ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ซิงค์ รักษาสิว

คือเป็นสิวอุดตันเยอะอ่ะค่ะแล้วบางครั้งก็จะกลายเป็นสิวอักเสบ เคยได้ยินมาว่า ซิงค์ ช่วยลดการอุดตันได้จริงหรือเปล่าค่ะ หรืออย่างไร และซิงค์ยังเพิ่มฮอร์โมนเพศชายอีกด้วยใช่ไหมค่ะ แล้วถ้าต้องการกินเพื่อลดสิวอุดตันทานได้ไหมค่ะ ต้องทานอย่างไร ขอบคุณนะค่ะ

[รหัสคำถาม : 303] วันที่รับคำถาม : 24 พ.ย. 64 - 13:56:28 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

สิว (Acne vulgaris) เป็นความผิดปกติทางผิวหนังที่พบได้บ่อยที่ส่งผลต่อความสวยงามและต่อจิตใจ มักพบบริเวณใบหน้าและลำตัวส่วนบน สิวเกิดจากต่อมไขมันมีการผลิตไขผิวหนังเพิ่มขึ้นร่วมกับมีการหนาตัวของเคราติน (keratinization) ที่รูขุมขนเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดสิวอุดตัน และอาจมีการอักเสบของต่อมไขมันที่รูขุมขน (Sebaceous follicles) เนื่องจากมีการเพิ่มจำนวน Cutibacterium acnes ซึ่งเป็นเชื้อประจำถิ่นในร่างกาย [1,2,3]
จากแนวทางการรักษาสิวของสถาบันแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Academy of Dermatology) ปี 2016 และแนวทางการดูแลรักษาโรคสิวของสมาคมโรคผิวหนังแห่งประเทศไทย การรักษาจะขึ้นอยู่กับประเภทและระดับความรุนแรงของสิว ดังนี้ [3,4]
-สิวระดับรุนแรงน้อย (Mild acne) จะมีลักษณะเป็นสิวอุดตัน (Comedones) หรือสิวอักเสบตุ่มนูนแดงขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร (Papulopustular) เพียงเล็กน้อย [3] (ไม่เกิน 10 จุด) [4] แต่ไม่พบสิวตุ่มนูนแดงขนาดใหญ่กว่า 5 มิลลิเมตรที่ภายในมีหนองปนเลือด (Nodule) โดยสิวอุดตัน (Comedones) สามารถรักษาด้วยยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอรูปแบบทาเฉพาะที่ (Topical retinoid) [1,3,4] เช่น tretinoin, adapalene, tazarotene ให้ทาวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน [1] หรือใช้ยาทา benzoyl peroxide [1,4] และหากมีสิวอักเสบขนาดเล็ก (Papulopustular) แนะนำให้ใช้ยาดังนี้ 1) benzoyl peroxide รูปแบบยาเดี่ยว หรือ 2) benzoyl peroxide ร่วมกับยาต้านจุลชีพรูปแบบทาเฉพาะที่ (Topical Antibiotic) เช่น clindamycin ซึ่งอาจจะใช้ร่วมกับยาทากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ หรือไม่ก็ได้ [3,4]
-สิวระดับรุนแรงปานกลาง (Moderate acne) จะมีลักษณะเป็นสิวอักเสบตุ่มนูนแดงขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร (Papulopustular) เป็นจำนวนมาก [3] (มากกว่า 10 จุด) [4] และพบสิวตุ่มนูนแดงขนาดใหญ่กว่า 5 มิลลิเมตรที่ภายในมีหนองปนเลือด (Nodule) ได้บ้าง [3] (ไม่เกิน 5 จุด) [4] แนะนำให้ใช้ยาดังนี้ 1) Benzoyl peroxide ร่วมกับยาทากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ หรือ 2) Benzoyl peroxide ร่วมกับยาต้านจุลชีพรูปแบบทาเฉพาะที่ (Topical Antibiotic) หรือ 3) ยาต้านจุลชีพใน รูปแบบรับประทาน (Oral antibiotic) ร่วมกับยาทา Benzoyl peroxide และยาทากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ [3,4]
-สิวระดับรุนแรงมาก (Severe acne) จะมีลักษณะเป็นสิวอักเสบตุ่มนูนแดงขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร (Papulopustular) และพบสิวตุ่มนูนแดงขนาดใหญ่กว่า 5 มิลลิเมตรที่ภายในมีหนองปนเลือด (Nodule) เป็นจำนวนมาก [3,4] แนะนำให้ใช้ยาดังนี้ 1) ยาต้านจุลชีพในรูปแบบรับประทาน ร่วมกับยาทา Benzoyl peroxide และยาทากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ หรือ 2) ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอในรูปแบบรับประทาน (Oral Isotretinoin) [3]
ส่วนสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) เช่น สังกะสี รูปแบบรับประทาน, Probiotic และน้ำมันปลา (Fish oil) ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการรักษาสิว [1,3]
