ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การใช้ ceftriaxone ในผู้ป่วย AKI

ถ้าผู้หญิงเป็นกรวยไตอักเสบแบบcomplicatedแล้วเกิดAKIสามารถให้ceftriaxoneได้หรือไม่ และ AKIสามารถเกิดจากceftriaxoneได้หรือไม่อย่างไร

[รหัสคำถาม : 278] วันที่รับคำถาม : 30 ก.ย. 64 - 11:25:46 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) เป็นการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน (Upper urinary tract infection; UTI) อาการที่พบได้ เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดบริเวณแอ่งกระดูกสันหลังกับแนวซี่โครงสุดท้าย (costovertebral angle) คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย และอาจมีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบนำมาก่อน เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหลักจะเป็นแบคทีเรียกรัมลบ และเชื้อที่พบบ่อยที่สุดคือ E.coli (ประมาณร้อยละ 80) การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทได้แก่ 1) การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนแบบไม่ซับซ้อน (Uncomplicated UTI) ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ในระยะเวลาอันสั้น และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา มักพบในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีระบบทางเดินปัสสาวะปกติ 2) การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนแบบซับซ้อน (Complicated UTI) การรักษามีความยุ่งยาก มีความเสี่ยงในการติดเชื้อรุนแรง มักพบในผู้ที่มีความผิดปกติในทางเดินปัสสาวะ เช่น การอุดกั้นหรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และผู้ที่มีการทำงานของไตผิดปกติ และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ[1]
.
ตามแนวทางการรักษาของ American Family Physician (AAFP) ปี 2011 แนะนำการใช้ยาสำหรับรักษาภาวะกรวยไตอักเสบที่มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนแบบซับซ้อน[2] ได้แก่ Ciprofloxacin 400 มิลลิกรัม บริหารทางหลอดเลือดดำ วันละ 2 ครั้ง, หรือ Levofloxacin 250-500 มิลลิกรัม บริหารทางหลอดเลือดดำ วันละครั้ง หรือ Ceftriaxone 1 กรัม บริหารทางหลอดเลือดดำ วันละครั้ง, หรือยากลุ่ม Aminoglycosides (เช่น Gentamicin 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ tobramycin 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม บริหารทางหลอดเลือดดำ วันละครั้ง), หรือ Imipenem/cilastatin 500 มิลลิกรัม บริหารทางหลอดเลือดดำ ทุก 6 ชั่วโมง
.
ยา Ceftriaxone เป็นยาในกลุ่ม Cephalosporins ขนาดยาที่ใช้รักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนแบบซับซ้อน คือ 1 กรัม บริหารทางหลอดเลือดดำ วันละครั้ง เป็นระยะเวลา 5-14 วัน ติดตามผลเพาะเชื้อและปรับเปลี่ยนยาตามผลความไวของเชื้อต่อยา และสามารถเปลี่ยนเป็นยาในรูปแบบรับประทานได้หากอาการทางคลินิกดีขึ้น[3] อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น หน้าแดง ใจสั่น ผื่นคัน ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปวดหัว ชัก ติดเชื้อ Clostridioides difficile ระดับเอนไซม์ตับ (AST, ALT, alkaline phosphatase, bilirubin) เพิ่มขึ้น และมีรายงานการเกิดดีซ่าน, การทำงานของไตผิดปกติ (ระดับ blood urea nitrogen (BUN), serum creatinine เพิ่มขึ้น) เป็นต้น[3],[4] การปรับขนาดยา Ceftriaxone ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง แนะนำดังนี้[3] 1) ค่า Creatinine Clearance มากกว่า 15 มิลลิลิตรต่อนาที: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา 2) ค่า Creatinine Clearance น้อยกว่า 15 มิลลิลิตรต่อนาที: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา แต่ยังไม่มีการศึกษาการใช้ยาในขนาดที่สูงกว่า 2 กรัมต่อวัน จึงควรมีการติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องร่วมด้วย
.
สำหรับข้อมูลทางเภสัชจลนศาสตร์ของ ceftriaxone ยานี้ถูกแปรรูปน้อยมากในร่างกาย ยาจะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะประมาณร้อยละ 33 - 67 ในรูปไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนที่เหลือขับออกทางอุจจาระในรูปไม่ออกฤทธิ์[3] จากการศึกษาทางเภสัชจลนศาสตร์ของยา Ceftriaxone ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องในระดับต่าง ๆ พบว่า ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องเมื่อเทียบกับผู้ที่มีการทำงานของไตปกติ ยา ceftriaxone จะมีค่าครึ่งชีวิต (half-life) เพิ่มขึ้น 2 เท่า และมีอัตราขจัดยา (plasma clearance) ลดลงประมาณร้อยละ 50 โดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง แต่ขนาดยาที่ใช้ไม่ควรเกิน 2 กรัมต่อวัน (2 กรัม วันละครั้ง หรือ 1 กรัม ทุก 12 ชั่วโมง)[3],[4],[5]
.
มีรายงานการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute kidney injury) ในผู้ที่ใช้ยา ceftriaxone โดยเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันระหว่างที่เข้ารับการรักษาตัวในหอผู้ป่วยโรคติดเชื้อและใช้ยาปฏิชีวนะ รวบรวมข้อมูลเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่า มีผู้ป่วย 76 รายจากทั้งหมด 424 ราย (ร้อยละ 17.9) เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน โดยพบว่า มีประวัติใช้ยา ceftriaxone เดี่ยว ๆ ร้อยละ 1.3 และเมื่อใช้ ceftriaxone ร่วมกับยากลุ่ม aminoglycoside จะพบภาวะไตวายเฉียบพลันร้อยละ 17 และพบผลึกสารในปัสสาวะ (crystalluria) และพบนิ่วในไต (nephrolithiasis) ร่วมด้วย[3],[6]

เอกสารอ้างอิง
[1]. วรพจน์ ชุณหคล้าย, อภิรักษ์ สันติงามกุล. Common Urologic Problems for Medical Student. กรุงเทพฯ: สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย; 2558.
[2]. Colgan R, Williams M, Johnson JR. Diagnosis and treatment of acute pyelonephritis in women. Am. Fam. Physician. 2011 Sep. 1;84(5):519-26.
[3]. Lexicomp, Inc. ceftriaxone: Drug information. In:Post TW, ed.UpToDate.Waltham: UpToDate; 2017 (Accessed on Dec. 11, 2022).
[4]. McEvoy GK, Snow EK, Miller J. AHFS Drug Information Essentials. USA: American Society of Health-System Pharmacists, 2018. 126-143.
[5]. Patel IH, Sugihara JG, Weinfeld RE, Wong EG, Siemsen AW, Berman SJ. Ceftriaxone pharmacokinetics in patients with various degrees of renal impairment. Antimicrob Agents Chemother. 1984 Apr.;25(4):438-42.
[6]. Khalili H, Bairami S, Kargar M. Antibiotics induced acute kidney injury: incidence, risk factors, onset time and outcome. Acta. Med. Iran. 2013;51(12):871-8.

วันที่ตอบ : 07 มี.ค. 66 - 13:47:06




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110