ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
reparil gel

แพ้ยา ibuprofen จะใช้ reparil gel ได้หรือไม่ หรือสามารถใช้ยาแก้ปวดอะไรได้บ้างค่ะ นอกจากพารา

[รหัสคำถาม : 295] วันที่รับคำถาม : 14 พ.ย. 64 - 22:07:52 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การแพ้ยากลุ่ม non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) สามารถแบ่งตามกลไกการเกิดอาการแพ้เป็น 2 ประเภท คือ 1) การแพ้จริง (Allergic NSAIDs reactions) ซึ่งเป็นการแพ้ยาที่กลไกการเกิดสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกัน ร่างกายจะสร้าง Immunoglobulin E (IgE) ที่จำเพาะกับตัวยา ดังนั้น หากร่างกายได้รับยาเดิมซ้ำหรือยาที่มีโครงสรางเคมีที่คล้ายกันก็สามารถกระตุ้น IgE ให้เหนี่ยวนำการหลั่งฮีสตามีน ซึ่งจะทำให้เกิดการแพ้ยาซ้ำได้ 2) การแพ้เทียม (Pseudoallergic NSAIDs reactions) มีกลไกการเกิดไม่ผ่านการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเกิดจากยากลุ่ม NSAIDs ออกฤทธิ์ยับยั้ง COX-1 ทำให้เกิดการหลั่งของฮีสตามีนและ leukotrienes ได้ การแพ้แบบนี้มักพบว่าผู้ป่วยแพ้ NSAIDs มากกว่า 1 ชนิด[1]
การพิจารณาเลือกใช้ยาบรรเทาอาการปวดในผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่ม NSAIDs จะพิจารณาความรุนแรงและลักษณะของอาการแพ้ ร่วมกับประวัติการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ในกรณีที่เป็นการแพ้แบบเทียม ให้หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ทุกชนิด โดยการบรรเทาอาการปวดเล็กน้อย (minor pain) สามารถใช้ยา Acetaminophen (Paracetamol) หากมีอาการปวดที่รุนแรงขึ้น อาจใช้ยาแก้ปวดชนิดเสพติด (Narcotic pain medications) เช่น Tramadol เป็นต้น สำหรับการแพ้จริง ให้หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับยาที่มีประวัติแพ้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยากลุ่ม NSAIDs อาจพิจารณาใช้ยาที่มีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างกับยาที่มีประวัติแพ้หรือใช้ยากลุ่ม highly selective COX-2 inhibitors เช่น Celecoxib, Etoricoxib, Parecoxib เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากอาการแพ้มีความรุนแรง เช่น มีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก อาการบวมของเนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนัง (angioedema) เป็นต้น หรือไม่มีข้อมูลยืนยันว่าเป็นการแพ้ประเภทใดระหว่างการแพ้จริงหรือการแพ้เทียม ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ทุกชนิด[1]
Reparil-gel N ที่ยังมีวางจำหน่ายอยู่[2] ประกอบด้วย Aescin 1 กรัม และ Diethylamine salicylate 5 กรัม[3] Aescin เป็นสารออกฤทธิ์หลักที่แยกได้จากพืช horse chestnut ออกฤทธิ์ที่ผนังหลอดเลือด โดยลดอาการอักเสบ ลดอาการบวม ลดการซึมผ่านของน้ำจากในหลอดเลือดไปสู่เนื้อเยื่อ ส่วน Diethylamine salicylate เป็นอนุพันธุ์ของยาในกลุ่ม Salicylic Acid มีฤทธิ์ลดอาการปวดและอักเสบ[3-5] ผลิตภัณฑ์ Reparil-gel N มีข้อบ่งใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดและอักเสบของกล้ามเนื้อ ลดฟกช้ำ ลดบวมเฉพาะที่ รวมถึงรักษาเส้นเลือดขอดและหลอดเลือดดำอักเสบจากการฉีดยาหรือให้ยาทางสายน้ำเกลือ มีข้อแนะนำในการใช้ โดยทายาให้ทั่วบริเวณที่มีอาการปวดหรือบวม วันละ 2-3 ครั้ง[3] สำหรับข้อห้ามใช้ของผลิตภัณฑ์ยาทา Reparil-gel N คือ ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยา Aescin, Diethylamine salicylate ผู้ที่แพ้ยา Aspirin หรือยากลุ่ม NSAIDs [3-5]
การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพและการทนต่อยาระหว่าง Escin และ Diethylamine salicylate รูปแบบเจลเทียบกับยาหลอก พบว่า กลุ่มที่ได้รับ Reparil-Gel N, Reparil-Gel และ Reparil-Sportgel มีอาการกดเจ็บ (tenderness) ลดลงหลังจากผ่านไป 6 ชั่วโมง ดีกว่ากับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีความแตกต่างระหว่างยาทั้ง 3 ชนิด ส่วนการทนต่อยา พบว่า กลุ่มที่ได้รับยาทั้ง 3 ชนิด สามารถทนต่อยาได้ดี และดีเยี่ยม (excellent) ทุกราย [6]
การศึกษาทดลองใช้ยาทา NSAIDs ในผู้ป่วยที่แพ้ NSAIDs (ชนิดNSAIDs exacerbated respiratory disease) จำนวน 11 ราย ที่มีประวัติแพ้ยา NSAIDs ชนิดรับประทาน พบว่า ผู้ป่วยทุกรายเกิดอาการหอบในช่วงที่มีการใช้ยาทา NSAIDs ซึ่งหลังจากหยุดใช้ยาทา เป็นเวลา 6 เดือน ผู้ป่วยมี อัตราหอบกำเริบและการทำงานของปอดดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทาง ข้อมูลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีประวัติแพ้ยา NSAIDs ชนิดมี อาการหอบ เมื่อใช้ยา topical NSAIDs ผู้ป่วยจะเกิดอาการแพ้ได้
เนื่องจากผู้ถามมีประวัติการแพ้ที่ระบุว่าแพ้ยากลุ่ม NSAIDs เพียง 1 ชนิด คือ ยา Ibuprofen และไม่มีประวัติอาการแพ้จึงไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการแพ้แบบใด จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ทุกชนิด โดยสามารถใช้ยารับประทาน Acetaminophen (Paracetamol) ขนาดยาไม่เกิน 1000 มิลลิกรัมต่อครั้ง ทุก 4-6 ชั่วโมง (ขนาดยาไม่เกิน 4000 มิลลิกรัมต่อวัน) เพื่อบรรเทาอาการปวดเล็กน้อยได้ หากมีอาการปวดที่รุนแรงขึ้น อาจใช้ยาแก้ปวดชนิดเสพติด (Narcotic pain medications) เช่น Tramadol เป็นต้น Reparil-gel N มีข้อห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยา Aspirin หรือยากลุ่ม NSAIDs[3] จึงไม่แนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ Reparil-gel N ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยา Ibuprofen

