ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การฉีดไฟเซอร์ สำหรับเด็ก

ตอนนี้ผมอายุ 18 ปี มีโรคประจำตัว G6PD แล้วกนะทรวงศึกษาธิการให้ฉีดวัคซีน อยากทราบว่าถ้าฉีด ไฟเซอร์จะเป็นอันตรายหรือไม่ครับ

[รหัสคำถาม : 273] วันที่รับคำถาม : 17 ก.ย. 64 - 18:40:11 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ณ ปัจจุบัน วัคซีนไฟเซอร์ เป็นวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA ที่มีการรับรองให้ใช้ในเด็ก 12-18 ปี รับรองโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC)[1] องค์การอนามัยโลก (WHO)[2,3] และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย (อย.)[4] มีการศึกษาประสิทธิภาพในการป้องกันโรค COVID-19 ของวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ในผู้ที่มีอายุ 12-15 ปี จำนวน 1,131 คน เป็นร้อยละ 100[5] อีกการศึกษาในผู้ที่มีอายุ 12-18 ปี พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรค COVID-19 เป็นร้อยละ 93[6] ผลข้างเคียงที่พบ ได้แก่ อาการปวด แดง บวมบริเวณที่ฉีด เหนื่อย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น ไข้ และคลื่นไส้ ซึ่งเกิดขึ้นได้ภายใน 1-2 วัน และอาการจะหายไปภายใน 1-2 วัน[1,5] อย่างไรก็ตามวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA ที่ใช้ในเด็กพบอาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญ คือ การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบในเด็กอายุ 12-18 ปี มีโอกาสพบในเด็กผู้ชายมากกว่า ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับความแตกต่างของฮอร์โมนเพศ จากข้อมูลระบบรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีนของประเทศสหรัฐอเมริกา (VAERS) ในกลุ่มผู้หญิงที่อายุ 12-17 ปี พบผู้ที่มีอาการดังกล่าวจำนวน 4.2 รายต่อหนึ่งล้านเข็ม และในกลุ่มผู้ชายที่มีช่วงอายุเท่ากันพบ 32.4 รายต่อหนึ่งล้านเข็ม มักเกิดขึ้นหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มที่ 1 โดยคาดว่าเกิดจากความคล้ายคลึงกันของส่วนประกอบในวัคซีนชนิด mRNA และโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของกล้ามเนื้อหัวใจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกวัคซีนกระตุ้นมาทำลายโปรตีนดังกล่าวด้วย[7] ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่พบมักมีอาการอยู่ในระดับเล็กน้อย ได้แก่ เจ็บหน้าอก มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ พบจำนวนน้อยมากที่มีการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบถูกรักษาโดยใช้ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาสเตียรอยด์ หรือยาฉีด Immunoglobulin ซึ่งอาการหายได้ภายใน 7 วันหลังรักษา[8,9] ผลข้างเคียงนี้เกิดได้น้อยเมื่อเทียบกับการป้องกัน COVID-19 ที่คาดว่าสูงถึง 8,500 ราย สำหรับทุก 1 ล้านของวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA เข็มที่ 2 ในเด็กอายุ 12-17 ปี[7] ยังไม่พบข้อมูลความเสี่ยงระยะยาวที่สัมพันธ์กับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหลังได้รับวัคซีน[8,9] ผู้ป่วยโรค G6PD deficiency เองไม่มีข้อห้ามให้วัคซีนไฟเซอร์[10,11]
โดยสรุป ประโยชน์จากการได้รับวัคซีนชนิด mRNA มีมากกว่าโทษหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่พบ ดังนั้นจึงเป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในเด็กอายุ 12-18 ปี แม้ว่ามีโรคประจำตัว G6PD deficiency หรือโรคพร่องเอนไซม์ G6PD ก็สามารถได้รับวัคซีนอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามควรสังเกตอาการหลังได้รับวัคซีน เช่น เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน หายใจลำบาก หรือใจสั่น ที่บ่งบอกถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และควรไปพบแพทย์หากมีอาการดังกล่าว[12]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Centers for Disease Control and Prevention. COVID-19 Vaccines for Children and Teens [Internet]. 2021 [cited 2021 Nov. 14]. Available from: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/recommendations/children-teens.html.
