ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาtransmine รักษาฝ้า

ไปรักษาฝ้าที่คลีนิคมาได้ยาTransminมาทานครั้งละ 2 เม็ดเช้าเย็นอยากทราบว่าถ้าทานต่อเนื่อง 3เดือนจะมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง ประสิทธิภาพของยาในการรักษาฝ้าดีมากขนาดไหน

[รหัสคำถาม : 308] วันที่รับคำถาม : 24 พ.ย. 64 - 22:04:00 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ฝ้า เป็นปัญหาผิวที่พบได้บ่อย มีลักษณะเป็นหย่อมสีน้ำตาลถึงเทาน้ำตาล มักเกิดขึ้นที่ใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณแก้ม สันจมูก หน้าผาก คาง และเหนือริมฝีปากบน หรือบริเวณที่ถูกแสงแดด ผื่นมักจะเกิดขึ้นทีละน้อย ช้า ๆ และมักเป็นเหมือนกันทั้ง 2 ข้าง มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย สาเหตุของฝ้า อาจเกิดจากการสัมผัสแสงแดด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การตั้งครรภ์ เครื่องสำอางที่ทำให้ระคายเคืองจนเกิดรอยดำแบบฝ้าได้ ยาสำหรับรักษาฝ้า ประกอบด้วย[1]
• ยาทา Hydroquinone เป็นยาทางเลือกแรกที่ใช้ในการรักษาฝ้า
• ยาทาอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ (tretinoin) และยาทาสเตียรอยด์ (corticosteroids) จะช่วยให้สีผิวจางลง (skin lightening) สามารถเลือกตัวใดตัวหนึ่ง โดยใช้เป็นยาตัวที่สอง ร่วมกับ hydroquinone นอกจากนี้ ยังมียา triple cream ซึ่งเป็นการผสมกันของยา hydroquinone + tretinoin + corticosteroids
• ยาทาเฉพาะที่อื่นๆ เช่น azelaic acid หรือ kojic acid
Transamin® มีตัวยาสำคัญ คือ Tranexamic acid มีข้อบ่งใช้ที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหริฐอเมริกา (US FDA) คือ ใช้ในผู้ที่มีประจำเดือนมากผิดปกติ และใช้ป้องกันภาวะเลือดออกแบบระยะสั้น จากการทำหัตถการทันตกรรม และภาวะประจำเดือนมากผิดปกติ (menorrhagia) ในผู้ป่วย Hemophilia ส่วนข้อบ่งใช้อื่นๆ (Off-label use) ได้แก่ ป้องกันอาการกำเริบระยะยาวในผู้ป่วย Hereditary angioedema (HAE) ป้องกันภาวะเลือดออกในผู้ที่ทำหัตถการทันตกรรมที่ใช้ยารับประทาน anticoagulants ป้องกันการการสูญเสียเลือดในระหว่างการผ่าตัด[2] รักษาภาวะไอเป็นเลือดแบบไม่รุนแรง (hemoptysis) และป้องกันและรักษาภาวะเลือดออกหลังคลอด (postpartum hemorrhage)[3] ในบัญชียาหลักแห่งชาติประเทศไทย ยา Tranexamic acid capsule มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยา คือ ใช้ในทางทันตกรรมเฉพาะกรณีห้ามเลือดด้วยวิธีปกติแล้วไม่ได้ผล, ใช้ก่อนทำหัตถการในช่องปากในผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเลือดออกแล้วหยุดยาก, ใช้สำหรับภาวะระดูมากผิดปกติ (menorrhagia)[4]
ขนาดยา Tranexamic acid โดยทั่วไปที่แนะนำ สำหรับภาวะประจำเดือนมากผิดปกติ คือ 1-1.5 กรัม วันละ 3-4 ครั้ง ขณะมีประจำเดือน และสำหรับการทำหัตถการทันตกรรมในผู้ป่วย Hemophilia คือ 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ให้ยา 2 ชั่วโมงก่อนทำหัตถการ จากนั้นให้อีก 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม 3-4 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 7-10 วัน[3] อาการข้างเคียงจากยาที่อาจพบได้ เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อหรือกระดูก คัดจมูก ปวดโพรงจมูก อ่อนเพลีย ยานี้อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรระมัดระวังการขับรถหรือทำงานใกล้เครื่องจักร หากใช้ยานี้แล้วมีการมองเห็นผิดปกติหรือการมองเห็นลดลง ควรหยุดยาและรีบไปพบแพทย์ สำหรับผู้ที่ใช้ยานานมากกว่า 3 เดือน ควรได้รับการตรวจตาเป็นระยะ ๆ[3] ยานี้มีข้อห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติหรือกำลังมีภาวะโรคลิ่มเลือดอุดตัน ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หรือผู้ที่กำลังใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม[3,5]
