ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาควินีน ในการฟอกไต

พอดีเพิ่งเริ่มฟอกไตผ่านทางเส้นเลือด หมอจ่ายยา ชื่อ ควินีน แต่พอเสิร์ทอินเตอร์เนตรู้ว่าเป็นยาต้านมาลาเรีย แต่ว่าไม่ได้เป็นโรคมาลาเรีย และไม่ได้ไปพื้นที่เสี่ยงโรค อยากรู้ว่ายานี้ช่วยยังไงในการฟอกไต ใช้ยามากๆอันตรายมั้ย

[รหัสคำถาม : 293] วันที่รับคำถาม : 04 พ.ย. 64 - 09:52:50 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม อาจมีอาการแทรกซ้อนหลายประการ เช่น เมื่อยล้า อาการคัน ความผิดปกติของการนอนหลับ และการเกิดตะคริว ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดทรมาน และทำให้ต้องสิ้นสุดการฟอกเลือดก่อนครบเวลา[1,2,3]
...
สาเหตุของการเกิดตะคริวที่สัมพันธ์กับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมยังไม่ทราบแน่ชัด อาจสัมพันธ์กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย ภาวะความดันโลหิตต่ำขณะฟอกเลือด การส่งออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อบกพร่อง ระดับเลปตินในเลือดสูงขึ้น และการขาดคาร์นิทีนหรือขาดวิตามิน[1,2,3] คำแนะนำการแก้ไขภาวะตะคริว เช่น ลดการดึงสารน้ำออกจากร่างกาย หรือแก้ไขภาวะความดันต่ำโดยให้สารน้ำ หรือมีการยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็น เป็นต้น มีรายงานการใช้ยาควินิน (Quinine) รักษาอาการตะคริว โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาคือ ลดการกระตุ้นที่แผ่นปลายประสาทสั่งการและลดการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อ[1,2,3]
...
ยาควินิน จัดเป็นยาในกลุ่มรักษามาลาเรีย และมีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคมาลาเรียที่มีสาเหตุจากเชื้อพลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม[4,5] โดยอาจใช้เดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับยาอื่น ส่วนการใช้ยานอกข้อบ่งใช้ (off-labeled uses) เช่น ใช้รักษาโรคบาบีสิโอสิส (Babesiosis)[5,6] , รักษาหรือป้องกันตะคริวที่ขาเวลากลางคืนซึ่งส่งผลต่อการนอนหลับ[4] เป็นต้น
...
อาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ เช่น ปวดศีรษะ เหงื่อออกผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง หูอื้อ การได้ยินผิดปกติ การมองเห็นผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น[3,4,5]
...
สำหรับการใช้ยาควินินในการป้องกันการเกิดตะคริว มีการศึกษา เช่น 1) การศึกษาแบบสุ่ม (randomized double-blind placebo-controlled trial) ในผู้ป่วยที่ทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมสัปดาห์ละ 3 ครั้งและเกิดตะคริวระหว่างฟอกเลือด โดยกลุ่มตัวอย่างจะได้รับยาควินินขณะเริ่มต้นฟอกเลือดเป็นเวลา 12 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับยาหลอก พบว่า กลุ่มที่ได้รับยาควินินจะมีความถี่ของการเกิดตะคริวน้อยกว่ากลุ่มยาหลอก กล่าวคือ จากการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 162 ครั้งในแต่ละกลุ่ม กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับควินินเกิดตะคริว 10 ครั้ง (ความรุนแรงระดับเล็กน้อย 6 ครั้ง ระดับปานกลาง 2 ครั้ง และระดับรุนแรง 2 ครั้ง) ส่วนกลุ่มยาหลอกเกิดตะคริว 28 ครั้ง (ความรุนแรงระดับเล็กน้อย 17 ครั้ง ปานกลาง 5 ครั้งและรุนแรง 6 ครั้ง) และไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับอาการบ้านหมุน หูอื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย การมองเห็นผิดปกติ การได้ยินผิดปกติ และไม่มีรายงานเกี่ยวกับความผิดปกติของตับหรือระบบเลือด[7] 2) การศึกษาแบบสุ่มในผู้ป่วยที่ทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยกลุ่มตัวอย่างจะได้รับยาควินินตอนเริ่มต้นของฟอกเลือดเป็นเวลา 8 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับยาหลอก พบว่า กลุ่มที่ใช้ยาควินินตอนเริ่มต้นของการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จะมีความถี่ของการเป็นตะคริวลดลงมากกว่ากลุ่มยาหลอก และไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาควินิน[8]
...
ถึงแม้จะมีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาควินินในการป้องกันการเกิดตะคริวในผู้ป่วยไตวายดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ออกประกาศเตือนว่า การใช้ยาควินินในการป้องกันหรือรักษาตะคริวเป็นข้อบ่งใช้ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ และยานี้อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงต่อหัวใจได้[2,4,6]
...
จากการที่ไม่มีข้อมูลภูมิหลังของคำถาม รวมทั้งไม่มีข้อมูลรายละเอียดของโรคที่เป็นอยู่ จึงขอแนะนำว่า หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่ได้รับ สามารถสอบถามจากแพทย์ผู้รักษาโดยตรง และควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามนัด ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังจากใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหรือรีบไปพบแพทย์

เอกสารอ้างอิง
[1]. Ulu MS, Ahsen A. Muscle cramps during hemodialysis: what can we do? New approachs for treatment and preventing. Eur. J. Gen. Med. 2015; 12(3): 277-81.
[2]. Moledina DG, Perry Wilson F. Pharmacologic treatment of common symptoms in dialysis patients: a narrative review. Semin Dial. 2015; 28(4): 377-83.
[3]. Kobrin SM, Berns JS. Quinine--a tonic too bitter for hemodialysis associated muscle cramps?. Semin Dial. 2007; 20(5): 396-401.
[4]. U.S. Food & Drug Administration. Qualaquin (quinine sulfate) capsules, for oral use [online]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov.
[5]. Quinine sulfate. In: In Depth Answers [database on the internet]. Greenwood Village (CO): IBM Corporation; 2023 [cited 2023 Feb. 14]. Available from: www. micromedexsolutions.com. Subscription required to view.
[6]. Quinine. In: Specipic Lexicomp Online Database [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2023; cite 30 Jan. 2023. Available from: http://online .Lexi.com.
[7]. Kaji DM, Ackad A, Nottage WG, Stein RM. Prevention of muscle cramps in haemodialysis patients by quinine sulphate. Lancet. 1976 Jul. 10; 2(7976): 66-7.
[8]. Sandoval PJ, Garcia PA, Abad ML, Piqueras A, Garcés L, Chacón JC, et al. Action of quinine sulphate on the incidence of muscle cramps during hemodialysis. Med Clin (Barc). 1980 Oct. 10; 75(6): 247-9.

วันที่ตอบ : 22 ก.พ. 66 - 09:59:52




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110