ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
FISH OIL ใช้ร่วมกับ baby ASA ได้หรือไม่

ผู้ป่วยที่แพทย์สั่งจ่าย ASA gr.I วันละ 1 ครั้งหลังอาหารเช้า มีประวัติตรวจพบเป็นโรคหัวใจโต
มีน้ำคั่งในปอด แพทย์สั่งใช้ยา ร่วมดังนี้
HCTZ 1*1 pc , Enalapril 5 mg 1.5*1 pc
metropolol 1/4*2 pc
ผู้ป่วยต้องการกิน Fish oil ร่วมด้วย โดยกิน 1*1
พร้อมอาหารมื้อเย็น จะได้หรือไม่
เนื่องจากผู้ป่วยอ่านพบข้อควรระวังข้างกล่อง Fish oil
ให้ระวังการใช้ Fish oil ในผู้ป่วยที่ใช้ยาแอสไพริน

[รหัสคำถาม : 299] วันที่รับคำถาม : 23 พ.ย. 64 - 15:33:00 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Fish oil เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Antihyperlipidemic agents ประกอบไปด้วย Omega-3 Fatty Acids ได้แก่ eicosapentaenoic acid (EPA) และ docosahexaenoic acid (DHA) มีข้อบ่งใช้ในป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary heart disease) ผู้ป่วยที่มี Triglyceride สูง ชนิดรุนแรง (>500 mg/dL) [1,2] โดย Omega-3 Fatty Acids มีฤทธิ์ในการต้านเกล็ดเลือด เพิ่มระยะเวลาทำให้เลือดไหลนาน (Bleeding time) ซึ่งอาจไปเสริมฤทธิ์กับยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดได้ [3] เช่น ยากลุ่ม Antiplatelet agents (ได้แก่ ยา Aspirin) มีกลไกในการออกฤทธิ์ คือ ยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase 1 และ 2 ส่งผลให้ยับยั้งการสร้าง thromboxane A2 ซึ่งใช้ในการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด [4,5]
อันตรกิริยา (ปฏิกิริยา) ระหว่าง Fish oil และ Aspirin จัดว่าเป็นอันตรกิริยาที่ไม่ได้เกิดอาการแบบทันที ซึ่งต้องใช้ร่วมกันเป็นระยะเวลานาน (มากกว่า 24 ชั่วโมง) จึงจะเห็นผล โดยการใช้ยา 2 ชนิดนี้ร่วมกัน อาจเสริมฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดของกันและกัน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะเลือดออก โดยอันตรกิริยานี้จัดอยู่ในความรุนแรงระดับปานกลาง ควรมีการติดตามการใช้ยาร่วมกันอย่างใกล้ชิด [1,2,4-6] แต่การศึกษาถึงอันตรกิริยาของยาทั้งสองชนิดนี้ยังมีจำกัด ซึ่งมีรายงานการเกิดภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง (Subdural hematoma) ในผู้ป่วยเพศชาย ชาว Caucasian อายุ 75 ปี จากการล้มตกจากเก้าอี้ โดยมีอาการปวดศีรษะ เกิดความผิดปกติของการเดินและการพูด รายการยาเดิมที่ผู้ป่วยใช้ ได้แก่ Warfarin 7.5 mg 4 วัน/สัปดาห์ และ 5 mg 3 วัน/สัปดาห์ Aspirin 81 mg/day และ Omega-3 fatty acid 6 g/day ผู้ป่วยมีค่า INR ล่าสุด 1 เดือนก่อนมาโรงพยาบาล เท่ากับ 2.8 (target 2.0-3.0) แต่เมื่อมาโรงพยาบาลครั้งนี้ ผู้ป่วยมีค่า INR เพิ่มสูงขึ้นเป็น 3.2 มีผล CT scan พบรอยเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง (Subdural hematoma) ขนาด 3 cm ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วย FFP (Fresh frozen plasma) 4 units และ Vitamin K IV 5 mg และได้รับการผ่าตัด มีการปรับขนาดยา Warfarin ลดลง และให้ผู้ป่วยหยุดยา Aspirin และ Fish oil [7]
สำหรับการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา Fish oil และยาอื่นที่ผู้ป่วยใช้ร่วมด้วย ได้แก่ Hydrochlorothiazide (HCTZ), Enalapril และ Metoprolol จากการสืบค้นข้อมูล ยังไม่พบอันตรกิริยาระหว่าง Fish oil และยาประจำของผู้ป่วย
นอกจากนั้น ยังมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆ ที่อาจเสริมฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดของยา Aspirin ได้ จึงควรระมัดระวังในการใช้และติดตามการใช้ยาอย่างใกล้ชิด ได้แก่
1. Flaxseed oil [8]
ใน flaxseed oil มี Omega-3 fatty acids ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดเช่นเดียวกับ Fish oil ซึ่งอาจเสริมฤทธิ์ของยาต้านเกล็ดเลือดได้ โดยมีรายงานพบการเกิดภาวะเลือดออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ พบเลือดปนในปัสสาวะ (Haematuria) และเลือดกำเดาไหล (Nosebleed) ในผู้ป่วยที่กิน Aspirin ร่วมกับ Flaxseed oil
