ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
azithromycin domperidone คู่กัน

ต้องระวังการเกิด QT prolongation มากแค่ไหน ห้ามใช้ร่วมกันหรือไม่ หรือระวังในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง

[รหัสคำถาม : 298] วันที่รับคำถาม : 23 พ.ย. 64 - 14:48:29 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

The long QT syndrome (LQTS) หรือภาวะ QT interval prolongation เป็นความผิดปกติที่เกิดจาก repolarization ของกล้ามเนื้อหัวใจ (myocardial repolarization) โดยจะมีช่วง QT ที่ยืดบนกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiogram หรือ ECG) ซึ่งกลุ่มอาการนี้สัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบ polymorphic ventricular tachycardia หรือภาวะ torsades de pointes (TdP) ซึ่งเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อันตรายต่อชีวิต[1]
LQTS อาจเป็นมาแต่กำเนิด (congenital LQTS) หรือมีสาเหตุบางประการที่กระตุ้นการเกิดภาวะ QT interval prolongation (acquired LQTS) เช่น ยาบางชนิดสามารถเหนี่ยวนำทำให้เกิดภาวะ QT interval prolongation (drug-induced LQTS หรือ QT interval prolongation)[1]
อาการของ LQTS ได้แก่ ใจสั่น (palpitations) เป็นลมหมดสติ (syncope) ชัก (seizures) และหัวใจวายเฉียบพลัน (sudden cardiac death) เป็นต้น[1]
ยา azithromycin เป็นยาต้านแบคทีเรียกลุ่ม Macrolides ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดของยา azithromycin ได้แก่ เจ็บหน้าอก (Chest pain) ≤1%, หน้าบวมในเด็ก (facial edema in children) ≤1%, ใจสั่น (palpitations) ≤1% เป็นต้น[2]
การใช้ยา azithromycin มีความสัมพันธ์กับการเกิดการเปลี่ยนแปลงการนำไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะ QT interval prolongation และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบpolymorphic ventricular tachycardia หรือภาวะ torsades de pointes (TdP) โดยพบอุบัติการณ์การเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดภาวะ QT interval prolongation จากการใช้ยา azithromycin พบได้น้อยกว่า 1%[2] ซึ่งมีรายงานว่ายา azithromycin เป็นยาที่ทำให้เกิด torsade de pointes ได้น้อยกว่ายาชนิดอื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบกันในกลุ่ม macrolides (azithromycin, clarithromycin, erythromycin)[8]
ยา domperidone เป็นยาที่ใช้รักษากลุ่มอาการการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารผิดปกติ และต้านอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดของยา domperidone ได้แก่ ใจสั่น (palpitation) < 1% รวมทั้งพบอุบัติการณ์การเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดภาวะ QT interval prolongation ที่นำไปสู่การเกิดภาวะ torsades de pointes (TdP) จากการใช้ยา domperidone < 1%[3]
การใช้ยา azithromycin ร่วมกับ domperidone มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิด QT interval prolongation ได้[1-7, 9] ซึ่งเป็นผลมาจากยาทั้ง 2 ชนิดสามารถเหนี่ยวนำทำให้เกิดภาวะ QT interval prolongation[1-7, 9] รวมทั้งเป็นผลมาจากการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา(Drug-drug interaction)[1-9] ซึ่งพบข้อมูลการเกิดภาวะ QT interval prolongation จากการใช้ยา azithromycin ร่วมกับ domperidone จากการศึกษาเรื่อง Assessment of Drug Induced QT Interval Prolongation at a tertiary care, Baptist Hospital, Bangalore ประเทศอินเดียซึ่งเป็นการศึกษาเชิงสังเกตแบบไปข้างหน้า (prospective observational study) ในกลุ่มผู้ป่วยในของโรงพยาบาล เพื่อศึกษาการเกิดภาวะ QT interval prolongation จากยา azithromycin และ domperidone และปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิด QT interval prolongation รวมทั้งการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา ที่มีผลทำให้เกิดภาวะ QT interval prolongation การศึกษานี้ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 110 คน ซึ่งจะมีการติดตามกลุ่มตัวอย่างแบบไปข้างหน้า โดยมีระยะเวลาในการติดตาม 6 เดือน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างต้องมีการสั่งใช้ยาที่สามารถทำให้เกิด QT interval prolongation อย่างน้อย 1 รายการ
ผลการศึกษา พบผู้ป่วยจำนวน 3 ราย ที่เกิดภาวะ QT interval prolongation จากการใช้ยา azithromycin ร่วมกับยา domperidone[9]
ซึ่งกลไกการเกิดอันตรกิริยา เกิดผ่าน 2 กลไกดังนี้
1. เกิดผ่านการยับยั้งการทำงานของ CYP3A4 (CYP3A4 inhibitors) : ยา domperidone ถูกกำจัดผ่าน CYP3A4 ซึ่งยา azithromycin ยับยั้งการทำงานของ CYP3A4 (CYP3A4 inhibitors) จึงทำให้มีระดับยา domperidone ในเลือดสูง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะ QT interval prolongation[7]
*อย่างไรก็ตาม ยา azithromycin ยับยั้ง CYP3A4 ได้น้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกันในกลุ่ม macrolides (azithromycin, clarithromycin, erythromycin) [8]
2. เกิดจากการเสริมผลหรือเพิ่มผลทวีคูณของการเกิดภาวะ QT interval prolongation[4,5,9]
ระยะเวลาเริ่มต้นของการเกิดภาวะ QT interval prolongation (Onset) ไม่สามารถระบุได้[5] โดยระดับอันตรกิริยาที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงอยู่ในระดับปานกลาง[5] ซึ่งควรพิจารณาปรับเปลี่ยนชนิดยาหรือขนาดยา (Consider therapy modification) [4] โดยหากมีความจำเป็นต้องใช้ยา azithromycin ร่วมกับยา domperidone ควรใช้ยา domperidone ไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อวัน หรือควรเริ่มขนาดยา azithromycin และ domperidone ที่ต่ำที่สุด ซึ่งต้องค่อยๆเพิ่มขนาดยาด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรใช้ยาในผู้ป่วยอายุมากกว่า 60 ปี ร่วมกับติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะ ใจสั่น หน้ามืดหรือชัก ให้หยุดใช้ยา domperidone[4,5]
ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมดังต่อไปนี้ จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิด QT interval prolongation จากการใช้ยา azithromycin ร่วมกับยา domperidone ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้แก่
1. การใช้ยายับยั้ง CYP450 isoenzyme subfamily CYP3A[7,8]
2. ผู้ที่มีความผิดปกติของหัวใจ[7]
3. ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia) [7,9]
4. ผู้สูงอายุ[1,4,5,9]
5. เพศหญิง[1,4,9]
6. ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า[1,4,9]
7. ผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (hypokalemia) [1,4,7,9]
8. ผู้ที่มีระดับแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (hypomagnesemia) [1,4]
9. ผู้ที่มีระดับยา azithromycin หรือ domperidone ในเลือดสูง[4]
10. ผู้ที่ได้ยาที่สามารถทำให้เกิดภาวะ QT interval prolongation ตั้งแต่ 2 ชนิด เป็นต้น
ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้ยา azithromycin ร่วมกับยา domperidone หากมีความจำเป็นต้องใช้ยา azithromycin ร่วมกับยา domperidone ควรใช้ยาในผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมที่จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะ QT interval prolongation ซึ่งควรใช้ยา domperidone ไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อวัน หรือควรเริ่มขนาดยา azithromycin และ domperidone ที่ต่ำที่สุด และการใช้ยาทั้งสองชนิดดังกล่าวร่วมกัน ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด หากผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะ ใจสั่น หน้ามืดหรือชัก ให้หยุดใช้ยา domperidone และหลีกเลี่ยงการใช้ azithromycin ร่วมกับ domperidone ในผู้ป่วยทุกรายที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมที่จะเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะ QT interval prolongation

