ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยา tranexamic acid 250 mg

อยากทรายว่ายาตัวนี้ใช้รักษาอาการเจ็บคอ คอแดง ได้หรือไม่ค่ะ

[รหัสคำถาม : 292] วันที่รับคำถาม : 02 พ.ย. 64 - 16:51:21 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Tranexamic acid จัดเป็นอนุพันธ์ของกรดอมิโนไลซีน (lysine) สังเคราะห์ ออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายตัวของลิ่มเลือด (Antifibrinolytic Agent) โดยเข้าจับที่ lysine binding sites ตำแหน่งที่ 5 บนพลาสมิโนเจน (plasminogen) ทำให้ไม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นพลาสมิน ซึ่งโดยปกติพลาสมิโนเจนถูกเปลี่ยนเป็นพลาสมิน โดยเอนไซม์ tissue plasminogen activator ทำให้เกิดการสลายตัวของไฟบริน ทำให้เลือดไม่แข็งตัว[1] นอกจากนี้พลาสมินจะเพิ่มการสร้างโปรตีนคอมพลีเมนต์ (ชนิด C3 และ C5) (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งระบบภูมิคุ้มกัน) ส่งผลกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว และกระตุ้นการทำงานของโปรตีนคอมพลีเมนต์ที่จับกันเป็นกลุ่ม (complement complex) บนเม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจ (macrophages) ซึ่งเป็น inflammatory cell ที่ทำให้เกิดการหลั่งไซโตไคน์ (cytokines) ตามมา นำไปสู่กระบวนการอักเสบเกิดขึ้น[2] ดังนั้น Tranexamic acid จึงมีฤทธิ์ป้องกันภาวะเลือดออกผิดปกติ และมีฤทธิ์ลดการอักเสบ (Anti-inflammatory) ได้
ข้อบ่งใช้ Tranexamic acid ในประเทศไทย ได้แก่
- ใช้ในภาวะเลือดออกในช่องปาก (Oral bleeding) ที่ใช้ local measure แล้วไม่ได้ผล
- ใช้ป้องกันในกรณีที่จะทำหัตถการในช่องปากในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกง่าย (bleeding tendency)
- ภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติ (Menorrhagia)[3]
พบว่ายานี้มีข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ข้อบ่งใช้ของ Tranexamic acid ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้ป้องกันการเกิด Hemophilia Hemorrhage ในผู้ป่วยที่ถอนฟัน และรักษาประจำเดือนมามากผิดปกติ[4,5] ประเทศญี่ปุ่นรับรองให้ใช้ในภาวะการสลายตัวของลิ่มเลือดมากกว่าปกติ (Hyperfibrinolysis) ภาวะเลือดไหลผิดปกติ (abnormal haemorrhage) โรคผื่นแพ้อักเสบ (eczema) รวมทั้งการรักษาในโรคต่อมทอนซิลอักเสบ (tonsillitis) ที่มีอาการเจ็บคอ (pharyngeal pain) คอบวม (swelling) และแดง (redness)[6] แต่อย่างไรก็ตามไม่พบการศึกษาในการใช้ Tranexamic acid เพื่อการรักษาอาการเจ็บคอ คอแดงจากโรคคออักเสบ พบเพียงการศึกษาที่ใช้ในการผ่าตัดต่อมทอนซิลเพื่อลดการสูญเสียเลือด เป็นการศึกษา systemic review และ meta-analysis พบว่ายานี้สามารถลดค่าเฉลี่ยของปริมาณเลือดที่สูญเสียไปในระหว่างและหลังการผ่าตัดต่อมทอนซิลได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ได้ช่วยลดการเกิดภาวะเลือดออกหลังการผ่าตัด[7,8]
Tranexamic acid เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด จึงอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เช่น ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน[4,5] ส่วนอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆที่พบได้บ่อยคือ อาการปวดท้อง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ[3,5]
ในการรักษาอาการเจ็บคอ คอแดงจากโรคคออักเสบ ยาที่แนะนำเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว ได้แก่ ยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)[10] การศึกษาในเด็กอายุ 2 – 12 ปี ที่มีอาการเจ็บคอแบบเฉียบพลันจากโรคคออักเสบหรือต่อมทอนซิลอักเสบ พบว่ายาในกลุ่ม NSAIDs และ paracetamol สามารถลดอาการเจ็บคอได้ดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[12]
โดยสรุป Tranexamic acid ไม่ได้ใช้ในการรักษาอาการเจ็บคอ คอแดง แม้พบว่าเคยมีข้อมูลว่าเป็นข้อบ่งใช้ในบางประเทศ แต่ไม่พบการศึกษาที่ใช้ยานี้ในการรักษาอาการดังกล่าว นอกจากนี้ยานี้มีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ได้แก่ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จึงควรใช้ยาเมื่อมีความจำเป็นตามข้อบ่งใช้ของยา หากมีอาการเจ็บคอ คอแดง แนะนำให้ใช้ยาที่มีข้อมูลในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่ดี ได้แก่ ยาในกลุ่ม NSAIDs

