ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
แพ้ยา

ขอสอบถามครับ แม่ใช้ยาไอบูโพรเฟนแก้ปวด กินเเล้วมีผื่นขึ้น ไปหาเภสัชร้านยา เภสัชบอกว่าแม่แพ้ยา จึงให้ยา celecoxib มาแทน ตอนนี้แม่กินยาคุมอยู่เป็นประจำ ไม่ทราบยานี้ปลอดภัยหรือเปล่าครับ

[รหัสคำถาม : 294] วันที่รับคำถาม : 04 พ.ย. 64 - 12:49:06 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยา celecoxib (เซเลโคซิบ) เป็นยาในกลุ่มยาต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-inflammatory) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า NSAIDs (เอ็นเสด) ซึ่งมีความจำเพาะต่อเอนไซม์ cyclooxygenase-2 (ไซโคลออกซีจีเนส-2) ใช้บรรเทาอาการอักเสบและอาการปวด คำเตือนสำหรับการใช้ยาเซเลโคซิบ คือ สามารถเพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยเฉพาะการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย และโรคหลอดเลือดสมองอุตตัน[1]
ส่วนยาคุมกำเนิดสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ดังนี้
1. ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งมีอนุพันธ์เอสโตรเจนและโปรเจสตินเป็นองค์ประกอบ มีข้อห้ามในผู้ที่เป็นโรคลิ่มเลือดอุดตันหรือภาวะที่จะเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โรคความดันโลหิตสูงหรือโรคเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี ผู้ที่เป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูกหรือมีเลือดระดูผิดปกติที่ยังไม่รู้สาเหตุ ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมหรือมีก้อนผิดปกติที่เต้านมที่ยังไม่รู้สาเหตุ ผู้ที่ตับทำงานผิดปกติ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่อายุมาก สูบบุหรี่และอ้วน ข้อห้ามข้างต้นสัมพันธ์กับอนุพันธ์เอสโตรเจน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือด[2] จากการหาข้อมูลเรื่องความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดของยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมรูปแบบรับประทาน พบว่า ถ้าหากระดับเอสโตรเจนสูง (≥ 50 ไมโครกรัม) มีผลต่อความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุดตันมากกว่าระดับเอสโตรเจนต่ำ (≤ 35 ไมโครกรัม) ส่วนโปรเจสตินพบว่า ยาคุมที่มีโปรเจสตินชนิด drospirenone, gestodene, desogestrel และ cyproterone acetate มีความเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดมากกว่ายาคุมที่มีโปรเจสตินชนิด levonorgestrel, norethisterone และ norgestimate ส่วนยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมแบบแผ่นแปะหรือห่วงวงกลม จากการค้นข้อมูล ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันต่างจากยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมรูปแบบรับประทานหรือไม่
2. ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งมีอนุพันธ์โปรเจสตินเพียงอย่างเดียว มีหลายรูปแบบได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด และห่วงคุมกำเนิด จากการค้นข้อมูล พบว่ามีความเสี่ยงน้อยต่อการเกิดลิ่มเลือดดำอุดตัน[3]
จากข้อมูลข้างต้นพบว่า การใช้ยาเซเลโคซิบร่วมกับยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีเอสโตรเจนเป็นองค์ประกอบนั้น สามารถเพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุตตันมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลอันตรกิริยาระหว่างยา เซเลโคซิบซึ่งเป็นยากลุ่มเอ็นเสดกับอนุพันธ์เอสโตรเจนที่ระบุว่า ยาเอ็นเสดกลุ่มที่มีความจำเพาะต่อเอนไซม์ ไซโคลออกซีจีเนส-2 เสริมฤทธิ์การเกิดลิ่มเลือดของอนุพันธ์เอสโตรเจน อีกทั้งสามารถเพิ่มความเข้มข้นของอนุพันธ์เอสโตรเจนในเลือดได้อีกด้วย ความเสี่ยงนี้จัดอยู่ในระดับปานกลางและสามารถเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มใช้ร่วมกัน จำเป็นต้องติดตามการใช้ยาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาได้ทันหากมีอาการหรืออาการแสดงของการเกิดลิ่มเลือดอุตตันในอวัยวะต่างๆ[4] ทั้งนี้จากข้อมูลที่ค้น ยังไม่พบการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาเซเลโคซิบกับอนุพันธ์โปรเจสติน[4]
นอกจากนี้มีการศึกษาแบบทดลองแบบสุ่มและไขว้กัน (double-blind, randomized, 2-period crossover) จำนวน 3 การศึกษา ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาของ Schwartz และคณะ (2002)[5] และ Kalbag และคณะ (2004)[6] และ Schwartz และคณะ (2009)[7] ทั้ง 3 การศึกษาเป็นการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ระหว่างการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมรูปแบบรับประทาน ร่วมกับยา rofecoxib, lumiracoxib และ etoricoxib ซึ่งเป็นยากลุ่มเดียวกันกับยาเซเลโคซิบพบว่าการได้รับยา etoricoxib 120 มิลลิกรัมนาน 28 วัน ทำให้ระดับของอนุพันธ์เอสโตรเจนในเลือดสูงขึ้นร้อยละ 50-60 อย่างมีนัยสำคัญ (geometric mean ratio (etoricoxib/placebo); 90 CI = 1.50; 1.39-1.62) ในขณะที่การได้รับ etoricoxib 60 มิลลิกรัม ทำให้ระดับของอนุพันธ์เอสโตรเจนในเลือดสูงขึ้นเพียงร้อยละ 37 อย่างมีนัยสำคัญ (geometric mean ratio (etoricoxib/placebo); 90 CI = 1.37; 1.29-1.46)[7] แต่การได้รับยา rofecoxib 175 มก.นาน 14 วัน และ lumiracoxib 400 มก.นาน 28 วัน ไม่มีผลต่อระดับอนุพันธ์เอสโตรเจนในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ (geometric mean ratio (rofecoxib/placebo); 90 CI =1.06; 0.98-1.16 และ geometric mean ratio (lumiracoxib/placebo); 90 CI =1.05; 1.00-1.10[5-6] ทั้งนี้ยาทั้ง 3 ตัวไม่มีผลต่อระดับโปรเจสตินในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ (geometric mean ratio (etoricoxib/placebo); 90 CI = 1.07; 0.96-1.18, geometric mean ratio (rofecoxib/placebo); 90 CI = 1.04; 0.99-1.09 และ geometric mean ratio (lumiracoxib/placebo); 90 CI = 0.99; 0.93-1.05) [5-7] การศึกษาที่ได้กล่าวไปข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างยาในกลุ่มเดียวกันกับยาเซเลโคซิบ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้อาจแตกต่างกัน และจากการค้นข้อมูลยังไม่พบการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับยาเซเลโคซิบโดยตรง
ดังนั้น กรณีใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมร่วมกับยาเซเลโคซิบ ในทางทฤษฎีจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุตตันมากขึ้น เนื่องจากยาเซเลโคซิบเสริมฤทธิ์การเกิดลิ่มเลือดของอนุพันธ์เอสโตรเจน และทำให้ความเข้มข้นของอนุพันธ์เอสโตรเจนในเลือดเพิ่มขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาทั้งสองชนิดนี้ร่วมกัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา

