ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาที่ใช้รักษาไมเกรน

เราสามารถใช้ ergonovineและ ondansetronแทน sumatriptanในการรักษาไมเกรนได้มั้ยคะ

[รหัสคำถาม : 287] วันที่รับคำถาม : 23 ต.ค. 64 - 20:52:03 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ปวดศีรษะไมเกรน ส่วนใหญ่เป็นอาการปวดศีรษะข้างเดียว และมักเป็นซ้ำ ๆ และอาจจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และกลัวแสง เป็นต้น[1] ปวดศีรษะไมเกรนแบ่งเป็น migraine with aura และ migraine without aura ดังนี้ migraine with aura คือปวดศีรษะไมเกรนที่มีอาการเตือน เช่น การมองเห็นผิดปกติ มีอาการชาที่มือ แขน รอบปาก หรือไม่สามารถพูดได้ชั่วคราว โดยจะเกิดขึ้นก่อนอาการปวดศีรษะประมาณ 5-60 นาที ส่วน migraine without aura คือปวดศีรษะไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือนดังที่กล่าวข้างต้น[2] ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการปวดศีรษะ เช่น การอดอาหาร การอดนอน ความเครียด ความโกรธ การอยู่ในที่ที่มีแสงสว่างมากเกินไป มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือการได้รับกลิ่นที่รุนแรง[1]
จากแนวทางการรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน ยาสำหรับรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนเฉียบแบบพลันที่ควรเลือกใช้เป็นลำดับแรกคือ ยา paracetamol, ยากลุ่ม NSAIDs, และยากลุ่ม triptans[2] การรักษาจะได้ผลมากขึ้นหากเริ่มใช้ในช่วงเริ่มต้นของอาการปวดศีรษะ การเลือกใช้ยาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ กล่าวคือ 1) อาการปวดศีรษะระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง แนะนำให้ใช้ยา paracetamol หรือยากลุ่ม NSAIDs แต่หากอาการไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาใช้ยากลุ่ม NSAIDs ร่วมกับยากลุ่ม triptans 2) อาการปวดศีรษะระดับปานกลางถึงรุนแรง แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม triptans รูปแบบรับประทานเป็นลำดับแรก หากมีอาการคลื่นอาเจียนหรือปวดศีรษะรุนแรง ให้พิจารณาใช้ยาต้านอาเจียนร่วมด้วย หรือใช้ยารักษาไมเกรนที่ไม่ใช่รูปแบบรับประทาน เช่น ยา sumatriptan ชนิดฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังหรือพ่นจมูก หรือยา dihydroergotamine ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ[3] ส่วนยาทางเลือกรอง (second-line options) เช่น Antiemetics (Chlorpromazine, Droperidol, Metoclopramide, Prochlorperazine), ergotamine, dihydroergotamine, Parenteral NSAID (ketorolac)[2] ส่วนยาที่แนะนำสำหรับป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน (ในผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ ≥ 4 ครั้ง/เดือน หรือ ≥ 8 วัน/เดือน, มีการใช้ยาบรรเทาอาการมากเกินไป หรือต้องการให้ความถี่ในการปวดศีรษะน้อยลง) เช่น ยา Divalproex, Frovatriptan, Metoprolol, Propranolol, Timolol, และ Topiramate[4]
Ondansetron เป็นยาในกลุ่ม selective 5-HT3 receptor antagonist มีข้อบ่งใช้ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาคือ ป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด จากการผ่าตัด หรือจากการฉายรังสี[5] สำหรับการใช้ยานี้เพื่อรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนยังมีข้อมูลจากการศึกษาน้อยมาก รวมทั้งจากแนวทางการรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน ไม่ได้แนะนำการใช้ยานี้[2],[6],[7] นอกจากนั้น Ondansetron อาจมีอาการข้างเคียงทำให้ปวดศีรษะได้[3}