สำหรับการใช้ Tranexamic acid เพื่อรักษาฝ้า มีการศึกษาแบบ Meta-analysis ในปี ค.ศ.2021 ซึ่งรวบรวมการศึกษาการทดลองแบบสุ่ม (randomized controlled trial) ทั้งหมด 24 การศึกษา ที่ประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ tranexamic acid (TXA) ซึ่งใช้เป็นยาเสริมในการรักษาฝ้า (melasma) โดยมี 8 การศึกษาที่ศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยารับประทาน tranexamic acid 500-750 มิลลิกรัม เป็นเวลา 8-12 สัปดาห์, มี 4 การศึกษาเป็นการใช้ tranexamic acid แบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Intradermal microinjection 0.6-10 มิลลิกรัม, intradermal injection 100-200 มิลลิกรัม) เป็นเวลา 8-12 สัปดาห์ และอีก 12 การศึกษาที่เป็นการศึกษายาทา tranexamic acid ความเข้มข้นร้อยละ 2-10 เป็นเวลา 6-24 สัปดาห์ ประเมินผลโดยวัดค่า Melasma Area Severity Index (MASI)/modified MASI (mMASI) และ Melanin index (MI) ก่อนและหลังการรักษา พบว่า 1) ที่สัปดาห์ที่ 4 MASI/ mMASI มีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.00001) เมื่อเทียบกับก่อนใช้ยา, 2) คะแนน MASI/mMASI ในกลุ่มที่ใช้ tranexamic acid ร่วมกับการรักษาปกติ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ใช้ tranexamic acid ในสัปดาห์ที่ 4 (P=0.02), สัปดาห์ที่ 8 (P<0.00001), สัปดาห์ที่ 12 (P=0.001) และ สัปดาห์ที่ 16 (P<0.00001) แต่อย่างไรก็ตาม คะแนนการลดลงของ MI ในสัปดาห์ที่ 12 ไม่มีความแตกต่างกัน (P=0.52) อาการข้างเคียงที่พบจากการรับประทานยา tranexamic acid คือ อาการแสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ และปวดท้อง [6]
ส่วนอีกหนึ่งการศึกษาทดลองแบบสุ่ม (randomized controlled trial) ซึ่งเปรียบเทียบความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษาฝ้าของ tranexamic acid ในกลุ่มตัวอย่าง 160 คน สุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 65 คน กลุ่ม A ได้รับยารับประทาน tranexamic acid 250 มิลลิกรัม และ ranitidine 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ร่วมกับการทายาครีมแบบผสม (fluocinolone acetonide 0.01%, tretinoin 0.05% และ hydroquinone 2%) วันละครั้ง ส่วนกลุ่ม B ได้รับยาหลอก (calcium lactate และ multivitamin) ร่วมกับทายา เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ประเมินผลจากค่า mMASI และประเมินระดับ mMASI ในสัปดาห์ที่ 4, 8 และ 12 และประเมินอีกครั้งในสัปดาห์ที่ 24 สำหรับผู้ที่กลับเป็นซ้ำ โดยแบ่งค่า mMASI improvement grades เป็น 4 ระดับ ได้แก่ Marked (>75%), Good (50–75%), Satisfactory (25–49%) และ Poor (<25%) พบว่า ในสัปดาห์ที่ 4 กลุ่ม A มีค่า mMASI improvement อยู่ในระดับที่เห็นได้ชัดเจน (Marked >75%) มากกว่ากลุ่ม B (ร้อยละ 13.1 และ ร้อยละ 1.7 ตามลำดับ, P= 0.004) ส่วนสัปดาห์ที่ 12 ให้ผลในลักษณะเดียวกัน ร้อยละ 65.6 และ ร้อยละ 27.1, P= 0.0001) ส่วนการกลับเป็นซ้ำในสัปดาห์ที่ 24 พบว่า กลุ่ม A มีการกลับเป็นซ้ำน้อยกว่า กลุ่ม B (ร้อยละ 18.03 และร้อยละ 64.4 ตามลำดับ) อาการข้างเคียงที่พบได้ในผู้ที่ได้รับยา Tranexamic acid คือ อาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง ปวดท้อง อาเจียน และประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ (hypomenorrhea) [7]
โดยสรุป Tranexamic acid มีข้อบ่งใช้ที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (US FDA) คือ ใช้ในผู้ที่มีประจำเดือนมากผิดปกติ, และใช้ป้องกันภาวะเลือดออกแบบระยะสั้น จากการทำหัตถการทันตกรรม และภาวะประจำเดือนมากผิดปกติ (menorrhagia) ในผู้ป่วย Hemophilia ส่วนในบัญชียาหลักแห่งชาติระบุว่า ใช้ในทางทันตกรรมเฉพาะกรณีห้ามเลือดด้วยวิธีปกติแล้วไม่ได้ผล, ใช้ก่อนทำหัตถการในช่องปากในผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเลือดออกแล้วหยุดยาก, ใช้สำหรับภาวะระดูมากผิดปกติ (menorrhagia) แต่ไม่พบข้อบ่งใช้ของยานี้ในการรักษาฝ้า อย่างไรก็ตาม มีการศึกษา การใช้ Tranexamic acid ชนิดรับประทานในขนาดต่างๆกัน เช่น 500-750 มิลลิกรัม ต่อวัน ในการรักษาฝ้า [6,7] โดยใช้เป็นยาเสริมร่วมกับการรักษาฝ้าแบบปกติตามรายละเอียดข้างต้น

