ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ไมเกรน

อยากทราบว่าการใช้วิตามินบี 2 ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อวัน มีประสิทธิภาพในการป้องกันไมเกรนดีหรือไม่ และยังมีวิธีการป้องกันไมเกรนวิธีอื่นๆที่ไม่ใช่ยาอีกหรือไม่

[รหัสคำถาม : 297] วันที่รับคำถาม : 23 พ.ย. 64 - 13:43:57 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

วิตามินบี 2 ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ของเอนไซม์หลายชนิด โดยอยู่ในรูปของ flavin mononucleotide (FMN) และ flavin adenine dinucleotide (FAD) ซึ่งช่วยในการเมทาบอลิซึมกรดไขมันและวิตามินบี 6 ช่วยสร้างพลังงานและสังเคราะห์ไนอาซินจากกรดอะมิโนทริปโตเฟน ช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมันและโปรตีน ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตและพัฒนาอย่างเหมาะสม ช่วยส่งเสริมระบบประสาท ผิวหนัง และตา รวมถึงช่วยป้องกันเซลล์ถูกทำลาย โดยวิตามินบี 2 พบในอาหารทั่วไปทั้งในสัตว์และพืช อาหารที่มีวิตามิน บี 2 สูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ไข่ นม เป็นต้น(3,4)
จากแหล่งข้อมูลประเภท Systematic review พบว่าการรับประทานวิตามินบี 2 ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อวัน ช่วยป้องกันการปวดศีรษะไมเกรนได้ ซึ่งการรับประทานวิตามินบี 2 ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับป้องกันการปวดไมเกรนมีหลักฐานความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ B (น่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการปวดไมเกรน) (1,5,6) โดยมีข้อมูลรายงานว่าการรับประทานวิตามินบี 2 ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันนาน 3 เดือนจึงจะเห็นผลในการช่วยลดจำนวนวัน ระยะเวลา ความถี่ และระดับความรุนแรงของการปวดไมเกรน(6-9)
จากแหล่งข้อมูลที่ค้นยังไม่พบการกำหนดปริมาณสูงสุดของวิตามินบี 2 ที่สามารถรับได้ในแต่ละวัน การรับประทานวิตามินบี 2 ในขนาดสูงจึงควรระมัดระวัง ซึ่งโดยปกติร่างกายจะดูดซึมวิตามินบี 2 ได้ไม่เกินวันละ 25 มิลลิกรัม(3)
นอกจากนี้การรักษาแบบไม่ใช้ยา (Nonpharmacologic Therapy) เพื่อช่วยบรรเทาและลดความถี่ในการปวดไมเกรนมีดังนี้(1,10)
1. การนวด ช่วยกระตุ้นให้ระบบการไหลเวียนเลือดดีขึ้น เกิดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ
2. ประคบเย็นบริเวณศีรษะ ช่วยให้เส้นเลือดฝอยเกิดการหดรัดตัว และทำให้การไหลเวียนของเลือดและของเหลวในบริเวณที่วางไว้ช้าลงได้ และออกฤทธิ์โดยทำให้ปลายประสาทชาชั่วขณะ ช่วยให้ลดการเจ็บปวดลงได้
3. ค้นหาและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดการปวดไมเกรนกำเริบ โดยปัจจัยกระตุ้นที่ควรหลีกเลี่ยงมีดังนี้
• อาหาร เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน การรับประทานช็อคโกแลต ของหมักดอง อาหารที่มี Nitrate (ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป), Saccharin/aspartame และอาหารที่มีกรดอะมิโน Tyramine เช่น อาหารที่ปรุงรสด้วย ผงชูรส ชีสและไวน์แดง เป็นต้น
• สิ่งแวดล้อม เช่น อยู่ในที่แสงสว่างจ้า ที่สูง เสียงดัง กลิ่นแรง ควันบุหรี่ และสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
• พฤติกรรม เช่น นอนหลับมาก/น้อยเกินไป อ่อนเพลีย ช่วงที่มีประจำเดือนมา/วัยหมดประจำเดือน อดอาหาร ออกกำลังกายหนักเกินไป และความเครียด
4.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น นอนพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายทุกวัน เป็นต้น การออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น เดินและการยืดตัวที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันการเกิดอาการปวดศีรษะ โดยการออกกำลังกายจะช่วยทำให้การนอนหลับดีขึ้นและลดการกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ
จากข้อมูลที่ค้นได้พบว่า การรับประทานวิตามินบี 2 ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อวัน ช่วยป้องกันการปวดศีรษะไมเกรนได้ ซึ่งมีหลักฐานความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ B (น่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการปวดไมเกรน) (1,5,6) โดยมีข้อมูลรายงานว่าการรับประทานวิตามินบี 2 ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันนาน 3 เดือนจึงจะเห็นผลในการช่วยลดจำนวนวัน ระยะเวลา ความถี่ และระดับความรุนแรงของการปวดไมเกรน(6-9) จากแหล่งข้อมูลที่ค้นยังไม่พบการกำหนดปริมาณสูงสุดของวิตามินบี 2 ที่สามารถรับได้ในแต่ละวัน ดังนั้นการรับประทานวิตามินบี 2 ในขนาดสูงจึงควรระมัดระวัง ซึ่งโดยปกติร่างกายจะดูดซึมวิตามินบี 2 ได้ไม่เกินวันละ 25 มิลลิกรัม(3) นอกจากนี้การรักษาแบบไม่ใช้ยาสามารถทำได้ เช่น การนวดช่วยกระตุ้นให้ระบบการไหลเวียนเลือดดีขึ้น ประคบเย็นบริเวณศีรษะ ค้นหาและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดการปวดไมเกรนกำเริบ รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตให้มีความเหมาะสม(1,10)