สังกะสี (Zinc) มีบทบาทในการควบคุมเมตาบอลิซึม (Metabolism) ของไขมัน โปรตีน และกรดนิวคลีอิกในร่างกาย จากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า สังกะสีสามารถยับยั้ง integrins จาก keratinocytes ทำให้ลดการแบ่งจำนวนของเซลล์ ลดการสร้าง TNF-α และ IL-6 ซึ่งเป็นสารสื่อกลางที่ทำให้เกิดการอักเสบได้ และมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ โดยช่วยกระตุ้น antiradical enzyme (ได้แก่ Superoxide dismutase) และอาจมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน (antiandrogenic) [5,6]
การศึกษาประสิทธิภาพของสังกะสีในการรักษาสิว จากการสืบค้นข้อมูลพบหลายการศึกษา เช่น
1) การศึกษาการใช้สังกะสีชนิดรับประทาน (Zinc gluconate 30 มิลลิกรัมต่อวัน) ร่วมกับยา Erythromycin ชนิดทาเฉพาะที่ ในผู้ป่วยอายุมากกว่า 12 ปีจำนวน 30 รายที่เป็นสิวอักเสบ (Papule และ/หรือ Pustules > 15 จุด) ซึ่งใช้ยาทา Erythromycin ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาแล้วอาการไม่ดีขึ้น (มีผู้ป่วยจำนวน 20 รายเท่านั้นที่สามารถวิเคราะห์ผลได้) พบว่า หลังจากใช้ยา 30 วัน กลุ่มตัวอย่างมีจำนวนสิว papules และ pustules ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) และมีผู้ป่วย 5 รายเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง [6]
2) การศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trial) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ Zinc gluconate ชนิดรับประทาน (elemental zinc 30 มิลลิกรัม) (163 ราย) เทียบกับ Minocycline HCl (100 mg) (169 ราย) ในการรักษาสิวอักเสบ พบว่า ร้อยละ 31.2 ของผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับ Zinc gluconate มีสิวอักเสบลดลงจากเดิม 2 ใน 3 ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับ Minocycline (ร้อยละ 64.3) อาการไม่พึงประสงค์ที่พบมีดังนี้ กลุ่มที่ได้รับ Zinc gluconate 55 รายเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ส่วนกลุ่มที่ได้รับ Minocycline HCl 36 รายเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และอาการแพ้ทางผิวหนัง [7]
3) การศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trial) ในผู้ป่วยสิวอักเสบและสิวไม่อักเสบ เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของการใช้ทา Clindamycin ร่วมกับ ยาทา Benzoyl peroxide (73 ราย) เทียบกับยาทา erythromycin ร่วมกับยาทา zinc acetate (75 ราย) ประเมินผลในสัปดาห์ที่ 2 ของการใช้ยา พบว่า ในผู้ป่วยที่เป็นสิวไม่อักเสบ กลุ่มที่ได้รับ clindamycin ร่วมกับ benzoyl peroxide มีจำนวนสิวลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้รับ Erythromycin ร่วมกับ Zinc acetate (ร้อยละ 53.4 และร้อยละ 36.0 ตามลำดับ) ส่วนผู้ป่วยที่เป็นสิวอักเสบ กลุ่มที่ได้รับ clindamycin ร่วมกับ benzoyl peroxide มีจำนวนสิวอักเสบลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้รับ Erythromycin ร่วมกับ Zinc acetate (ร้อยละ 72.6 และร้อยละ 53.3 ตามลำดับ) [8]
4) การศึกษาแบบ Meta-analysis ซึ่งรวบรวมการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trial) ทั้งหมด 7 การศึกษา เพื่อ 1) เปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาสิวของการใช้สังกะสี (Zinc) เทียบกับยาหลอก (Placebo) และ2) เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการใช้สังกะสี (Zinc) ร่วมกับยาต้านจุลชีพ (Antibiotic) (กลุ่มที่ 1) กับการรักษามาตรฐาน (กลุ่มที่ 2 ) หลังจากใช้ยา 12 สัปดาห์ พบว่า 1) กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยสังกะสีจะมีจำนวนสิวลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Standard mean difference = 0.816; 95% CI 0.144-1.487, P = .017) และ2) กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพร่วมกับสังกะสี (กลุ่มที่ 1) จะมีจำนวนสิวลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษามาตรฐาน (กลุ่มที่ 2) (Standard mean difference = 0.681; 95% CI 0.157-1.206, P = .011) [9]