ส่วนยา ergonovine เป็นยาในกลุ่ม ergot derivative มีข้อบ่งใช้ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ รักษาและป้องกันอาการตกเลือดหลังคลอดหรือหลังแท้งบุตร[8] จากแนวทางการรักษาปวดศีรษะไมเกรน ไม่ได้แนะนำให้ใช้ยานี้เช่นเดียวกัน[9]
การศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับการใช้ยา ergonovine และ ondansetron ในการรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน จากการสืบค้นข้อมูลโดยใช้ฐานข้อมูล Pubmed พบการศึกษาเพียงเล็กน้อย เช่น
1) การศึกษาแบบ pre-experimental design ในผู้ป่วยอายุ 22-40 ปี จำนวน 40 ราย ซึ่งได้รับ ergonovine maleate ขนาด 0.2 mg วันละ 3-4 ครั้ง โดยให้ 1 วันก่อนมีประจำเดือนไปจนถึง 1 วันหลังประจำเดือนหมด เพื่อป้องกันและรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนเฉียบพลัน พบว่า หลังจากใช้ยาเป็นเวลา 3 เดือน ผู้ป่วย 24 ราย (ร้อยละ 60) มีความรุนแรงของอาการปวดศีรษะลดลง, ผู้ป่วย 6 ราย (ร้อยละ 15) มีความถี่ของอาการปวดศีรษะลดลง, และผู้ป่วย 14 ราย (ร้อยละ 35) มีอาการไม่ได้ดีขึ้นหลังจากใช้ยาและขอหยุดการใช้ยา สำหรับการใช้ยาเป็นเวลา 6 เดือน พบว่า ผู้ป่วย 20 ราย (ร้อยละ 50) มีความรุนแรงของอาการปวดศีรษะลดลง, ผู้ป่วย 2 ราย (ร้อยละ 5) มีความถี่ของอาการปวดศีรษะลดลง, และผู้ป่วยอีก 6 ราย (ร้อยละ 15) อาการไม่ได้ดีขึ้นหลังจากใช้ยา[10] อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้มีจุดอ่อนหลายประการ เช่น มีจำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษาน้อย ไม่มีการสุ่ม และไม่มีกลุ่มควบคุม
2) การศึกษาแบบ retrospective cohort study ในผู้ป่วยอายุ 7-18 ปี จำนวน 98 ราย เพื่อประเมินประสิทธิภาพการใช้ ondansetron ในการรักษาปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลัน พบว่า ประสิทธิภาพในการลดอาการปวดศีรษะมีความใกล้เคียงกัน (วัดโดยใช้ verbal pain score) ทั้งในกลุ่มที่ได้รับ ondansetron (จำนวนตัวอย่าง= 42 ราย), กลุ่มที่ได้รับ antidopaminergic (prochlorperazine หรือ metoclopramide) (จำนวนตัวอย่าง=22 ราย), และกลุ่มที่ไม่ได้รับ ondansetron หรือ antidopaminergic (จำนวนตัวอย่าง=34 ราย) โดยมีผู้ป่วยที่ค่า pain score ลดลงมากกว่าหรือเท่ากับ 50% เท่ากับร้อยละ 90, 91, และ 94 ตามลำดับ (ผู้ป่วยทุกกลุ่มจะได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ, ยา paracetamol, ยากลุ่ม NSAIDs, ยา diphenhydramine, หรือ opioids ร่วมด้วย) แต่กลุ่มที่ได้รับยา ondansetron และกลุ่มที่ได้รับยา antidopaminergic ไม่มีผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์ซ้ำภายใน 48 ชั่วโมงเนื่องจากอาการปวดศีรษะ ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับยามีผู้ป่วยจำนวน 2 รายที่กลับมาพบแพทย์ซ้ำภายใน 48 ชั่วโมงเนื่องจากอาการปวดศีรษะ[11]
โดยสรุป ตามแนวทางการรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน ยาที่แนะนำเป็นลำดับแรก ได้แก่ ยา paracetamol, ยากลุ่ม NSAIDs, หรือยากลุ่ม triptans หากใช้ไม่ได้ผล สามารถใช้ยา ergotamine, dihydroergotamine, dexamethasone, magnesium sulfate, opioids, หรือ valproate เป็นต้น ทั้งนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ส่วนยา ergonovine และ ondansetron ยังไม่มีการระบุถึงการใช้ยาเหล่านี้ในแนวทางการรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรน ทั้งนี้อาจเนื่องจากมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงประสิทธิภาพของยาน้อย

