ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Antihistamine ในหญิงให้นมบุตร

อยากทราบว่ายาใหม่ๆ levocetirizine, Desloratadine, Bilastine สามารถให้ในหญิงในนมบุตรได้มั้ยคะ

[รหัสคำถาม : 279] วันที่รับคำถาม : 01 ต.ค. 64 - 13:25:23 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การพิจารณาเลือกใช้ยาในหญิงให้นมบุตร จำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อทารก เนื่องจากยาบางชนิดสามารถขับออกทางน้ำนมได้ และยาอาจส่งผลต่อการผลิตน้ำนมของมารดาได้[1,2] ยากลุ่ม H1-antihistamine แบ่งตามฤทธิ์ที่ทำให้ง่วงออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ยากลุ่ม antihistamines ที่ทำให้ง่วง (Sedating Antihistamines) เช่น Chlorphenamine, Hydroxyzine เป็นต้น และยากลุ่ม antihistamines ที่ทำให้ง่วงน้อย (Non-Sedating Antihistamines) เช่น Loratadine, Desloratadine, Levocetirizine เป็นต้น[1,2] ยากลุ่ม Sedating Antihistamines จะถูกขับออกผ่านทางน้ำนมได้มากกว่ายากลุ่ม Non-Sedating Antihistamines อาจทำให้เด็กที่ดื่มนมแม่มีอาการง่วงนอน (drowsiness) หรือมีอารณ์หงุดหงิด (irritability) ได้[1,2]
ยา Levocetirizine, Desloratadine และ Bilastine จัดเป็นยาในกลุ่ม Non-Sedating Antihistamines โดยยาทั้ง 3 ชนิด จากการสืบค้นข้อมูล ไม่พบข้อมูลการศึกษาในหญิงให้นมบุตร[3] แต่เนื่องจากยา Levocetirizine เป็น enantiomer ของยา Cetirizine ส่วนยา Desloratadine เป็นสารออกฤทธิ์ (active metabolite) ของยา Loratadine ในที่นี้จึงให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลของยา Cetirizine และ ยา Loratadineในหญิงให้นมบุตร[3,4] มีการศึกษาในมารดาให้นมบุตร 3 ราย ที่รับประทานยา Cetirizine ขนาด 10 มิลลิกรัม วันละครั้ง หลังจากรับประทานยาผ่านไป 2 ชั่วโมง และ 24 ชั่วโมง พบระดับยาเฉลี่ยในน้ำนมมีค่าเท่ากับ 49 ไมโครกรัมต่อลิตร และ 21.1 ไมโครกรัมต่อลิตร ตามลำดับ และไม่มีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ในเด็ก[4] ส่วนยา Loratadine มีการศึกษาในหญิงให้นมบุตร 6 ราย ที่รับประทานยา Loratadine ขนาด 40 มิลลิกรัม ครั้งเดียว พบว่า หลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมง, 5.3 ชั่วโมง และ 48 ชั่วโมง ระดับยาในน้ำนมมีค่าเท่ากับ 29.2 ไมโครกรัมต่อลิตร, 16 ไมโครกรัมต่อลิตร และ 11.7 ไมโครกรัมต่อลิตร ตามลำดับ[4]
ส่วนข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์ในเด็กที่ได้รับยา Loratadine ผ่านทางน้ำนม ในหญิงให้นมบุตรจำนวน 51 ราย พบว่า มีเด็กเกิดอาการง่วงนอน 2 ราย และมีหญิงให้นมบุตร 1 ราย ที่มีปริมาณน้ำนมลดลง[4]
มีการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการใช้ยากลุ่ม Antihistamine ในหญิงให้นมบุตร โดยค้นหาการศึกษาจาก Medline, Embase, LactMed, Scopus, Web of Science, Cochrane Library และ PsycINFO จากการรวบรวมข้อมูล 9 การศึกษาเกี่ยวกับการขับออกของยา Cetirizine และยา Loratadine ผ่านทางน้ำนม มีการคำนวณเป็นร้อยละของยาที่เด็กได้รับผ่านน้ำนมเทียบกับขนาดยาที่มารดารับประทาน (relative infant dose) (โดยคำนวณจากขนาดยาที่เด็กได้รับผ่านน้ำนม (ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน) คูณกับขนาดยาที่มารดารับประทาน (ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน) แล้วนำค่าที่ได้คูณ 100) พบว่า ยา Cetirizine และยา Loratadine มีค่า relative infant dose เท่ากับร้อยละ 1.8 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ โดยไม่มีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์ในเด็กที่ได้รับยา Loratadine ผ่านทางน้ำนม ส่วนยา Cetirizine ไม่มีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์ในการศึกษาเช่นเดียวกัน[6]
การพิจารณาเลือกใช้ยากลุ่ม H1-antihistamine ในหญิงให้นมบุตร ควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้ยากับประโยชน์ที่ได้รับ ความเสี่ยงของอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นในเด็กที่ได้รับยาผ่านทางน้ำนม เช่น ง่วงนอน มีอารมณ์หงุดหงิด เป็นต้น และการใช้ยากลุ่ม H1-antihistamine อาจทำให้มารดามีปริมาณน้ำนมลดลงได้ โดยทั่วไปแนะนำให้ใช้ยากลุ่ม Non-Sedating Antihistamines ในหญิงให้นมบุตรหากมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ยา Levocetirizine, Desloratadine หรือ Bilastine ยังไม่มีข้อมูลการใช้ในหญิงให้นมบุตร

เอกสารอ้างอิง
[1]. National Health Service. Which oral antihistamines are safe to use whilst breastfeeding [internet]. [cited 10 November 2021]. Available from: https://www.sps.nhs.uk/wp-content/uploads/2018/05/QA206-3_AntihistaminesBM_FINAL.pdf.
[2]. Government of Western Australia, Department of Health. Medications and breastfeeding [internet]. [cited 10 November 2021]. Available from: https://www.healthywa.wa.gov.au/Articles/J_M/Medications-and-breastfeeding#:~:text=Non%2Ddrowsy%20antihistamines%20such%20as,safe%20to%20use%20whilst%20breastfeeding.
[3]. Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [cited 10 November 2021]. Available from: http://online.lexi.com.
[4]. Drugs and Lactation Database (LactMed) [Internet]. Bethesda (MD): National Library of Medicine (US); 2006-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK501922/.
[5]. Beauchamp GA, Hendrickson RG, Horowitz BZ, Spyker DA. Exposures Through Breast Milk: An Analysis of Exposure and Information Calls to U.S. Poison Centers, 2001-2017. Breastfeed Med. 2019;14(7):508-512.
[6]. Ngo E, Spigset O, Lupattelli A, et al. Antihistamine use during breastfeeding with focus on breast milk transfer and safety in humans: A systematic literature review [published online ahead of print, 2021 Sep 29]. Basic Clin Pharmacol Toxicol. 2021;10.1111/bcpt.13663.

วันที่ตอบ : 01 ธ.ค. 64 - 12:00:53




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110