ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Oral procaterol ใน COPD

อยากทราบว่ายา procaterol มีประสิทธิภาพอะไรบ้างในผู้ป่วย COPD

[รหัสคำถาม : 270] วันที่รับคำถาม : 09 ก.ย. 64 - 11:52:20 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ตามแนวทางการวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ในการเริ่มต้นรักษา จะประเมินอาการตาม CAT (แบบประเมินคุณภาพชีวีตของผู้ป่วย COPD) หรือ mMRC (แบบประเมินความรู้สึกเหนื่อยในการประกอบกิจกรรมในชีวิตประจำวัน) ร่วมกับการกำเริบของโรคและการเข้ารักษาอาการกำเริบในโรงพยาบาล ซึ่งจะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่ม A (ค่า CAT น้อยกว่า 10 คะแนน หรือ ค่า mMRC อยู่ระหว่าง 0-1 ร่วมกับมีประวัติกำเริบซ้ำน้อยกว่า 2 ครั้งและไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล), 2) กลุ่ม B (ค่า CAT ตั้งแต่ 10 คะแนนขึ้นไป หรือ ค่า mMRC ตั้งแต่ 2 ขึ้นไป ร่วมกับมีประวัติกำเริบซ้ำน้อยกว่า 2 ครั้งและไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล), 3) กลุ่ม C (ค่า CAT น้อยกว่า 10 คะแนน หรือ ค่า mMRC อยู่ระหว่าง 0-1 ร่วมกับมีประวัติกำเริบซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป หรือ มีการกำเริบซ้ำจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 ครั้ง) , 4) กลุ่ม D (ค่า CAT ตั้งแต่ 10 คะแนนขึ้นไป หรือ ค่า mMRC ตั้งแต่ 2 ขึ้นไป ร่วมกับมีประวัติกำเริบซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป หรือ มีการกำเริบซ้ำจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 ครั้ง)[1]
สำหรับการพิจารณาเลือกยา มีแนวทางดังนี้ 1) ผู้ป่วยกลุ่ม A ควรได้รับการรักษาด้วยยาขยายหลอดลมกลุ่มออกฤทธิ์สั้น (Short-acting bronchodilators) หรือกลุ่มออกฤทธิ์ยาว (Long-acting bronchodilators) 2) ผู้ป่วยกลุ่ม B ควรเริ่มการรักษาด้วยยาขยายหลอดลมกลุ่มออกฤทธิ์ยาว (Long-acting bronchodilators เช่น LABA, LAMA) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหายใจหอบเหนื่อยรุนแรง อาจเริ่มการรักษาด้วยยาขยายหลอดลมกลุ่มออกฤทธิ์ยาว 2 ชนิดร่วมกัน 3) ผู้ป่วยกลุ่ม C และ D ควรเริ่มการรักษาด้วยยากลุ่ม Long-acting muscarinic antagonist (LAMA) เนื่องจากยากลุ่มนี้ สามารถป้องกันการกำเริบซ้ำได้ดีกว่ายากลุ่ม Long acting beta2-agonist (LABA) สำหรับผู้ป่วยกลุ่ม D อาจพิจารณาใช้ยากลุ่ม LAMA ร่วมกับ LABA กรณีมีค่า CAT มากกว่า 20 หรือพิจารณาใช้ Inhaled corticosteroids (ICS) ร่วมกับยากลุ่ม LABA กรณีมีค่า eosinophil ตั้งแต่ 300 cell/uL ขึ้นไป[1]
ยากลุ่ม Beta2-Agonists สามารถแบ่งตามระยะเวลาที่ออกฤทธิ์ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1) Short acting beta2-agonist (SABA) จะมีระยะเวลาออกฤทธิ์ 4-6 ชั่วโมง เช่น fenoterol (รูปแบบ MDI, nebulizer, pill, syrup), levabuterol (รูปแบบ MDI, nebulizer), salbutamol (รูปแบบ MDI, DPI, nebulizer, pill, syrup, extended-release tablet, injection), terbutaline (รูปแบบ DPI, pill, injection) 2) Long acting beta2-agonist (LABA) จะมีระยะเวลาออกฤทธิ์ 12 ชั่วโมง เช่น arformoterol (รูปแบบ nebulizer), formoterol (รูปแบบ DPI, nebulizer), indacaterol (รูปแบบ DPI), olodaterol (รูปแบบ SMI), salmeterol (รูปแบบ MDI, DPI)[1]