เอกสารอ้างอิง
[1]. Berul, CI. Acquired long QT syndrome. In: UpToDate [database on
the Internet]. Post (ED): UpToDate, Waltham, MA. [cited November 17,
2021].
[2]. Azithromycin. In: Lexi-drugs online [database on
the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 15 NOV 2021;
cited 16 NOV 2021]. Available from: http://online.lexi.com. Subscription
required to view.
[3]. Domperidone. In: Lexi-drugs online [database on
the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 06 NOV 2021;
cited 16 NOV 2021]. Available from: http://online.lexi.com. Subscription
required to view.
[4]. Azithromycin and domperidone. In: Lexi-drug interactions online [database on
the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 2021;
cited 16 NOV 2021]. Available from: http://online.lexi.com. Subscription
required to view.
[5]. Azithromycin domperidone. In: IBM Micromedex Drug Interact [data on the
application]. Greenwood Village, CO: Thomson Micromedex. [cited 15
NOV 2021].
[6]. Sweetman SC. Domperidone. Martindale. 36th edition. China; Everbest printing
Co. Ltd., 2009: p1726-27.
[7]. Sweetman SC. Erythromycin. Martindale. 36th edition. China; Everbest printing
Co. Ltd., 2009: p271.
[8]. MacDougall C. Antibacterial agents. Olson K.R., & Anderson I.B., &
Benowitz N.L., & Blanc P.D., & Clark R.F., & Kearney T.E., & Kim-Katz S.Y.,
& Wu A.B.(Eds.), Poisoning & Drug Overdose, 7th edition. McGraw Hill.,
2009.
[9]. Cuadhary Z., Ramaiah B. Assessment of Drug Induced QT Interval Prolongation
at a tertiary care in Baptist hospital. [serial online] 2018 Oct-Dec;12(4): [4
screens]. [Cited on November 18, 2021]. Available from: URL :
https://pjmhsonline.com/2018/oct_dec/pdf/1871.pdf.



วันที่ตอบ : 01 ธ.ค. 64 - 09:48:25




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110