ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
นาโปรเซน ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2

ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ มีอาการปวดฟัน ได้ทานยานาโปรเซนไป ไม่ทราบว่าจะมีความเสี่ยงต่อทารกมากไหม

[รหัสคำถาม : 310] วันที่รับคำถาม : 25 พ.ย. 64 - 11:35:11 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Naproxen (นาโปรเซน) เป็นยาในกลุ่ม NSAIDs (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs) หรือ ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ มีกลไกยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase-1 และ 2 (COX-1 และ 2) แบบย้อนกลับได้ ซึ่งส่งผลให้การก่อตัวของสารตั้งต้น prostaglandin (โพรสตาแกลนดิน) ลดลง มีคุณสมบัติเป็นยาลดไข้ ยาแก้ปวด และต้านการอักเสบ[1]
ข้อมูลการใช้ยา Naproxen ในมนุษย์ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงในการใช้ยาในไตรมาสที่ 1 (สัปดาห์ที่ 1 - 13) และไตรมาสที่ 3 (สัปดาห์ที่ 28 - 42) ของการตั้งครรภ์ ซึ่งการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ได้แก่ naproxen ในไตรมาสแรก พบว่ามีความเสี่ยงต่อความผิดปกติทางโครงสร้างทารกในครรภ์และ spontaneous abortion (การแท้งบุตรเอง) ข้อบกพร่องของโครงสร้างที่พบมักเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของหัวใจ มีการรายงานความบกพร่องของผนังกั้นโพรงจมูก และมีรายงานการเกิดเกี่ยวกับปากแหว่งในช่องปาก[2]
การใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs ควรหลีกเลี่ยงในสตรีมีครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป (ไตรมาสที่ 2) หากจำเป็นต้องใช้ NSAIDs ระหว่างตั้งครรภ์ 20 ถึง 30 สัปดาห์ (ช่วงระหว่างกลางของไตรมาสที่ 2 ถึงต้นไตรมาสที่ 3) ให้จำกัดการใช้ยาให้เหลือขนาดยาที่น้อยที่สุดที่เพียงพอให้เกิดประสิทธิภาพและระยะเวลาการใช้ยาที่สั้นที่สุด พิจารณาการตรวจ ultrasound (อัลตร้าซาวด์) ของน้ำคร่ำหากการรักษาใช้เวลาเวลาเกิน 48 ชั่วโมงและหยุดการใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs เมื่อพบภาวะ Oligohydramnios (น้ำคร่ำน้อย)[3]
ในไตรมาสที่ 3 ยากลุ่ม NSAIDs ทำให้เกิดการปิดของ ductus arteriosus ก่อนวัยอันควร อาจทำให้เกิด Persistent Pulmonary hypertension of the new born (ความดันในปอดสูงในทารกแรกเกิด) ทำให้เห็นว่าไม่ควรใช้ยา naproxen ในปลายไตรมาสที่ 3 และไม่ควรใช้สารยับยั้งการสังเคราะห์ prostaglandin รวมถึงยา naproxen เพราะจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ายากลุ่มนี้สามารถต้านการฝังตัวของตัวอ่อนได้[2]
ยาในกลุ่ม NSAIDs ไม่แนะนำสำหรับใช้รักษาอาการไมเกรนเฉียบพลันขณะตั้งครรภ์[4, 5] โดยผู้ป่วยตั้งครรภ์สามารถใช้ยา Paracetamol (พาราเซตามอล) แทนยากลุ่ม NSAIDs สำหรับอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยใช้ขนาดยาเท่ากับผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์คือ ไม่เกิน 4 กรัมต่อวันและไม่ควรใช้เป็นระยะเวลานาน[6]

เอกสารอ้างอิง
[1]. naproxen. in: Lexi-drugs online [Database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [Updated Nov 2021; cited 14 Nov 2021]. Available from: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/multinat_f/4668981?cesid=2W1Qm30Um1d&searchUrl=%2Flco%2Faction%2Fsearch%3Fq%3Dnaprxen%26t%3Dname%26va%3Dnaprxen.
[2]. Briggs GG, Freeman RK. Drug in pregnancy and lactation. 10th ed. Philadelphia : Wolters Kluwer Health. 2015; 955-56.
[3]. Food and Drug Administration. FDA recommends avoiding use of NSAIDs in pregnancy at 20 weeks or later because they can result in low amniotic fluid [Internet]. 2020 [cited 2021 Nov 16]. Available from: https://www.fda.gov/drugs/drug-safety-and-availability/fda-recommends-avoiding-use-nsaids-pregnancy-20-weeks-or-later-because-they-can-result-low-amniotic.
[4]. Burch R. Epidemiology and Treatment of Menstrual Migraine and Migraine During Pregnancy and Lactation: A Narrative Review. Headache. 2020;60(1):200-216.
[5]. van Casteren DS, van den Brink AM, Terwindt GM. Migraine and other headache disorders in pregnancy. Handb Clin Neurol. 2020;172:187-199.
[6]. Black E, Khor KE, Kennedy D, Chutatape A, Sharma S, Vancaillie T, et al. Medication Use and Pain Management in Pregnancy: A Critical Review. Pain Pract. 2019;19(8):875-899.

วันที่ตอบ : 25 พ.ย. 64 - 13:56:28




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110