เอกสารอ้างอิง
[1]. American Academy of Dermatology Association. MELASMA: DIAGNOSIS AND TREATMENT [Internet]. [cited 2021 November 12]. Available form: https://www.aad.org/public/diseases/a-z/melasma-treatment.
[2]. Chauncey JM, Wieters JS. Tranexamic Acid. [Updated 2021 Jul 28]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2021 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK532909/.
[3]. Tranexamic acid. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.:2021 [cited 16 Nov 2021]. Available form: http://online.lexi.com.
[4]. National Drug Information. Tranexamic acid [Internet]. [cited 2021 November 12]. Available form: http://ndi.fda.moph.go.th/drug_national_detail/index/6418.
[5]. Bala HR, Lee S, Wong C, Pandya AG, Rodrigues M. Oral Tranexamic Acid for the Treatment of Melasma: A Review. Dermatol Surg. 2018 Jun;44(6):814-825.
[6]. Feng X, Su H, Xie J. Efficacy and safety of tranexamic acid in the treatment of adult melasma: An updated meta-analysis of randomized controlled trials. J Clin Pharm Ther. 2021 Oct;46(5):1263-1273.
[7]. Minni K, Poojary S. Efficacy and safety of oral tranexamic acid as an adjuvant in Indian patients with melasma: a prospective, interventional, single-centre, triple-blind, randomized, placebo-control, parallel group study. J Eur Acad Dermatol Venereol. 2020 Nov;34(11):2636-2644.

วันที่ตอบ : 25 พ.ย. 64 - 09:45:05




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110