ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ทำไมวัคซีนโควิดชนิดเชื้อตายถึงไม่ควรใช้ในคนที่กินยากดภูมิคุ้มกัน

ผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน ทำไมถึงไม่ควรรับวัคซีนโควิดชนิดเชื้อตาย

[รหัสคำถาม : 271] วันที่รับคำถาม : 13 ก.ย. 64 - 16:07:29 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โดยทั่วไปการฉีดวัคซีนในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ จะให้หลังจากการปลูกถ่ายอวัยวะอย่างน้อย 3 เดือน โดยใช้วัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccines) ไม่ใช้วัคซีนเชื้อเป็น (live vaccines) [1] สำหรับวัคซีน COVID-19 วัคซีนชนิด mRNA วัคซีนชนิด non-replicating viral vector หรือวัคซีนชนิดเชื้อตายมีความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ [2] แนวทางการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้ผู้ที่ปลูกถ่ายวัยวะของประเทศไทยระบุว่าสามารถฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้ทุกชนิด [3] ซึ่งในประเทศไทยมีวัคซีน 6 รายการ ได้แก่ 1. CoronaVac (วัคซีนเชื้อตาย) 2. COVILO (วัคซีนเชื้อตาย) 3. AstraZeneca (วัคซีน non-replicating viral vector) 4. Johnson & Johnson (วัคซีน non-replicating viral vector) 5. Pfizer (วัคซีน mRNA) และ 6. Moderna (วัคซีน mRNA) [4]
จากการศึกษาวัคซีน CoronaVac (วัคซีนชนิดเชื้อตาย) 2 โดส ในผู้ป่วยปลูกถ่ายไต พบว่ามีระดับภูมิคุ้มกันในซีรั่มไม่แตกต่างกับก่อนฉีดวัคซีน แต่การตอบสนองของ T-cell เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนได้รับวัคซีน เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง และไม่เกิดการปฏิเสธอวัยวะ [5] การศึกษาวัคซีน Moderna 2 โดส ในผู้ป่วยปลูกถ่ายตับ พบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 47.5 มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น แต่น้อยกว่ากลุ่มคนสุขภาพดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลข้างเคียง ได้แก่ ปวดบริเวณที่ฉีด รู้สึกเหนื่อยล้า ปวดหัว และ เมื่อย ซึ่งเกิดเหมือนกันทั้ง 2 กลุ่ม และในระยะสั้นไม่เกิดการปฏิเสธอวัยวะ [6] มีการศึกษาประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว (Moderna, Pfizer หรือ Johnson & Johnson) ติดเชื้อ COVID-19 ร้อยละ 0.44 มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้วัคซีนไม่ครบ ติดเชื้อ COVID-19 ร้อยละ 4.92 [7]
ดังนั้น ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันสามารถฉีดได้ทั้งวัคซีนเชื้อตาย วัคซีน non-replicating viral vector หรือวัคซีนชนิด mRNA แต่ผู้ป่วยจะตอบสนองต่อวัคซีนในการสร้างภูมิคุ้มกันน้อยกว่าคนปกติ [8] จึงมีการทดลองให้วัคซีน Moderna เข็มที่ 3 ซึ่งพบว่าระดับ antibody หลังจากให้วัคซีนในเดือนที่ 4 ร้อยละ 55 พบระดับ anti-RBD antibody อย่างน้อย 100 U/ml [9] ปัจจุบันจึงแนะนำให้ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันได้รับวัคซีน COVID-19 เข็มที่ 3 ใช้วัคซีนชนิด mRNA (Pfizer หรือ Moderna) โดยให้ห่างจากเข็ม 2 อย่างน้อย 28 วัน แต่หากฉีดวัคซีน Johnson & Johnson (วัคซีน non-replicating viral vector) มาก่อน ให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA เข็มกระตุ้นอย่างน้อย 2 เดือนหลังได้รับวัคซีนเข็มแรก [10]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Danziger-Isakov L, Kumar D; AST ID Community of Practice. Vaccination of solid organ transplant candidates and recipients: Guidelines from the American society of transplantation infectious diseases community of practice. Clin. Transplant. 2019; Sep;33(9):e13563. PMID: 31002409.
[2]. The Transplantation Society. TID COVID-19 Guidance Focused Review: SARS-CoV-2 Vaccines in Transplant Recipients. 2021; [8 screens]. Available at: https://tts.org/26-tid/tid-resources/850-tid-covid-19-guidance-focused-review-sars-cov-2-vaccines-in-transplant-recipients. Accessed November, 16, 2021.
[3]. สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย. แนวทางการฉีดวัคซีนโควิท-19ในผู้ป่วยที่ได้รับหรือรอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ. 2564; [1 screen]. สืบค้นจาก: http://www.transplantthai.org/
newdetails.php?news_id=00135. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2564.
[4]. กองยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. The list by Trade Name. 2564; [10 screens]. สืบค้นจาก: https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/
SitePages/Vaccine_SPC-Name.aspx. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2564.
[5]. Bruminhent J, Setthaudom C, Chaumdee P, Boongird S, Kiertiburanakul S, Malathum K, et al. SARS-CoV-2-specific humoral and cell-mediated immune responses after immunization with inactivated COVID-19 vaccine in kidney transplant recipients (CVIM 1 study). Am. J. Transplant. 2021 Oct 17:10.1111/ajt.16867. doi: 10.1111/ajt.16867. Epub ahead of print. PMID: 34657386; PMCID: PMC8652697.
[6]. Rabinowich L, Grupper A, Baruch R, Ben-Yehoyada M, Halperin T, Turner D, et al. Low immunogenicity to SARS-CoV-2 vaccination among liver transplant recipients. J. Hepatol. 2021 Aug;75(2):435-438.
[7]. Aslam S, Adler E, Mekeel K, Little SJ. Clinical effectiveness of COVID-19 vaccination in solid organ transplant recipients. Transpl. Infect. Dis. 2021 Oct;23(5):e13705. PMID: 34324256.
[8]. กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาด ปี 2564 ของประเทศไทย ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2. 2564; [106 screens]. สืบค้นจาก: https://ddc.moph.go.
th/vaccine-covid19/getFiles/11/1628849610213.pdf. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2564.
[9]. Hall VG, Ferreira VH, Ku T, Ierullo M, Majchrzak-Kita B, Chaparro C, et al. Randomized Trial of a Third Dose of mRNA-1273 Vaccine in Transplant Recipients. N. Engl. J. Med. 2021 Sep 23;385(13):1244-1246.
[10]. Centers for Disease Control and Prevention. COVID-19 Vaccines for Moderately to Severely Immunocompromised People. 2021; [4 screens]. Available at: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/recommendations/immuno.
html. Accessed November, 24, 2021.

วันที่ตอบ : 04 ก.พ. 65 - 14:24:56




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110