เอกสารอ้างอิง
[1]. Simon RA. NSAIDs (including aspirin): allergic and pseudoallergic reactions. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. [cited 29 November 2021].
[2]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์: Reparil gel [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 2 ธันวาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://porta.fda.moph.go.th/fda_search_all/main/search_center_main.aspx.
[3]. MIMS online Thailand. Reparil-gel N [Internet]. [cited 29 November 2021]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/reparil-gel%20n.
[4]. Horse chestnut. In: Natural Products [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 5 July 2019; cited 29 November 2021]. Available from: http://online.lexi.com.
[5]. Diethylamine salicylate. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 22 November 2021; cited 29 November 2021]. Available from: http://online.lexi.com.
[6]. Pabst H, Segesser B, Bulitta M, Wetzel D, Bertram S. Efficacy, and tolerability of escin/diethylamine salicylate combination gels in patients with blunt injuries of the extremities. Int J Sports Med. 2001;22(6):430-436.
[7]. Tan JHY, Hsu AAL. Nonsteroidal anti-inflammatory drug (NSAID) exacerbated respiratory disease phenotype: Topical NSAID and asthma control - A possible oversight link. Respir Med. 2016; 118:1-3.

วันที่ตอบ : 17 ธ.ค. 64 - 16:58:36




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110