ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
อายุ17ปีเป็นโรคG6PD ฉีดไฟเซอร์ได้ไหมคะ

หนูอายุ17ปี มีโรคประจำตัวเป็น G6PD สามารถฉีดวัคซัน ไฟเซอร์ได้มั้ยคะ เเล้วจะมีผลข้างเคียงรุนเเรงมากมั้ยคะ ขอสอบถามผู้รู้หน่อยนะคะ. ขอบคุณมากค่ะ

[รหัสคำถาม : 284] วันที่รับคำถาม : 11 ต.ค. 64 - 17:14:03 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ภาวะพร่องเอนไซม์จี-ซิก-พีดี(G6PD deficiency) เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมของโครโมโซมเพศชนิดโครโมโซมX ซึ่งเอนไซม์ G6PD มีหน้าที่สำคัญในการช่วยป้องกันเม็ดเลือดแดงจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ ดังนั้นในผู้ที่มีระดับเอนไซม์ G6PD ต่ำกว่าปกติจึงเกิดเม็ดเลือดแตกแตกได้ง่ายโดยเฉพาะเมื่อได้รับปัจจัยกระตุ้น[1]
ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกแบบเฉียบพลัน
1. การติดเชื้อ
2. การได้รับยาบางชนิด เช่น primaquine, chloroquine,sulfanilamide, sulfacetamide, sulfapyridine, sulfamethoxazone, dapsone,nitrofurantoin, nalidixic acid, ,chloramphenicol, ciprofloxacin, acetanilid, aspirin, probenecid, dimercaprol, vitamin K analogs, methylene blue, ascorbic acid
3. ได้รับสารออกซิแดนท์เช่น divicine และ isouramil ในถั่วปากอ้า (Fava beans) หรือการสัมผัสลูกเหม็น[2]
วัคซีนไฟเซอร์ หรือโคเมอร์เนตี (ComirnatyTM) เป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA Vaccine) โดย มีข้อบ่งใช้สําหรับฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ผู้ที่มีข้อห้ามใช้ในการได้รับวัคซีนไฟเซอร์
-ผู้ที่แพ้ตัวยา หรือส่วนประกอบตัวใดตัวหนึ่งของวัคซีนนี้[3]
-ผู้ที่มีการแพ้รุนแรงเช่น anaphylaxis หลังจากได้รับวัคซีนชนิดนี้ในเข็มแรก [4]
ผู้ที่มีข้อควรระวังในการได้รับวัคซีน
-กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
-ผู้ที่มีอาการไข้สูงเฉียบพลันหรือการติดเชื้อเฉียบพลัน
-ภาวะเกล็ดเลือดต่ำและความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
เช่นเดียวกับยาฉีดเข้ากล้ามเนื้ออื่น ๆ ควรฉีดวัคซีนด้วยความระมัดระวังในผู้ท่ีได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดตํ่า หรือผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด (เช่น โรคฮีโมฟิเลีย) เนื่องจากอาจเกิดภาวะเลือดออกหรือจ้ำเลือดหลังจากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อในบุคคลเหล่านี้
-ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง[3]
-ผู้ที่เคยเป็นกล้ามเนื้ออัมพาต อ่อนแรงเฉียบพลัน (Guillain-Barré syndrome) หรือเคยมีอาการหลังฉีดวัคซีนเข็มแรก
-ผู้ที่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในกลไกอื่น เช่นviral vector
ผลข้างเคียงที่พบจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่พบได้บ่อยและไม่รุนแรง เช่น
เจ็บบริเวณที่ฉีด 66-90% ,บวมบริเวณที่ฉีด 4-13% ,ท้องเสีย6- 11% , คลื่นไส้ ≤1%, อาเจียน <1 - 3% ,ไข้ 5-49% ,อ่อนเพลีย 33-68% ,ปวดศีรษะ25-65% ,ปวดข้อ 9-25% [5]
จากข้อมูลข้างต้นพบว่า วัคซีนไฟเซอร์ไม่ได้เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดเม็ดเลือดแดงแตกในผู้ป่วยโรค G6PD[2]และโรค G6PD ไม่ได้เป็นข้อห้ามในการได้รับวัคซีนไฟเซอร์ และในปัจจุบันยังไม่มีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงหรือเกิดเม็ดเลือดแดงแตกในผู้ป่วยโรค G6PD ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์[3,4,5] มีเพียงรายงานการเกิดเม็ดเลือดแดงแตกในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อต้านเกล็ดเลือด หรือ โรคต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก[6,7]ดังนั้นผู้ป่วยโรค G6PD จึงสามารถฉีดวัคซีนได้ แต่เพื่อความปลอดภัยแนะนำให้สังเกตอาการหลังฉีดวัคซีน หากมีอาการที่ผิดปกติจากผลข้างเคียงทั่วไปหรือมีอาการของภาวะเม็ดเลือดแดงแตก เช่น อ่อนเพลีย มีปัสสาวะเป็นสีน้ำปลาหรือสีโค้ก ร่วมกับอาการซีด ตัวเหลือง ตาเหลือง ให้รีบมาพบแพทย์[2]นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานว่าในผู้ป่วยโรค G6PDหากติดเชื้อโควิด-19 อาจทำให้มีอาการเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงและเป็นโลหิตจางมากกว่าคนที่มีระดับG6PDปกติ[8]