เอกสารอ้างอิง
[1]. Minor DS, Harrell TK. Headache Disorder. In: DiPiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey LM, eds. Pharmacotherapy: a pathophysiological approach. 11th ed. New York: McGraw-Hill. 2017;928-933.
[2]. ก้องเกียรติ กูณฑ์กันทรากร. ภาวะปวดศีรษะทุกวันเรื้อรัง (chronic daily headache). วารสารประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย [อินเทอร์เน็ต]. 2559 [สืบค้นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564]. สืบค้นจาก http://neurothai.org/images/journal/2016_vol32_no2/2016_vol32_no2.pdf.
[3]. ศรีวัฒนา ทรงจิตสมบูรณ์. วิตามินบี 2 (Riboflavin). ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 [อินเทอร์เน็ต]. 2563 [สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2564]. สืบค้นจาก: https://www.thaidietetics.org/wpcontent/uploads/2020/04/dri2563.pdf.
[4]. The Principles of Nutritional Sciences: Nutrition Recommendations and Dietary Guidelines. In: Maxcy-Rosenau-Last Public Health & Preventive Medicine [book on the internet]. McGraw Hill; 2022 [Cited 16 November 2021]. Available from: https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=3078§ionid257531809.
[5]. Riboflavin. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the internet]. Hudson(OH): Lexicomp Inc.; 2021 [updated 1 Nov 2021; cited 12 Nov 2021]. Available from: http://online.lexi.com.
[6]. Thompson DF, Saluja HS. Prophylaxis of migraine headaches with riboflavin: A systematic review. J Clin Pharm Ther. 2017; 42;394–403.
[7]. Yu-Shiue Chen, Huan-Fang Lee, Ching-Hsuan Tsai, et al. Effect of Vitamin B2 supplementation on migraine prophylaxis: a systematic review and meta-analysis.
Nutritional Neuroscience. 2021;1-12.
[8]. Abolghasem Rahimdel, Ahmad Zeinali, Pouria Yazdian-anari, et al. Effectiveness of Vitamin B2 versus Sodium Valproate in Migraine Prophylaxis: a randomized clinical trial. Electronic Physician. 2015; 7(6);1344-1348.
[9]. Schoenen J, Jacquy J and Lenaerts M. Effectiveness of high-dose riboflavin in migraine prophylaxis: A randomized controlled trial. The American Academy of Neurology. 1998; 50;466-470.
[10]. สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. การจัดการอาการปวดศีรษะในผู้ป่วยหลังการบาดเจ็บศีรษะเล็กน้อย [อินเทอร์เน็ต]. 2560 [สืบค้นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564]. สืบค้นจาก https://apheit.bu.ac.th/jounal/science-vol6-1/11_15_formatted%20V6-1.pdf.

วันที่ตอบ : 24 พ.ย. 64 - 13:48:31




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110