การเลือกใช้ยารักษาสิวจะขึ้นอยู่กับชนิดของสิวและความรุนแรงของสิวที่เป็นอยู่ ซึ่งมีรายละเอียดตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ส่วนสังกะสี (Zinc) ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการรักษาสิว จากการศึกษาที่สืบค้นได้จากฐานข้อมูล Pubmed มีทั้งการใช้ Zinc gluconate ชนิดรับประทาน (Elemental zinc 30 มิลลิกรัม) และรูปแบบยาทาเฉพาะที่ ส่วนอาการข้างเคียงที่พบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง [5,7,9] จากการสืบค้น ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับการเพิ่มฮอร์โมนเพศชายจากการใช้สังกะสี (Zinc) แต่มีการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า ในหนูที่ได้รับ ZnCl2 มีระดับของฮอร์โมน testosterone ลดลง [10]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Thiboutot D., Zaenglein LM. Pathogenesis, clinical manifestations, and diagnosis of acne vulgaris. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate. Waltham, MA. (Accessed November 11, 2021).
[2]. Schwinghammer LT. Dermatologic Disorders. In: DiPiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey LM, eds. Pharmacotherapy: a pathophysiologic approach. 10th ed. New York: McGraw-Hill. 2017:213-7.
[3]. Zaenglein AL, Arun L, Pathy AL, Schlosser BJ, Alikhan A, Baldwin HE, et al. Guidelines of care for the management of acne vulgaris. J Am Acad Dermatol 2016; 74: 945-73.
[4]. นภดล นพคุณ, เพ็ญวดี ทิมพัฒนพงษ์, วัณณศรี สินธุภัค และคณะ. แนวทางการดูแลรักษาโรคสิว. Clinical practice guideline ของสมาคมโรคผิวหนังแห่งประเทศไทย. 2554 เข้าถึงได้จาก: http://www.dst.or.th/files_news/Acne_2010.pdf. เข้าถึงเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2564.
[5]. Gupta M, Mahajan VK, Mehta KS, Chauhan PS. Zinc therapy in dermatology: a review. Dermatol Res Pract. 2014; 2014:709152.
[6]. Dreno B, Foulc P, Reynaud A, Moyse D, Habert H, Richet H. Effect of zinc gluconate on propionibacterium acnes resistance to erythromycin in patients with inflammatory acne: in vitro and in vivo study. Eur J Dermatol. 2005 May-Jun;15(3):152-5.
[7]. Dreno B, Moyse D, Alirezai M, Amblard P, Auffret N, Beylot C, Bodokh I, Chivot M, Daniel F, Humbert P, Meynadier J, Poli F; Acne Research and Study Group. Multicenter randomized comparative double-blind controlled clinical trial of the safety and efficacy of zinc gluconate versus minocycline hydrochloride in the treatment of inflammatory acne vulgaris. Dermatology. 2001;203(2):135-40.
[8]. Langner A, Sheehan-Dare R, Layton A. A randomized, single-blind comparison of topical clindamycin + benzoyl peroxide (Duac) and erythromycin + zinc acetate (Zineryt) in the treatment of mild to moderate facial acne vulgaris. J Eur Acad Dermatol Venereol. 2007 Mar;21(3):311-9.
[9]. Yee BE, Richards P, Sui JY, Marsch AF. Serum zinc levels and efficacy of zinc treatment in acne vulgaris: A systematic review and meta-analysis. Dermatol Ther. 2020 Nov;33(6):e14252.
[10]. Karger AG. Effects of Zinc on the Trophic Activity of Testosterone in Androgen Target Tissues of Castrate Mice. Acta Anat 1990; 139:265–271.

วันที่ตอบ : 24 พ.ย. 64 - 15:19:18




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110