เอกสารอ้างอิง
[1]. Celecoxib. In: Multiple Lexi-Drugs [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexi-Comp Inc. [updated 5 Nov. 2021; cited 9 Nov. 2021]. Available from: http://online.lexi.com.
[2]. Estrogens. In: Multiple Lexi-Drugs [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexi-Comp Inc. [updated 5 Nov. 2021; cited 9 Nov. 2021]. Available from: http://online.lexi.com.
[3]. Lidegaard Ø. Hormonal contraception, thrombosis and age. Expert Opin Drug Saf. 2014;13(10):1353-60.
[4]. Celecoxib. In: Interaction [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexi-Comp Inc. [updated 5 Nov. 2021; cited 9 Nov. 2021]. Available from: http://online.lexi.com
[5]. Schwartz JI, Wong PH, Porras AG, Ebel DL, Hunt TR, Gertz BJ. Effect of rofecoxib on the pharmacokinetics of chronically administered oral contraceptives in healthy female volunteers. J Clin Pharmacol. 2002;42(2):215-21.
[6]. Kalbag J, Elder C, Scott G, Wang Y, Milosavljev S, Leese P, et al. Concomitant administration of lumiracoxib and a triphasic oral contraceptive does not affect contraceptive activity or pharmacokinetic profile. J Clin Pharmacol. 2004;44(6):646-54.
[7]. Schwartz J, Hunt T, Smith WB, Wong P, Larson P, Crumley T, et al. The effect of etoricoxib on the pharmacokinetics of oral contraceptives in healthy participants. J Clin Pharmacol. 2009;49(7):807-15.

วันที่ตอบ : 23 พ.ย. 64 - 15:48:06




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110