ยา Procaterol เป็นยาขยายหลอดลมกลุ่มออกฤทธิ์นาน (LABA) ออกฤทธิ์กระตุ้นแบบจำเพาะที่ beta2 receptors ทำให้กล้ามเนื้อเรียบที่หลอดลมคลายตัว[1] ยานี้มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ 2 รูปแบบคือรูปแบบรับประทานและรูปแบบยาสูด[2] ข้อบ่งใช้ของยา คือ บรรเทาอาการหายใจลำบาก (dyspnea) ในผู้ป่วยโรคหอบ, โรคหลอดลมอักเสบ, และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง[2,3]
ขนาดยารูปแบบรับประทานในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยา ขนาด 50 mcg วันละครั้ง ก่อนนอนหรือวันละ 2 ครั้ง เช้า, ก่อนนอน ส่วนในเด็ก ให้รับประทานยา ขนาด 25 mcg วันละครั้ง ก่อนนอนหรือวันละ 2 ครั้ง เช้า, ก่อนนอน[2,3] ส่วนรูปแบบยาสูดในผู้ใหญ่ ให้สูดยา ขนาด 20 mcgต่อครั้ง ไม่เกิน 4 ครั้งต่อวัน[3]
ยา Procaterol ทั้งในรูปแบบรับประทานและรูปแบบยาสูด มีข้อห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยา Procaterol หรือแพ้ส่วนประกอบในตำรับยา นอกจากนี้ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจล้มเหลว) ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีภาวะ Hypokalemia และผู้ป่วย Hyperthyroidism[2,3] สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยจากการใช้ยา (พบได้ร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 10) เช่น ใจสั่น คลื่นไส้/อาเจียน ปวดศีรษะ ผื่นบริเวณผิวหนัง[2,3]
สำหรับประสิทธิภาพของยา Procaterol มีการศึกษาในผู้ป่วย COPD จำนวน 14 ราย ที่มีอาการคงที่ซึ่งมีค่า FEV1 น้อยกว่าร้อยละ 70 โดยเปรียบเทียบกับยาหลอก ประเมินผลจากการยับยั้งการอุดกั้นของปอดในระหว่างการทดสอบเดิน 6 นาที (6-min walk test) โดยวัดค่า vital capacity, inspiratory capacity, FVC, FEV1 พบว่า หลังใช้ยาไปแล้ว 30 นาที กลุ่มที่ได้รับยา procaterol สามารถเพิ่มการทำงานของปอดได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเพิ่ม vital capacity (2.96±0.74 vs 3.21±0.77 L; p<0.01), inspiratory capacity (2.04±0.43 vs 2.28±0.54 L; p<0.01), FVC (2.67±0.78 vs 2.92±0.80 L; p<0.01 ), FEV1 (1.44±0.55 vs 1.59±0.57 L; p<0.01) และ FEV1/FEV1 predicted (57.4±23.3 vs 63.7±24.1 %; p<0.01) รวมถึงสามารถเพิ่มระยะทางเดินเฉลี่ย 20.5 เมตร (512.4 ± 90.7 vs 532.9 ± 79.8 m, p<0.05) นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่ม Inspiratory capacity (1.03±0.33 vs 1.17±0.39 L; p<0.01), oxygen uptake (13.2±0.2.7 vs 14.4±3.6 ml/min/kg ;p<0.01), minute ventilation, tidal volume และ respiration rate ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับยาหลอก แต่อาการหายใจลำบาก และ oxygen saturation ไม่มีความแตกต่างกับยาหลอก
