ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ผมจะซื้อยารักษาหนองในควรซื้อยายี่ห้อไรครับ

ผมอายไม่กล้าซื้อต้องบอกว่าไงดีครับ
ผมเป็นมา5วันละอยากหายมาก
แล้วรู้สึกเจ็บท้องน้อยด้วย

[รหัสคำถาม : 304] วันที่รับคำถาม : 24 พ.ย. 64 - 15:05:18 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคหนองในแท้ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อ N. gonorrhoeae มีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-6 วัน อาการที่พบ คือ ในผู้ชายจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองไหลจากท่อปัสสาวะ พบหนองที่บริเวณปลายท่อปัสสาวะ ในบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น เป็นฝีที่บริเวณอวัยวะเพศหรือลูกอัณฑะอักเสบ, อาจพบหนองที่ช่องคอหรือทวารหนัก[1,2] และอาจมีอาการเจ็บบริเวณลูกอัณฑะหรือท้องน้อยได้[3] ในผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่อาจมีตกขาวผิดปกติ ไม่คัน หรือมีการติดเชื้อที่ช่องคอและทวารหนัก ส่วนสาเหตุของโรคหนองในเทียมอาจเกิดจากการติดเชื้อ C. trachomatis , M. genitalium เป็นต้น อาการที่พบ คือ ในผู้ชายจะมีอาการปัสสาวะแสบขัดอาจมีมูกใสหรือมูกขุ่นคันที่ท่อปัสสาวะ แต่ในผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่มีอาการ [1]
จากแนวทางการรักษาโรคหนองใน พ.ศ. 2562 แนะนำยาทางเลือกแรกสำหรับรักษาหนองในแท้ชนิดที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน คือ ยา Ceftriaxone 500 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว ร่วมกับให้การรักษาโรคหนองในเทียมร่วมด้วย (ใช้ยา Azithromycin 1 กรัม รับประทานครั้งเดียว หรือ Doxycycline 100 มิลลิกรัม รับประทานวันละสองครั้ง นาน 7 วัน) [1,2,3] ส่วนยาทางเลือกรองสำหรับรักษาหนองในแท้ เช่น Cefixime 800 มิลลิกรัม รับประทานครั้งเดียว[2] เนื่องจากยา Cefixime มีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาฉีด Ceftriaxone [2,4,5] ส่วนยาอื่น ๆ ที่มีรายงานการดื้อยาสูง และไม่แนะนำให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น ciprofloxacin, penicillin, tetracycline และ erythromycin[2] ส่วนในประเทศไทยไม่แนะนำให้ใช้ยา ciprofloxacin, penicillin และ tetracycline [6] สำหรับการรักษาหนองในเทียม พบว่า Doxycycline มีประสิทธิภาพดีกว่า Azithromycin 2.6% (95% CI, 0.5% ถึง 4.7%) [7] และ Azithromycin มีโอกาสความเสี่ยงในการเกิดความล้มเหลวจากการรักษาสูงกว่า Doxycycline 2.45 เท่า (95% CI 1.36 ถึง 4.41) [8]
การรักษาโรคหนองใน หากรักษาไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ตามมาได้ เช่น ฝีที่บริเวณอวัยวะเพศหรือลูกอัณฑะอักเสบ หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะแพร่กระจาย เช่น มีจุดเลือดออกขนาดเล็กในชั้นผิวหนังหรือเยื่อบุ[1]
จากคำถามของผู้ถามข้างต้น ไม่มีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับอาการของโรคที่เป็นอยู่ จึงแนะนำว่า ควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสม และควรรักษาคู่นอนที่มีเพศสัมพันธ์ภายใน 60 วันก่อนมีอาการ นอกจากนั้นควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 7 วันหลังการรักษาและจนกระทั่งคู่นอนได้รับการรักษาแล้ว[1]

เอกสารอ้างอิง
[1]. กรมควบคุมโรค สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. แนวทางการรักษาโรคหนองใน พ.ศ. 2562:20-22.
[2]. Walensky RP, Houry D, Jernigan DB, Bunnell R, Layden J, Iademarco MF. CDC’s Sexually Transmitted Infections Treatment Guidelines. 2021:67-73.
[3]. Golden MR and Handsfield HH. Goldman-Cecil Medicine.283:1906-1912.
[4]. Bai ZG, Bao XJ, Cheng WD, Yang KH, Li YP. Efficacy and safety of ceftriaxone for uncomplicated gonorrhoea: a meta-analysis of randomized controlled trials. Int J STD AIDS. 2012 Feb;23(2):126-32.
[5]. Unemo M, Golparian D, Eyre DW. Antimicrobial Resistance in Neisseria gonorrhoeae and Treatment of Gonorrhea. Methods Mol Biol. 2019;1997:37-58.
[6]. ปริศนา บัวสกุล, พงศธร แสงประเสริฐ, รสพร กิตติเยาวมาลย์. ความไวต่อยาปฏิชีวนะของเชื้อ N. gonorrhoeae ในปี พ.ศ. 2555-2561. วารสารโรคเอดส์ 2563;32:5-10.
[7]. Kong FY, Tabrizi SN, Law M, Vodstrcil LA, Chen M, Fairley CK, Guy R, Bradshaw C, Hocking JS. Azithromycin versus doxycycline for the treatment of genital chlamydia infection: a meta-analysis of randomized controlled trials. Clin Infect Dis. 2014 Jul 15;59(2):193-205.
[8]. Páez-Canro C, Alzate JP, González LM, Rubio-Romero JA, Lethaby A, Gaitán HG. Antibiotics for treating urogenital Chlamydia trachomatis infection in men and non-pregnant women. Cochrane Database Syst Rev. 2019 Jan 25;1(1):CD010871.

วันที่ตอบ : 24 พ.ย. 64 - 15:27:07




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110