ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Augmentin

Augmentin กินแล้วอุจจาระร่วงแก้อย่างไร

[รหัสคำถาม : 268] วันที่รับคำถาม : 07 ก.ย. 64 - 18:57:23 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

อาการท้องร่วงเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้จากการใช้ยาบางชนิด เช่น Acarbose, Antibiotics, Colchicine, Lactulose, Metformin, Metoclopramide, Oristat และยาเคมีบำบัด เป็นต้น โดยอาการท้องร่วงจากยาอาจดีขึ้นเอง หรืออาจมีอาการรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม[1] สำหรับการเกิดอาการท้องร่วงจากยาเกิดจากหลายกลไก เช่น 1) Osmotic diarrhea เกิดจากยาหรือสารบางอย่างที่ไม่ละลายแต่มีความสามารถในการดูดน้ำเข้าหาตัวตามแรงดันออสโมติก เมื่อยาอยู่ในทางเดินอาหาร จะทำให้มีปริมาตรน้ำในช่องว่างของทางเดินอาหารมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของทางเดินอาหาร 2) Secretory diarrhea เกิดจากยาเหนี่ยวนำให้เกิดการยับยั้งการดูดซึมโซเดียม ส่งผลให้ลดการดูดซึมน้ำและอิเล็กโทรไลต์จากช่องว่างในทางเดินอาหาร หรือการกระตุ้นการหลั่งของไบคาร์บอเนต ส่งผลให้ดึงน้ำเข้าสู่ช่องว่างในทางเดินอาหาร 3) Disordered หรือ deregulation motility เกิดจากยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ 4) Inflammatory diarrhea เกิดจากยาไปรบกวนเชื้อประจำถิ่น หรือไปทำลายเยื่อบุทางเดินอาหารโดยตรง หรือเกิดจากยาไปรบกวนสมดุลของกระบวนการ proliferative – apoptosis ของเยื่อบุทางเดินอาหาร 5) Fatty diarrhea เกิดจากยาไปรบกวนการย่อยและดูดซึมของไขมันในทางเดินอาหาร ในกรณีนี้อุจจาระจะมีลักษณะมัน[2]
Augmentin เป็นยาที่ประกอบด้วยยา 2 ชนิดคือ Amoxicillin และ Clavulanate มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อชนิดต่าง ๆ ที่ไวต่อยานี้ เช่น โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน โรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจส่วนล่าง ไซนัสอักเสบ เป็นต้น ขนาดยาโดยทั่วไปในผู้ใหญ่ คือ 250-875 mg ทุก 8-12 ชั่วโมง ยานี้มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่แพ้ยานี้และกลุ่ม penicillin หรือ clavulanic acid อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อย คือ ท้องร่วง (3%-34%) ผื่น คลื่นไส้ อาเจียน และช่องคลอดอักเสบ[3][4] กลไกการเกิดอาการท้องร่วงจากยา Augmentin เกิดจากยายับยั้งการดูดซึมของโซเดียม ส่งผลให้ลดการดูดซึมน้ำและอิเล็กโทรไลต์จากช่องว่างในทางเดินอาหาร หรือมีการกระตุ้นการหลั่งของไบคาร์บอเนต ส่งผลให้ดึงน้ำเข้าสู่ช่องว่างในทางเดินอาหาร และเกิดอาการท้องร่วง[2] พบว่าอาการท้องร่วงจะลดลงหากให้ยาทุก 12 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับการให้ยายาทุก 8 ชม. (14.3% และ 34.3% ตามลำดับ)[4]
สำหรับการจัดการอาการท้องร่วงที่เกิดจากการใช้ยา อาจให้ผู้ป่วยทนกินยาต่อซักระยะหนึ่งก่อนร่วมกับการให้สารละลายเกลือแร่หรือ ORS เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ แต่หากอาการท้องร่วงไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ นอกจากนั้น ผู้ที่ใช้ยานี้อาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนจากการที่ยาไปทำลายเชื้อประจำถิ่น เช่น ติดเชื้อ Clostridium difficile ซึ่งในกรณีดังกล่าว จำเป็นต้องหยุดยาที่เป็นสาเหตุ และผู้ป่วยจำเป็นต้องได้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นเพิ่มเติมเพื่อกำจัดเชื้อแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดอุจจาระร่วงด้วย รวมทั้งไม่ควรใช้ยาหยุดถ่ายในผู้ที่สงสัยว่ามีอาการท้องร่วงที่เกิดจากการติดเชื้อแทรกซ้อน[1] โดยยาปฏิชีวนะที่แนะนำเป็นทางเลือกแรกสำหรับรักษาการติดเชื้อแทรกซ้อน Clostridium difficile ได้แก่ vancomycin และ fidaxomicin ในกรณีที่มีข้อห้ามใช้ยา ผู้ป่วยอาจใช้ metronidazole เป็นยาทางเลือก[5]


เอกสารอ้างอิง
[1]. วิวรรธน์ อัครวิเชียร. (2559). ท้องเสียที่เกิดจากยา. วารสารเภสัชกรรมชุมชน, 15(87), 57-61.
[2]. Abraham BP., Sellin JH. Drug-induced factitious and idiopathic diarrhea. Best Practice & Research Clinical Gastroenterology 2012; 26: 633–648
[3]. MICROMEDEX® [Database on the internet]. Colorado: Thomson Reuters (Healthcare); c2021. DRUGDEX® System, Amoxicillin/Clavulanate Potassium (Augmentin); [Cited 2021 June 21]. Available from: http://www.micromedexsolutions.com
[4]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. Augmentin (PRESCRIBING INFORMATION) [อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2564]. เข้าถึงได้จาก
https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/050575s037550597s044050725s025050726s019lbl.pdf
[5]. McDonald LC, Gerding DN, Johnson S, et al. Clinical Practice Guidelines for Clostridium difficile Infection in Adults and Children: 2017 Update by the Infectious Diseases Society of America (IDSA) and Society for Healthcare Epidemiology of America (SHEA). Clin Infect Dis. 2018;66(7):e1-e48.

วันที่ตอบ : 08 ก.ย. 64 - 14:25:12




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110