[2]. World Health Organization. Interim recommendations for use of the Pfizer–BioNTech COVID-19 vaccine, BNT162b2, under Emergency Use Listing [Internet]. 2021 [cited 2021 Nov. 25]. Available from: https://apps.who.int/iris/rest/bitstreams/1394294/retrieve.
[3]. World Health Organization. COVID-19 advice for the public: Getting vaccinated [Internet]. 2021 [cited 2021 Nov. 25]. Available from: https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/covid-19-vaccines/advice.
[4]. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. คําแนะนําการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สําหรับเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป (ฉบับที่ 3) [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 15 พ.ย. 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.thaipediatrics.org/Media/media-20210927030328.pdf.
[5]. Frenck RW Jr, Klein NP, Kitchin N, Gurtman A, Absalon J, Lockhart S, et al. Safety, Immunogenicity, and Efficacy of the BNT162b2 Covid-19 Vaccine in Adolescents. N. Engl. J. Med. 2021 Jul. 15;385(3):239-250. doi: 10.1056/NEJMoa2107456. Epub 2021 May. 27. PMID: 34043894; PMCID: PMC8174030.
[6]. Olson SM, Newhams MM, Halasa NB, Price AM, Boom JA, Sahni LC, et al. Effectiveness of Pfizer-BioNTech mRNA Vaccination Against COVID-19 Hospitalization Among Persons Aged 12-18 Years - United States, June-September 2021. MMWR. Morb. Mortal. Wkly. Rep. 2021 Oct. 22;70(42):1483-1488. doi: 10.15585/mmwr.mm7042e1. PMID: 34673751.
[7]. Bozkurt B, Kamat I, Hotez PJ. Myocarditis With COVID-19 mRNA Vaccines. Circulation. 2021 Aug. 10;144(6):471-484. doi: 10.1161/CIRCULATIONAHA.121.056135. Epub 2021 Jul. 20. PMID: 34281357; PMCID: PMC8340726.
[8]. Dionne A, Sperotto F, Chamberlain S, et al. Association of Myocarditis With BNT162b2 Messenger RNA COVID-19 Vaccine in a Case Series of Children. JAMA. Cardiol. Published online August 10, 2021. doi:10.1001/jamacardio.2021.3471.
[9]. Das BB, Kohli U, Ramachandran P, Nguyen HH, Greil G, Hussain T, et al. Myopericarditis after messenger RNA Coronavirus Disease 2019 Vaccination in Adolescents 12 to 18 Years of Age. J. Pediatr. 2021 Nov.;238:26-32.e1. doi: 10.1016/j.jpeds.2021.07.044. Epub 2021 Jul. 30. PMID: 34339728; PMCID: PMC8321962.
[10]. Centers for Disease Control and Prevention. Pfizer-BioNTech [Internet]. 2021 [cited 2021 Nov. 14]. Available from: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/different-vaccines/Pfizer-BioNTech.html.
[11]. Melbourne Vaccine Education Centre. G6PD deficiency and vaccines [Internet]. 2021 [cited 2021 Nov. 14]. Available from: https://mvec.mcri.edu.au/references/g6pd-deficiency-and-vaccines/.
[12]. Centers for Disease Control and Prevention. Clinical Considerations: Myocarditis and Pericarditis after Receipt of mRNA COVID-19 Vaccines Among Adolescents and Young Adults [Internet]. 2021 [cited 2021 Nov. 20]. Available from: https://www.cdc.gov/vaccines/covid-19/clinical-considerations/myocarditis.html.

วันที่ตอบ : 07 ก.พ. 65 - 13:36:44




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110