ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ประสิทธิภาพของยาทาแก้ปวด nsaids

อยากทราบประสิทธิภาพของยาทาแก้ปวด nsaids แต่ละตัวในท้องตลาด แตกต่างกันหรือไม่

[รหัสคำถาม : 269] วันที่รับคำถาม : 08 ก.ย. 64 - 12:42:06 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

NSAIDs เป็นยาที่มีกลไกยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด อักเสบ ซึ่งมีทั้งในรูปแบบยาฉีด รับประทาน และยาทาภายนอก โดยรูปแบบยาทาภายนอก มีข้อบ่งใช้ในบรรเทาอาการปวดเฉียบพลันและโรคข้อเสื่อม (osteoarthritis)[1] รูปแบบยาทาภายนอกมีข้อในด้านความปลอดภัย ลดอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งความเป็นพิษต่อไต[2]-[5] NSAIDs ที่อยู่ในรูปแบบยาทาภายนอกที่มีในประเทศไทย ได้แก่ ตัวยา diclofenac, piroxicam, indomethacin, ketoprofen และ ibuprofen โดยมีรูปแบบยาที่ผลิตออกมา ได้แก่ แผ่นแปะ เจล ครีม ยาน้ำ และสเปรย์[6]
ประสิทธิภาพของยาทาภายนอกจะขึ้นอยู่กับความสามารถของยาในการนำผ่านชั้น stratum corneum ซึ่งเป็นผิวหนังชั้นนอกสุดของชั้นหนังกำพร้า (Epidermis)[7] ดังนั้นรูปแบบยาที่สามารถนำส่งยาผ่านชั้น stratum corneum ได้แตกต่างกัน ก็อาจจะส่งผลให้บรรเทาอาการปวดได้แตกต่างกัน มีการพัฒนารูปแบบต่างๆ เช่น แผ่นแปะสามารถปลดปล่อยตัวยาได้ต่อเนื่องนาน 12 ถึง 24 ชั่วโมง เช่น Diclofenac epolamine topical patch (DETP) และ ketoprofen patch นอกจากนี้ยังการใช้สารช่วยเพิ่มการซึมผ่านยาเข้าสู่ผิวหนัง (penetration enhancers) เป็นองค์ประกอบในตำรับ เช่น Dimethyl sulfoxide (DMSO) ใน diclofenac sodium drops, น้ำและเอทานอลใน diclofenac sodium 1% gel และ IDEA-033 Transfersome® gel ใน ketoprofen gel เป็นต้น[3]-[5] ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ยาซึมผ่านชั้นผิวหนังได้แตกต่างกัน
การศึกษาทางคลินิกเพื่อศึกษาว่ารูปแบบผลิตภัณฑ์ใดมีประสิทธิภาพดีกว่ากัน เช่น การศึกษาแบบ systematic review ยาทา NSAIDs ในผู้ที่มีอาการปวดตึง เคล็ด หรือได้รับบาดเจ็บจากกีฬา ความรุนแรงระดับปานกลางภายใน 24 หรือ 48 ชั่วโมง พบว่า diclofenac emulgel (NNT=1.8) มีประสิทธิภาพดีกว่า ketoprofen gel (NNT=2.5), diclofenac plasters (NNT=3.2) และ ibuprofen gel (NNT=3.9) ตามลำดับ ซึ่งรูปแบบ emulgel มีประสิทธิภาพมากกว่า plaster อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.00001)[5] และจากการศึกษาแบบ meta-analysis ยาทา NSAIDs ในการรักษาโรคข้อเสื่อม พบว่า Diclofenac patch มีประสิทธิภาพบรรเทาอาการปวดมากที่สุด รองลงมาคือ diclofenac gel และ diclofenac solution ตามลำดับ[8]
โดยสรุปไม่มีข้อมูลการศึกษาที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ topical NSAIDs กันโดยตรง (head-to-head comparison) ข้อมูลที่รวบรวมเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาทา NSAIDs เป็นการเปรียบเทียบกันทางอ้อม (indirect comparison) จึงไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าชนิดใดดีกว่าชนิดใด มีหนึ่งการศึกษาพบว่า diclofenac patch ให้ประสิทธิภาพดีที่สุดในการศึกษาในผู้ป่วยข้อเสื่อม ในขณะที่อีกหนึ่งการศึกษาระบุว่า diclofenac gel และ ketoprofen gel มีประสิทธิภาพดีที่สุดในผู้ป่วยตึง เคล็ด หรือได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ได้แก่ คัน ผิวหนังอักเสบ แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
[1]. Topical nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs). In: Lexi-Drugs Online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [ cited 4 Feb 2022]. Available from: http://online.lexi.com. Subscription required to view.
[2]. Derry S, Moore RA, Gaskell H, McIntyre M, Wiffen PJ. Topical NSAIDs for acute musculoskeletal pain in adults. Cochrane Database Syst Rev. 2015 Jun 11;2015(6):CD007402. doi: 10.1002/14651858.CD007402.pub3. PMID: 26068955; PMCID: PMC6426435.
[3]. Barkin RL. Topical Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: The Importance of Drug, Delivery, and Therapeutic Outcome. Am. J. Ther. 2015 Sep.-Oct.;22(5):388-407. doi: 10.1097/MJT.0b013e3182459abd. PMID: 22367354.
[4]. McPherson ML, Cimino NM. Topical NSAID formulations. Pain Med. 2013 Dec;14 Suppl 1:S35-9. doi: 10.1111/pme.12288. PMID: 24373109.
[5]. Brewer AR, McCarberg B, Argoff CE. Update on the use of topical NSAIDs for the treatment of soft tissue and musculoskeletal pain: a review of recent data and current treatment options. Phys. Sportsmed. 2010 Jun;38(2):62-70. doi: 10.3810/psm.2010.06.1784. PMID: 20631465.
[6]. MIMS Online Thailand. Topical nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) [Internet]. 2021. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=
Nonsteroidal%20 anti-inflammatory%20drugs%20(nsaids)%2C%20topical online.
[7]. Block LH. Medicated Topicals. In: Felton LA, 22nd ed. Remington. London: Newgen KnowledgeWorks; 2013;566-73.
[8]. Zeng C, Wei J, Persson MSM, et al. Relative efficacy and safety of topical non-steroidal anti-inflammatory drugs for osteoarthritis: a systematic review and network meta-analysis of randomised controlled trials and observational studies
British Journal of Sports Medicine 2018;52:642-650.

วันที่ตอบ : 18 ก.พ. 65 - 09:10:34




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110