อีกหนึ่งการศึกษาซึ่งใช้ยา Procaterol รูปแบบยาสูด ขนาด 20 mcg เป็นยาเสริมในผู้ป่วย COPD 30 ราย ที่ใช้ยา Tiotropium bromide รูปแบบยาสูดในการรักษาและมีอาการหายใจลำบากในระหว่างทำกิจวัตรประจำวัน โดยผู้ป่วยมีความรุนแรงของโรคตั้งแต่ระดับ 2-4 (ระดับ 2 มี FEV1 ตั้งแต่ร้อยละ 50 ถึงน้อยกว่าร้อยละ 80, ระดับ 3 มี FEV1 ตั้งแต่ร้อยละ 30 ถึงน้อยกว่าร้อยละ 50, ระดับ 4 มี FEV1 น้อยกว่าร้อยละ 30) เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามในการวัดอาการหายใจลำบากของผู้ป่วย ก่อนเริ่มการศึกษา ผู้ป่วยทุกรายมีอาการหายใจลำบากจากการเดินขึ้นทางลาดชัน ปีนขึ้นบันได นอกนี้ยังมีอาการหอบเหนื่อยจากการจัดสวน (ร้อยละ 93.3) เดินบนทางราบ (ร้อยละ 90.0) อาบน้ำ (ร้อยละ 86.7) ขึ้นรถโดยสารหรือรถไฟ (ร้อยละ 83.3) และการเปลี่ยนเสื้อผ้า (ร้อยละ 80.0) หลังจากใช้ยา Procaterol ไป 2 สัปดาห์ พบว่า อาการหายใจลำบากในระหว่างทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคระดับ 3 ดีขึ้นเกือบทุกกิจกรรม ได้แก่ เดินขึ้นทางลาดชัน (p = 0.047) ปีนขึ้นบันได (p = 0.014) จัดสวน (p = 0.034) เดินบนทางราบ (p = 0.006) ขึ้นรถโดยสารหรือรถไฟ (p = 0.039) และการเปลี่ยนเสื้อผ้า (p = 0.045) ยกเว้น การอาบน้ำ สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคระดับ 2 อาการหายใจลำบากระหว่างทำกิจวัตรประจำวันที่ดีขึ้นคือ การขึ้นรถโดยสารหรือรถไฟ (p = 0.034) ส่วนอาการหายใจลำบากในระหว่างทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคระดับ 4 ไม่มีความแตกต่างกับก่อนใช้ยา Procaterol [5]
ยา Procaterol เป็น Long-acting beta2 agonist ในรูปแบบยาสูด มีข้อบ่งใช้สำหรับบรรเทาอาการหายใจลำบากในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยรูปแบบยาสูดในผู้ใหญ่ ให้สูดยา ขนาด 20 mcgต่อครั้ง ไม่เกิน 4 ครั้งต่อวัน จากข้อมูลการศึกษาข้างต้น การใช้ยา Procaterol สามารถเพิ่มการทำงานของปอดและเพิ่มความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันบางอย่างของผู้ป่วยได้ แต่อย่างไรก็ตาม จากแนวทางการวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังปี 2021 (GOLD 2021) ไม่มีการกล่าวถึงการใช้ยา Procaterol ทั้งรูปแบบรับประทานและรูปแบบยาสูด[1]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Global Initiative for Chronic Obstructive Lung Disease. 2021 Global strategy for prevention, diagnosis, and management of COPD [internet]. [cited 31 October 2021]. Available from: https://goldcopd.org/wp-content/uploads/2020/11/GOLD-REPORT-2021-v1.1-25Nov20_WMV.pdf.
[2]. Procaterol. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 10 October 2021; cited 30 October 2021]. Available from: http://online.lexi.com.
[3]. MIMS online Thailand. Procaterol [Internet]. [cited 30 October 2021]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/procaterol?mtype=generic.
[4]. Satake M, Takahashi H, Sugawara K, et al. Inhibitory effect of procaterol on exercise dynamic lung hyperinflation during the 6-min walk test in stable patients with chronic obstructive pulmonary disease. Arzneimittelforschung. 2011;61(1):8-13.
[5]. Ohbayashi H, Adachi M. Pretreatment with inhaled procaterol improves symptoms of dyspnea and quality of life in patients with severe COPD. Int J Gen Med. 2012; 5:517-524.

วันที่ตอบ : 29 พ.ย. 64 - 10:06:01




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110