เอกสารอ้างอิง
[1]. Bussone G. Pathophysiology of migraine. Neurol. Sci. 2004;25 Suppl 3:S239-41.
[2]. Mayans L, Walling A. Acute migraine headache: treatment strategies. Am. Fam. Physician. 2018;97(4):243-51.
[3]. Schwedt TJ. Acute treatment of migraine in adults. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2022. (Accessed on January 12, 2022.)
[4]. Ha H, Gonzalez A. Migraine headache prophylaxis. Am Fam Physician. 2019;99(1):17-24.
[5]. Ondansetron. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 16 January 2022; cited 17 January 2022]. Available from: http://online.lexi.com
[6]. Ailani J, Burch RC, Robbins MS; Board of directors of the American headache society. The American headache society consensus statement: Update on integrating new migraine treatments into clinical practice. Headache. 2021;61(7):1021-1039.
[7]. Oskoui M, Pringsheim T, Holler-Managan Y, Potrebic S, Billinghurst L, Gloss D, et al. Practice guideline update summary: Acute treatment of migraine in children and adolescents: Report of the guideline development, dissemination, and implementation subcommittee of the American academy of neurology and the American headache society. Neurology. 2019;93(11):487-499.
[8]. Ergonovine. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 16 January 2022; cited 17 January 2022]. Available from: http://online.lexi.com
[9]. Tfelt-Hansen P, Saxena PR, Dahlöf C, Pascual J, Láinez M, Henry P, et al. Ergotamine in the acute treatment of migraine: a review and European consensus. Brain. 2000;123(Pt 1):9-18.
[10]. Gallagher RM. Menstrual migraine and intermittent ergonovine therapy. Headache. 1989;29(6):366-7.
[11]. Talai A, Heilbrunn B. Ondansetron for acute migraine in the pediatric emergency department. Pediatr. Neurol. 2020;103:52-6.

วันที่ตอบ : 21 ม.ค. 65 - 17:16:05


No : 2

ยาที่สามารถใช้เพื่อลดอาการปวดหัวไมเกรนในระยะที่มีอาการปวดหัวเฉียบพลัน มี 4 กลุ่มหลักคือ 1) acetaminophen 2) ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น Ibuprofen, diclofenac และ naproxen เป็นต้น 3) ยากลุ่ม ergot alkaloids ได้แก่ Ergotamine และ Dihydroergotamine 4) ยากลุ่ม triptans เช่น sumatriptan, zolmitriptan และ naratriptan เป็นต้น มียาเสริมที่สามารถใช้ร่วมได้กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการอื่นขึ้น เช่น ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ให้ใช้ domperidone หรือ metoclopramide[1] ส่วน Ondansetron ซึ่งเป็นยาต้านการอาเจียนเช่นกันแต่ไม่ได้แนะนำให้ใช้ในการต้านอาเจียนจากไมเกรน เนื่องจากพบรายงานการเกิดอุบัติการณ์ของอาการปวดศีรษะที่ค่อนข้างสูงจากการใช้ยา[2,3]
ยา ergonovine เป็นยากลุ่ม Ergot alkaloid (เช่นเดียวกับ ergotamine) กระตุ้น adrenergic, 5HT-1 และกระตุ้น dopamine D2 receptors[4,5] จึงส่งผลต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบของมดลูกเป็นหลักทำให้มดลูกเกิดการหดตัวอย่างต่อเนื่อง แต่มีผลทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดน้อย[6] ยานี้จึงมีข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันและรักษาภาวะตกเลือดหลังคลอด[4] เคยมีการนำยา ergonovine มาใช้รักษาไมเกรนในช่วงปี ค.ศ. 1980 พบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาไมเกรนแบบป้องกัน[7] การศึกษาในปี ค.ศ. 1989 พบว่ายา ergonovine มีประสิทธิภาพในการรักษาป้องกันไมเกรนที่เกิดขึ้นในผู้หญิงช่วงที่มีประจำเดือน หลังจากให้ยา ergonovine 3 เดือนพบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะน้อยลงร้อยละ 75 และหลังจาก 6 เดือนพบว่ามีผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะน้อยลงร้อยละ 55[8] แต่ในปัจจุบันยา ergonovine ไม่ได้ใช้ในการรักษาไมเกรน เพราะมียาที่จำเพาะต่อการรักษาไมเกรนและมีความปลอดภัยมากกว่า
ยา ergotamine เป็นยากลุ่ม Ergot alkaloid มีกลไกในการออกฤทธิ์รักษาอาการปวดศีรษะโดยการกระตุ้นตัวรับของสารสื่อประสาทซีโรโทนิน (serotonin) ชนิด 5-HT1A/2A/1B/1D ซึ่งกระตุ้น 5-HT1B และ 5-HT1D ทำให้หลอดเลือดที่ขยายตัวผิดปกติเกิดการหดตัวลงจึงลดอาการปวดศีรษะ แต่ ergotamine สามารถกระตุ้นตัวรับอื่นคือ α–adrenergic receptor และ Dopamine receptor subtype 2 (D2) ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ทำให้มีอาการคลื่นไส้เพิ่มขึ้น ส่วนยา sumatriptan จะออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ 5HT1B และ 5HT1D อย่างจำเพาะเจาะจง จึงทำให้ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการรักษาอาการปวดไมเกรนได้ดีโดยมีอาการข้างเคียงน้อยกว่ายา ergotamine[9]
โดยสรุปไม่ควรใช้ ergonovine ร่วมกับ Ondansetron แทนการใช้ Sumatriptan ในการรักษาอาการปวดไมเกรน ดังข้อมูลที่แสดงข้างต้น