เอกสารอ้างอิง
[1]. Maj Richard Reed, RAMC, LtCol Tom Woolley, RAMC, Uses of tranexamic acid, Continuing Education in Anaesthesia Critical Care & Pain, Volume 15, Issue 1, February 2015, Pages 32–37, https://doi.org/10.1093/bjaceaccp/mku009. [cited 2021 Nov. 11]
[2]. Heissig, Beate et al. “The multifaceted role of plasminogen in inflammation.” Cellular signalling vol. 75 (2020): 109761. doi:10.1016/j.cellsig.2020.109761 [cited 2021 Nov. 18]
[3]. Tranexamic acid. National Drug Information (NDI). กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา [สืบค้นเมื่อวันที่ 10/11/2564]
เข้าถึงได้จาก: http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/evidance_file/20170503183819.pdf
[4]. Tranexamic acid. In: DRUGDEX® System [database on the internet]. Greenwood Village, CO: Thomson Micromedex. [cited 2021 Nov. 10]
[5]. Tranexamic acid. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 6 Jan. 2021]. Available from: http://online.lexi.com. [cited 2021 Nov. 18]
[6]. McCormack, Paul L. “Tranexamic acid: a review of its use in the treatment of hyperfibrinolysis.” Drugs vol. 72,5 (2012): 585-617. doi:10.2165/11209070-000000000-00000 [cited 2021 Nov. 18]
[7]. Chan, Chee Ching et al. “Systematic review and meta-analysis of the use of tranexamic acid in tonsillectomy.” European archives of oto-rhino-laryngology : official journal of the European Federation of Oto-Rhino-Laryngological Societies (EUFOS) : affiliated with the German Society for Oto-Rhino-Laryngology - Head and Neck Surgery vol. 270,2 (2013): 735-48. doi:10.1007/s00405-012-2184-3 [cited 2021 Nov. 16]
[8]. Ng W, Jerath A, Wąsowicz M. Tranexamic acid: a clinical review. Anaesthesiol Intensive Ther. 2015;47(4):339-50. doi: 10.5603/AIT.a2015.0011. Epub 2015 Mar. 23. PMID: 25797505. [cited 2021 Nov. 13]
[9]. Brum, Marília Ribeiro et al. “Tranexamic acid in adenotonsillectomy in children: a double-blind randomized clinical trial.” International journal of pediatric otorhinolaryngology vol. 76,10 (2012): 1401-5. doi:10.1016/j.ijporl.2012.04.028 [cited 2021 Nov. 16]
[10]. Weber, Ruth. “Pharyngitis.” Primary care vol. 41,1 (2014): 91-8. doi:10.1016/j.pop.2013.10.010. [cited 2021 Nov. 13]
[11]. Ghlichloo I, Gerriets V. Nonsteroidal Anti-inflammatory Drugs (NSAIDs) [Updated 2021 May 12]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2021 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK547742/[cited 2021 Nov. 18]
[12]. Schachtel, B P, and W R Thoden. “A placebo-controlled model for assaying systemic analgesics in children.” Clinical pharmacology and therapeutics vol. 53,5 (1993): 593-601. doi:10.1038/clpt.1993.75 [cited 2021 Nov. 18]

วันที่ตอบ : 21 ก.พ. 65 - 16:08:13




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110