2. Gingko biloba (แปะก๊วย) [9]
ในสารสกัดของแปะก๊วย มีสาร Ginkgolide B ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดเมื่อศึกษาในหลอดทดลอง (in vitro) โดยมีรายงานการเกิดภาวะเลือดออกจากม่านตาในผู้ป่วยเพศชาย อายุ 70 ปี หลังจากกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากแปะก๊วยร่วมกับยา Aspirin นอกจากนั้นยังมีรายงานการเกิดภาวะเลือดออกหลังผ่าตัดจากแผลผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ภาวะที่มีเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง (Subdural hematoma) ภาวะเลือดออกหลังลูกตา (retrobulbar haemorrhage) และภาวะเลือดออกหลังผ่าตัดถุงน้ำดี (postlaparoscopic cholecystectomy bleeding)
3. Policosanol [10]
Policosanol มีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดของ Aspirin ได้ โดยจากงานวิจัยเชิงสุ่มและมีกลุ่มควบคุมพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ Policosanol ร่วมกับ Aspirin มีการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดลดลง 10-35% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ Aspirin เพียงชนิดเดียว และมีรายงานการเกิดเลือดออกที่เหงือกในผู้เข้าร่วมงานวิจัย 1 คน ส่วนในอีกการศึกษาที่ศึกษานาน 3 ปี ไม่พบรายงานการเกิดภาวะเลือดออกในผู้ป่วย 32 คน ที่ได้รับ Policosanol ร่วมกับ Aspirin
เนื่องจากยังมีรายงานการพบอันตรกิริยาหรือการศึกษาที่ยืนยันการเกิดอันตกิริยาที่รุนแรงของการใช้ Fish oil และ Aspirin อย่างจำกัด หากจำเป็นต้องใช้ยา 2 ชนิดนี้ร่วมกัน ควรมีการติดตามการใช้ยาอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ ให้ผู้ป่วยสังเกตอาการเลือดออกนานกว่าปกติหรือการเกิดจ้ำเลือด ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ ควรหยุดยาและรีบมาพบแพทย์ทันที และแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมกับยาแผนปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง
[1]. Omega-3 Fatty Acids. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2021 [updated 5 Nov. 2021; cited 14 Nov. 2021]. Available from: http:/online.lexi.com. Subscription required to view.
[2]. Omega-3-Acid Ethyl Esters. In: DRUGDEX® System [database on the internet]. Greenwood Village, CO: Thomson Micromedex. [cited 2021 Nov. 14]. Available from: http://www.micromedexsolutions.com.
[3]. McEvoy G, Snow EK. AHFS Drug Information. Canada: American Society of Health-System Pharmacists; 2018:1903-4.
[4]. Aspirin. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2021 [updated 9 Nov. 2021; cited 14 Nov. 2021]. Available from: http:/online.lexi.com. Subscription required to view.
[5]. Aspirin. In: DRUGDEX® System [database on the internet]. Greenwood Village, CO: Thomson Micromedex. [cited 2021 Nov. 14]. Available from: http://www.micromedexsolutions.com.
[6]. Tatro DS. Drug Interaction Facts. United states: Wolters Kluwer Health; 2014:1731.
[7]. McClaskey EM, Michalets EL. Subdural hematoma after a fall in an elderly patient taking high-dose omega-3 fatty acids with warfarin and aspirin: case report and review of the literature. Pharmacotherapy. 2007;27(1):152-60.
[8]. Williamson E, Driver S, Baxter K. Stockley’s Herbal Medicines Interaction. 2nd ed. Great Britain: Pharmaceutical Press; 2013:224.
[9]. Williamson E, Driver S, Baxter K. Stockley’s Herbal Medicines Interaction. 2nd ed. Great Britain: Pharmaceutical Press; 2013:240-1.
[10]. Williamson E, Driver S, Baxter K. Stockley’s Herbal Medicines Interaction. 2nd ed. Great Britain: Pharmaceutical Press; 2013:388.

วันที่ตอบ : 24 พ.ย. 64 - 13:06:56




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110