เอกสารอ้างอิง
[1]. Worthington I, Pringsheim T, Gawel MJ, Gladstone J, Cooper P, Dilli E, Aube M, Leroux E, Becker WJ;Canadian Headache Society Acute Migraine Treatment Guideline Development Group. Canadian HeadacheSociety Guideline: acute drug therapy for migraine headache. Can J. Neurol Sci. 2013 Sep;40(5 Suppl 3):S1-S80.
[2]. Sharma R, Panda A. Ondansetron-induced headache in a parturient mimicking postdural puncture headache. Can J. Anaesth. 2010 Feb;57(2):187-8. doi: 10.1007/s12630-009-9226-3. Epub 2009 Dec 31. PMID: 20043218.
[3]. Singh V, Sinha A, Prakash N. Ondansetron-induced migraine-type headache. Can J. Anaesth. 2010 Sep;57(9):872-3. doi: 10.1007/s12630-010-9350-0. Epub 2010 Jul 27. PMID: 20661681.
[4]. Ergonovine. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 6 Jan 2021; cited 12 Nov 2021]. Available from: http://online.lexi.com. Subscription required to view.
[5]. Furman B. Ergometrine. In: Reference Module in Biomedical Sciences [Internet]. Elsevier; 2018. Available from: https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/ B9780128012383980486.
[6]. Ma YZ., Qiang GF., Du GH. (2018) Ergometrine and Ergotamine. In: Natural Small Molecule Drugs from Plants. Springer, Singapore. https://doi.org/10.1007/978-981-10-8022-7_39.
[7]. Raskin NH, Schwartz RK. Interval therapy of migraine: long-term results. Headache. 1980 Nov;20(6):336-40. doi: 10.1111/j.1526-4610.1980.hed2006336.x. PMID: 7216754.
[8]. Gallagher RM. Menstrual migraine and intermittent ergonovine therapy. Headache. 1989 Jun;29(6):366-7. doi: 10.1111/j.1526-4610.1989.hed2906366.x. PMID: 2759844.
[9]. Tfelt-Hansen P, Saxena PR, Dahlöf C, Pascual J, Láinez M, Henry P, Diener H, Schoenen J, Ferrari MD, Goadsby PJ. Ergotamine in the acute treatment of migraine: a review and European consensus. Brain. 2000 Jan;123 (Pt 1):9-18. doi: 10.1093/brain/123.1.9. PMID: 10611116.
[10]. Ondansetron. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 6 Jan 2021; cited 12 Nov 2021]. Available from: http://online.lexi.com. Subscription required to view.
[11]. Headache Classification Subcommittee of the International Headache, Society. The International Classification of Headache disorders: 3rd edition. Cephalalgia. 2018;38:1-211.

วันที่ตอบ : 10 ก.พ. 65 - 13:58:47




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110