เอกสารอ้างอิง
[1]. กิตติ ต่อจรัส. โรคพร่องเอนไซม์ G6PD [อินเตอร์เน็ต].กรุงเทพฯ:สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย. [เข้าถึงเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://tsh.or.th/Knowledge/Details/43.
[2]. พิมพ์ลักษณ์ เจริญขวัญ. G6PD Deficiency and Other Hereditary Hemolytic Anemia[อินเตอร์เน็ต].กรุงเทพฯ:ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย[เข้าถึงเมื่อ 16พฤศจิกายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20180515102814.pdf.
[3]. สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา. โคเมอร์เนตี(COMIRNATYTM). [อินเทอร์เน็ต].กรุงเทพฯ:สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา;2564[เข้าถึงเมื่อ 13พฤศจิกายน 2564].เข้าถึงได้จาก:https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/Vaccine/U1DR1C1072640000811C-SPC-TH.pdf?fbclid=IwAR3IQ2dwTDUBTXv4UJ2hmuBYcfJGIhJvNw0aSvBi2TPb7I9Jtqd_EEsrmM0.
[4]. Centers for Disease Control and Prevention. Interim Clinical Considerations for Use of COVID-19 Vaccines Currently Approved or Authorized in the United States[Internet].Georgia: Centers for Disease Control and Prevention;2021[Cited 2021 November 13].Available from: Interim Clinical Considerations for Use of COVID-19 Vaccines | CDC.
[5]. COVID-19 Vaccine (mRNA). In: Specific Lexicomp Online Database [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2021[Updated 2021 Oct ;cited 13 November 2021]. Available from: http://online.lexi.com.
[6]. Okuno S, Hashimoto K, Shimizu R, Takagi E, Kajiguchi T. Development of autoimmune hemolytic anemia after BNT162b2 mRNA COVID-19 vaccination. Rinsho Ketsueki. [Internet].2021[Cited 2021 November 20]:62(10):1 Available from: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34732625/.
[7]. Hidaka D, Ogasawara R, Sugimura S, et al. New-onset Evans syndrome associated with systemic lupus erythematosus after BNT162b2 mRNA COVID-19 vaccination . Int.J. Hematol. [Internet].2021[Cited 2021 November 20]:1-4 Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/
articles/PMC8536917/pdf/12185_2021_Article_3243.pdf.
[8]. Yang HC, Ma TH, Tjong WY, Stern A, Chiu DT. G6PD deficiency, redox homeostasis, and viral infections: implications for SARS-CoV-2 (COVID-19). Free Radic Res[Internet]. 2021 [Cited 2021 November13].Available from :https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7799378/pdf/IFRA_0
_1866757.pdf.

วันที่ตอบ : 14 ก.พ. 65 - 10:35:13




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110