ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
เกลือแร่ท้องเสีย

อยากทราบว่าเกลือแร่สามารถกินได้เท่าไหรต่อวัน ประมาณกี่ซอง พอดีลูกสาวอายุ24 น้ำหนัก 50 ทานหอยแมลงภู่เมื่อวาน แล้วท้องเสีย 7-8 ครั้ง ปากแห้งเล็กน้อย ไม่มีอาการอื่นๆ

[รหัสคำถาม : 312] วันที่รับคำถาม : 26 พ.ย. 64 - 13:20:32 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

อุจจาระร่วงเฉียบพลันในผู้ใหญ่ (acute diarrhea in adults) หมายถึง อาการอุจจาระร่วงอย่างเฉียบพลันในผู้ป่วยที่มีอายุ 15 ปีหรือมากกว่า ที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง โดยอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและมีอาการไม่เกิน 2 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือโปรโตซัว
...
การประเมินความรุนแรงของอุจจาระร่วงเฉียบพลันในผู้ใหญ่ประเมินจากการความรุนแรงของภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ เนื่องจากผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงทุกรายจะเกิดการสูญเสียน้ำและอิเล็กโทรไลต์ไม่ว่าจะมีอาการแสดงของการสูญเสียน้ำหรือไม่ ดังนั้นผู้ป่วยทุกรายควรได้รับสารน้ำทดแทน ซึ่งรูปแบบของสารน้ำทดแทนที่ใช้ขึ้นกับความรุนแรงในการขาดน้ำ ผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำในระดับน้อยถึงปานกลาง เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง แต่ยังพอเดินไปไหนมาไหนได้ ไม่กระหายน้ำหรือกระหายน้ำเล็กน้อย ควรได้รับสารน้ำทดแทนทางปาก รูปแบบที่แนะนำและนิยมใช้คือ Oral Rehydration Salt (ORS) หรือผงน้ำตาลเกลือแร่เพื่อป้องกันหรือแก้ไขภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ โดย ORS ไม่สามารถช่วยหยุดหรือบรรเทาอาการท้องเสียได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำรุนแรงมาก เช่น อ่อนเพลียมากจนไม่มีแรง ลุกเดินไม่ค่อยไหวต้องนั่งหรือนอนอยู่กับเตียง ปากคอแห้งมาก กระหายน้ำมาก มีปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเร็ว หรือในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานได้หรืออาเจียนมาก ควรไปสถานพยาบาลเพื่อให้สารน้ำทดแทนในรูปฉีดเข้าหลอดเลือดดำ[1,2]
...
Oral Rehydration Salt (ORS) Solution คือ สารละลายที่มีปริมาณน้ำตาลและอิเล็กโทรไลต์ตามที่ WHO/ UNICEF กำหนด ซึ่งประกอบด้วย Sodium chloride 2.6 g/L, Glucose (anhydrous) 13.5 g/L, Potassium chloride 1.5 g/L, Trisodium citrate, dihydrate 2.9 g/L มี total osmolality 245 mOsm/L[3] วิธีการเตรียมผงน้ำตาลเกลือแร่สำหรับทดแทนการสูญเสียน้ำจากการท้องเสียทำโดยละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วตามปริมาตรที่ระบุบนฉลาก เช่น โอ.อาร์.เอส. องค์การเภสัชกรรม (ORS GPO) 1 ซอง ขนาด 6.975 g ประกอบด้วย Sodium chloride 0.875 g, Glucose 5 g, Potassium chloride 0.375 g, Trisodium citrate dihydrate 0.725 g ให้ละลายในน้ำ 250 ml จะทำให้ได้ความเข้มข้นของเกลือแร่ที่เหมาะสม รับประทานโดยการค่อย ๆจิบ ไม่ควรรับประทานรวดเดียวจนหมด เนื่องจากผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงมักมีสภาวะการดูดซึมน้ำและอาหารได้ลดลง ส่งผลให้อาการอุจจาระร่วงรุนแรงขึ้นได้ และควรรับประทานให้หมดภายใน 24 ชั่วโมงเมื่อละลายแล้ว หากรับประทานไม่หมดภายใน 24 ชั่วโมงให้เททิ้งและละลายซองใหม่[4]
...
ผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำในระดับน้อยถึงปานกลางควรรับประทาน ORS ทุกครั้งหลังถ่ายเหลว โดยให้สารน้ำทดแทนในปริมาณ 1-2 เท่าของปริมาณน้ำและอิเล็กโทรไลต์ที่สูญเสียไป โดยในผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำในระดับน้อยสามารถรับประทานสารน้ำทดแทนได้ถึง 2 ลิตร/วัน และในผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำในระดับปานกลางสามารถรับประทานสารน้ำทดแทนได้ 2.2-4 ลิตร ใน 4 ชั่วโมงแรก โดยจิบเรื่อย ๆจนกว่าอาการจะดีขึ้น[1,5-7] และเมื่ออาการท้องร่วงหรืออาการอ่อนเพลียจากท้องร่วงดีขึ้นสามารถหยุดรับประทานได้ เนื่องจากการรับประทาน ORS โดยที่ร่างกายไม่มีภาวะขาดน้ำอาจทำให้เกิดอาการบวมน้ำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคไต โรคหัวใจ หรือมีอาการบวมน้ำอยู่ก่อนแล้ว และอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นในผู้ที่มีประวัติความดันโลหิตสูงจากการได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินไป[8] นอกจากนี้ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์หากอาการท้องร่วงแย่ลง หรือมีอาการนานกว่า 24 ชั่วโมง หรือมีอาการปวดท้องรุนแรง อุจจาระหรืออาเจียนเป็นเลือด มีไข้หรือมีอาการของภาวะขาดน้ำรุนแรง[6]

เอกสารอ้างอิง
[1]. สถาพร มานัสสถิต, สุกัญญา จงถาวรสถิต, รัชนี ธีระวิทยเลิศ, ปิ่นนพธุวานนท์. แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในผู้ใหญ่. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชุมชุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย; 2546: 18-9.
[2]. Fabel PH, Shealy KM. Diarrhea. In: DiPiro JT, Tolbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey LM, Ed’s. Pharmacotherapy Handbook. 9th ed. New York: McGrew-Hill. 2015: 200-5.
[3]. World Health Organization. ORAL REHYDRATION SALTS: PRODUCTION OF THE NEW ORS. 2006. Available at: http://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/43209/9241593180.pdf?sequence=1. Accessed November 20, 2022.
[4]. National drug information. บัญชียาแผนปัจจุบัน (บัญชียาแผนปัจจุบัน). Available at: http://ndi.fda.moph.go.th/Drug_national/drugs_current?p=บัญชียาแผนปัจจุบัน&name=บัญชียาแผนปัจจุบัน&g1=1&g2=4. Accessed November 20, 2022.
[5]. Stephen Freedman. Oral rehydration therapy. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. (Accessed November 20, 2022).
[6]. World Gastroenterology Organisation Global Guidelines 2012. Acute diarrhea in adults and children: a global perspective. Available at: http://www.worldgastroenterology.org. Accessed November 20, 2022.
[7]. Manatsathit, Sathaporn et al. “Guideline for the management of acute diarrhea in adults.” Journal of gastroenterology and hepatology vol. 17 Suppl (2002): S54-71.
[8]. ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา, เฉลิมศรี ภุมมางกูร, พุทธรัตน์ ขันอาษา. ข้อแนะนําในการรักษาโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันสำหรับเภสัชกรชุมชน. Thai Journal Online. 2561; 14(4): 1-17.

วันที่ตอบ : 20 ธ.ค. 65 - 20:45:29




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110