ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
สามารถฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในวันเดียวกันกับวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่

พอดีวันที่ 9 ธันวาคม มีแผนฉีดวัคซีนตับอักเสบบีเข็มที่ 1 กับของหน่วยงานให้ฉีด แต่วันที่ 10 ธันวาคม มีนัดฉีด Moderna เข็มที่ 2 แบบนี้สามารถฉีดใกล้กันได้ไหม

[รหัสคำถาม : 296] วันที่รับคำถาม : 20 พ.ย. 64 - 21:22:41 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

วัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา (COVID-19 vaccine Moderna) เป็นวัคซีนชนิด messenger RNA (mRNA) มีข้อบ่งใช้สำหรับฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19[1] โดยวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา มีข้อควรระวังก่อนฉีดวัคซีน ได้แก่ 1) ไม่ควรผสม COVID-19 vaccine Moderna กับวัคซีนหรือผลิตภัณฑ์ยาอื่นในหลอดฉีดยาเดียวกัน 2) ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนในกลุ่มบุคคลที่มีไข้สูงอย่างเฉียบพลันหรือมีอาการติดเชื้ออย่างเฉียบพลัน แต่ไม่ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนในกลุ่มบุคคลที่มีไข้ต่ำ 3) ควรให้วัคซีนด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ[1] นอกจากนี้อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยมาก (ร้อยละ 10) เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บบริเวณที่ฉีด เป็นต้น[1]
สำหรับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) ซึ่งเตรียมจากโปรตีนผิวนอกของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) มีข้อควรระวังในผู้ที่ได้รับการถ่ายเลือดและผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ อาจจะต้องให้วัคซีนซ้ำอีกหลังจากฉีดครบตามตารางการสร้างภูมิคุ้มกัน เนื่องจากปริมาณ antibody ที่สร้างขึ้นอาจไม่เพียงพอ[2] โดยอาการไม่พึงประสงค์พบได้ค่อนข้างบ่อยภายหลังได้รับวัคซีน เช่น ปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย เป็นต้น[2]
จากแนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาด ปี 2564 ของประเทศไทยแนะนำให้เว้นระยะระหว่างวัคซีนโควิด 19 และวัคซีนชนิดอื่นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนพร้อมกัน และเพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนการตอบสนองต่อวัคซีนที่ฉีดตามมา โดยให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ก่อนวัคซีนอื่น ๆ[3]
เนื่องจากวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนที่ผลิตออกมาได้ไม่นาน จึงยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนนี้ควบคู่กับวัคซีนอื่น ๆ อย่างไรก็ดี วัคซีนบางชนิดที่มีความจำเป็น เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้าเมื่อถูกสัตว์กัด หรือวัคซีนบาดทะยักเมื่อมีบาดแผล สามารถฉีดวัคซีนได้ โดยไม่จำเป็นต้องเว้นระยะเวลาและในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรคโควิด 19 ให้ฉีดวัคซีนทันทีที่ทำได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะห่าง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง[3]
ดังนั้น ในผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาและวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี จึงควรเลือกฉีดวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาเป็นลำดับแรก หลังจากนั้นควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ จึงฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนพร้อมกัน เช่น มีไข้ ปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีด เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
[1]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. เอกสารกำกับยาภาษาไทย: COVID-19 vaccine Moderna [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 9 มกราคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://www.fda.moph.go.th/Pages/Document/covid19_vaccine/Moderna/SmPC%20-%20COVID-19%20Vaccine%20Moderna%20(Thai).pdf.
[2]. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดำเนินงานให้วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี (HB) ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 9 มกราคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1641720210104092850.pdf.
[3]. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาด ปี 2564 ของประเทศไทย ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 10 มกราคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/getFiles/11/1628849610213.pdf.

วันที่ตอบ : 25 ม.ค. 65 - 18:51:24




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110