol มีน้ำหนักทารกเฉลี่ย 3,286±651 กรัม; adjusted OR 1.3 (0.9‐1.9); p=0.19) ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยา Beta-blockers มีน้ำหนักทารกแรกคลอดเฉลี่ย = 3,353±554 กรัม[7]
จากแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในหญิงตั้งครรภ์ ยากลุ่ม Beta-blockers ที่มีการใช้ ได้แก่ labetalol, metoprolol, pindolol และ esmolol[8,9] ส่วนแนวทางตาม 2020 International Society of Hypertension Global Hypertension Practice Guidelines ยาที่แนะนำให้ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงรุนแรง (Severe hypertension: ความดันเลือด >170/110 mm Hg) โดยยาในกลุ่ม Beta-blockers แนะนำให้ใช้ labetalol รูปแบบยาฉีดเป็นอันดับแรก ส่วนยาทางเลือกคือ esmolol รูปแบบยาฉีด ส่วนภาวะความดันโลหิตสูงไม่รุนแรง (Mild hypertension: ความดันเลือด >140/90 mm Hg) แนะนำให้ใช้ Labetalol รูปแบบรับประทาน[9]
ในทางทฤษฎีแล้ว ยากลุ่ม beta-adrenoceptor blockers สามารถลดเลือดไปเลี้ยงยังรก (placental perfusion) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะทารกในครรภ์โตช้า (growth retardation), น้ำหนักทารกแรกคลอดเด็กต่ำกว่าปกติ (low birth weight), แท้ง (abortion), คลอดก่อนกำหนด (early labor) และทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ (intrauterine death) ส่วนในทารกแรกคลอดอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia), หัวใจเต้นช้า (bradycardia))[1] การใช้ยาควรมีการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับประโยชน์ที่ได้รับ และควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

เอกสารอ้างอิง
[1]. Bisoprolol [Internet]. [cited 2021 Jul 1]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/product/6126/smpc#PREGNANCY.
[2]. Bisoprolol. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc. [updated 25 Jun. 2021; cited 16 Jul. 2021]. Available from: http://online.lexi.com.
[3]. Briggs GG, Freeman RK, Towers CV, et al. Drugs in pregnancy and lactation: a reference guide to fetal and neonatal risk. 11th ed. Baltimore: Williams & Wilkins; 2017;157-8.
[4]. PRODUCT MONOGRAPH Sandoz Bisoprolol Tablets [Internet]. [cited 2021 Jul 16]. Available from: https://www.sandoz.ca/sites/www.sandoz.ca/files/Sandoz_Bisoprolol_Tablets_Product_Monograph.pdf.
[5]. Wickersham RM, Novak KK, Horenkamp JR, McCarron SM, Schweain SL, editors. Drug facts and comparisons. Missouri: Wolters Kluwer Health; 2016; 865-866.
[6]. Anne K, Kayser, Zinke S, et al. Pregnancy outcome after first trimester exposure to bisoprolol, Journal of Hypertension: 2018.36(10).2109-2117.
[7]. Lewei D, Angie N, Wansu C, et al. Beta‐blocker subtypes and risk of low birth weight in newborns. J Clin Hypertens. 2018;1–7.
[8]. Treatment of hypertension in pregnant and postpartum women [Internet]. Hudson, Ohio: Hudson, Ohio: Wolters Kluwer UpToDate, Inc.; 2020 [cited 2021 Jul 1].
[9]. Thomas U, Claudio B, Fadi C, et al. 2020 International Society of Hypertension Global Hypertension Practice Guidelines. Hypertension, 75(6).
วันที่ตอบ : 31 ส.ค. 64 - 08:38:20




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110