ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
contraceptive in migraine

ไม่ทราบว่ายาคุมชนิดไหนที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในคนไข้ที่เป็นไมเกรนอยู่คะ
Hx-ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด, เบาหวาน,ความดัน
- ไม่อ้วน
- ไม่มี aura
- attack ไม่เกิน 72 ชม.
- ปัจจุบันทานยากลุ่ม ergotamine (Cafergot)
- ไม่ขึ้นกับรอบเดือน
- ไม่เป็นบ่อยมาก
คนไข้อยากคุมกำเนิด แต่มีประวัติไมเกรน รบกวนช่วยให้ข้อมูลด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

[รหัสคำถาม : 300] วันที่รับคำถาม : 23 พ.ย. 64 - 20:40:37 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การเลือกใช้ยาคุมกำเนิดในสตรีที่เป็นโรคไมเกรนจะต้องมีการพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ อายุ 35 ปีขึ้นไป การสูบบุหรี่ ประวัติการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน การเป็นโรคความโรคดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้ หรือโรคเบาหวาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตัน ความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นหากมีการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมร่วมด้วย[1,2] นอกจากนี้จะต้องมีการคำนึงถึงประเภทของโรคไมเกรนร่วมด้วย เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าในสตรีที่เป็นโรคไมเกรนที่มีอาการนำที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ (ischemic stroke) เท่ากับ 6.1 เท่า (OR, 6.1; 95% CI 3.1-12.1) และในสตรีที่เป็นโรคไมเกรนที่ไม่มีอาการนำที่มีการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีความเสี่ยง 1.8 เท่า (OR, 1.8; 95% CI 1.1-2.9) เมื่อเปรียบเทียบกับสตรีที่เป็นโรคไมเกรนที่ไม่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม[3]
การที่สตรีที่เป็นโรคไมเกรนที่มีอาการนำที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น คาดว่าเกิดจากผลของ estrogen ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยการแข็งตัวของเลือด ระดับไขมัน และความดันโลหิต[3] จากการศึกษาพบว่าการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มี estrogen ในปริมาณ 50 ไมโครกรัมขึ้นไปสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ (ischemic stroke) ได้ 4.5 เท่า[4]
ผลของ estrogen ที่มีผลต่อโรคไมเกรนคือมีความเกี่ยวข้องกับสัญญาณ cortical spreading depression (CSD) ซึ่งจะเป็นสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไมเกรน หากกระแสประสาท CSD มีมากผิดปกติจะไปกระตุ้นก้านสมองและเกล็ดเลือดให้มีการหลั่ง serotonin มากขึ้นทำให้เกิดหลอดเลือดขยายและทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้[2,5]
จากการศึกษาพบว่าการใช้ยาคุมกำเนิดที่มี progestogen เดี่ยวไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันและโรคหลอดเลือดสมองที่ชัดเจน[6] ดังนั้นการใช้ยาคุมกำเนิดที่มี progestogen เดี่ยวจึงอาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมทั้งในสตรีที่เป็นโรคไมเกรนที่มีอาการนำ และไม่มีอาการนำที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือด[4-6]
คำแนะนำในการเลือกใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานสำหรับสตรีที่เป็นโรคไมเกรนมีดังนี้
1. สตรีที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี ที่เป็นโรคไมเกรนที่ไม่อาการนำ และไม่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง อาจแนะนำการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมที่มีปริมาณ ethinylestradiol ≤35 ไมโครกรัม ร่วมกับติดตามความถี่และลักษณะอาการของโรคไมเกรนร่วมด้วย หรือเลือกใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestogen-only pills)[4,6] ซึ่งอาจจะต้องมีการพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
2. ในสตรีที่อายุน้อยกว่า 35 ปี ที่เป็นโรคไมเกรนที่มีอาการนำ หรือเป็นโรคไมเกรนที่ไม่มีอาการนำแต่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง จะไม่แนะนำการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเนื่องจากอาจทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น โดยยาคุมกำเนิดที่อาจใช้ได้ คือยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestogen-only pills)[4,5]
3. ในสตรีอายุ 35 ปีขึ้นไป ที่เป็นโรคไมเกรนทั้งชนิดที่มีอาการนำและไม่มีอาการนำ อาจเลือกใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestogen-only pills)[6]
ดังนั้น ในการเลือกใช้ยาคุมกำเนิดในสตรีที่เป็นโรคไมเกรนชนิดไม่มีอาการนำจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับปัจจัยในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มเติม ได้แก่ อายุ และการสูบบุหรี่ร่วมด้วย หากอายุน้อยกว่า 35 ปี และไม่มีการสูบบุหรี่ อาจเลือกใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีปริมาณ ethinylestradiol ≤35 ไมโครกรัม หรือเลือกใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestogen-only pills) แต่ถ้าหากเป็นสตรีที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปหรือมีการสูบบุหรี่จำนวนมาก การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestogen-only pills) จะมีความปลอดภัยมากกว่า
นอกจากนี้จากประวัติการใช้ยา Cafergot® (Ergotamine tartrate 1 g + caffeine 100 mg) เพื่อใช้ในการบรรเทาอาการปวดศีรษะจากโรคไมเกรน การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมจะมีส่วนประกอบของ ethinylestradiol ซึ่งเป็น weak CYP1A2 inhibitor จะเกิดอันตรกิริยากับ caffeine ในส่วนประกอบของยา Cafergot® มีความรุนแรงเป็นแบบ minor ส่งผลให้ปริมาณ serum caffeine เพิ่มขึ้นเล็กน้อย[7] หากจำเป็นต้องใช้ยา 2 ชนิดนี้ร่วมกัน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา

เอกสารอ้างอิง
[1]. Shrander SP. Contraception. In: DiPiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey LM, editors. Pharmacotherapy: a pathophysiological approach. 10th ed. New York: McGraw-Hill Education; 2017:1251-53.
[2]. Sacco S, Ricci S, Degan D, Carolei A. Migraine in women: the role of hormones and their impact on vascular diseases. J Headache Pain. 2012;13(3):177-89.
[3]. Champaloux SW, Tepper NK, Monsour M, Curtis KM, Whiteman MK, Marchbanks PA, Jamieson DJ. Use of combined hormonal contraceptives among women with migraines and risk of ischemic stroke. Am J Obstet Gynecol. 2017;216(5): 489.e1-489.e7.
[4]. Sacco S, Merki-Feld GS, Ægidius KL, Bitzer J, Canonico M, Kurth T. Hormonal contraceptives and risk of ischemic stroke in women with migraine: a consensus statement from the European Headache Federation (EHF) and the European Society of Contraception and Reproductive Health (ESC). J Headache Pain. 2017;18(1):108.
[5]. Nappi RE, Merki-Feld GS, Terreno E, Pellegrinelli A, Viana M. Hormonal contraception in women with migraine: is progestogen-only contraception a better choice? J Headache Pain. 2013;14(1):66.
[6]. Edlow AG, Bartz D. Hormonal contraceptive options for women with headache: a review of the evidence. Rev Obstet Gynecol. 2010;3(2):55-65.
[7]. Ethinylestradiol and Cafergot. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [cited 16 Nov 2021]. Available from: http://online.lexi.com. Subscription required to view.

วันที่ตอบ : 24 พ.ย. 64 - 23:57:42




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110