ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
cystitis ในหญิงตั้งครรภ์

ผู้ป่วยเพศหญิงอายุ 25 ปีขณะนี้ตั้งครรภ์ได้ 24 สัปดาห์ ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็น uncomplicated cystitis ไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆ อยากทราบว่ามียาอะไรบ้างที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยรายนี้ได้อย่างปลอดภัยค่ะ

[รหัสคำถาม : 311] วันที่รับคำถาม : 25 พ.ย. 64 - 17:14:29 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบมีอาการที่พบ ได้แก่ ปวดแสบเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย อั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะกระปริดกระปรอย และปวดท้องน้อย โดยสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทดังนี้
1. โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ซับซ้อน (uncomplicated cystitis)
ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ซับซ้อนส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง โดยเชื้อ Escherichia coli เป็นแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยมากที่สุด ร้อยละ 75-90 และเชื้อ Staphylococcus saprophyticus เป็นแบคทีเรียที่พบบ่อยเป็นอันดับสอง ซึ่งพบได้ร้อยละ 10-20[1]
2. โรคกระเพาะอักเสบแบบซับซ้อน (complicated cystitis)
การติดเชื้อกระเพาะปัสสาวะแบบซับซ้อนคือ การอักเสบของกระเพาะปัสสาวะที่พบ
ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงแบบซับซ้อนต่าง ๆ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรค
เอดส์ ผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาล ผู้ป่วยมีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น มีกายวิภาคตีบตัน มีสิ่งแปลกปลอม มี stent หรือสายสวนปัสสาวะ เชื้อสาเหตุ เช่น เชื้อดื้อต่อยาปฏิชีวนะ เชื้อที่ไม่พบบ่อย หรือเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงมาก ปัจจัยเสี่ยงที่ซับซ้อนเหล่านี้อาจดูได้จากความรุนแรงของอาการแสดง ประวัติการรักษาในอดีต และไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่เหมะสม อาการของการติดเชื้อกระเพาะปัสสาวะแบบซับซ้อนมีได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อย ปานกลางไปจนถึงอาการรุนแรง [1]
ในภาวะตั้งครรภ์ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบในท่อไตและกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงมีการกดเบียดท่อไตของมดลูกที่ขนาดโตขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเข้าสู่ไตรมาศที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นและหากรุนแรงจนเกิดกรวยไตอักเสบจะทำให้ทารกมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อยหรือแท้งได้ จึงแนะนำให้เข้ารับการฝากครรภ์เพื่อตรวจสุขภาพครรภ์และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อันรวมไปถึงโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างปัสสาวะและนำไปตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย และหากพบเชื้อแบคทีเรียแม้ไม่มีอาการก็ต้องรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ [2] ในการรักษาภาวะ Cystitis ต้องให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อก่อโรค โดยส่วนใหญ่คือเชื้อ Escherichia coli และต้องปลอดภัยต่อมารดาและทารก โดยยาที่แนะนำให้ใช้คือ ยากลุ่ม Cephalosporins, Fosfomycin, Amoxycillin-clavulanic acid [2],[4],[5] ส่วนยา Co-trimoxazole ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากยาสามารถผ่านรกทำให้ทารกเกิดมาตัวเหลือง (kerniterus) [4],[5] ไม่แนะนำให้ใช้ยาในกลุ่ม Fluoroquinolones และ Tetracycline เนื่องจากอาจเป็นพิษต่อทารกในครรภ์ [4],[5] โดยยาที่แนะนำให้ใช้เพื่อรักษาโรคกระเพาะอักเสบแบบไม่ซับซ้อน (uncomplicated cystitis) ในหญิงตั้งครรภ์ได้ ได้แก่ [3],[4]
- Cephalexin 250 mg 2 หรือ 4 ครั้ง/วัน เป็นระยะเวลา 7-10 วัน
- Amoxicillin-clavulanic acid 250 mg 4 ครั้ง/วัน เป็นระยะเวลา 7-10 วัน
- Fosfomycin 3 g ครั้งเดียว
- Erythromycin 250-500 mg 4 ครั้ง/วัน เป็นระยะเวลา 7-10 วัน
- Nitrofurantoin 50-100 mg 4 ครั้ง/วัน เป็นระยะเวลา 7-10 วัน
โดยหลังสิ้นสุดการรักษาควรส่งตรวจเพาะเชื้อซ้ำเพื่อให้แน่ใจว่าไม่พบเชื้อแบคทีเรียแล้ว หากพบการติดเชื้อแบบมีอาการ เช่น กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ควรรักษาตัวในโรงพยาบาลและได้รับยากลุ่ม Cephalosporins, Penicillins with beta-lactamase inhibitors หรือ Monobactams และต้องตรวจเพาะเชื้อจากปัสสาวะเป็นระยะ ๆ ตลอดการตั้งครรภ์ เพราะมักเกิดการติดเชื้อซ้ำได้ [2]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Hanno PM, Burks DA, Clemens JQ, et al. Interstitial Cystitis Guidelines Panel of the American Urological Association Education and Research, Inc. AUA guideline for the diagnosis and treatment of interstitial cystitis/bladder pain syndrome. J Urol. 2011 ;185(6):2162-70.
[2]. วรพจน์ ชุณหคล้าย, อภิรักษ์ สันติงามกุล. Common Urologic Problems for Medical Student. กรุงเทพฯ: สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย; 2558.
[3]. Gupta K, Hooton TM, Naber KG, Wullt B, Colgan R, Miller G, et al. International Clinical Practice Guidelines for Treatment of Acute Uncomplicated Cystitis and Pyelonephritis in Women: A 2010 Update by the Infectious Diseases Society of America and the European Society for Microbiology and Infectious Diseases. Clin Infect Dis 2011;52:103-20.
[4]. Delzell JE Jr, Lefevre ML. Urinary tract infections during pregnancy. Am Fam Physician. 2000 ;61(3):713-21.
[5]. American Pharmacists Association. Drug information handbook: with international trade names index. 25th ed. Hudson, Ohio: Lexi-Comp; 2016.
วันที่ตอบ : 01 ธ.ค. 64 - 10:37:02




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110