ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ผู้หญิงผมบางใช้ finasteride ได้มั้ยคะ?

ดิฉันอายุ 32 ปี ผมร่วงเยอะมาก และบางลงเรื่อยๆ อยากทราบว่าจะใช้ยา finasteride ได้มั้ยคะ (ดิฉันไม่มีโรคประจำตัว และไม่มียาที่ใช้อยู่เป็นประจำค่ะ) หรือควรเริ่มใช้ยาตัวไหนดีคะ

[รหัสคำถาม : 315] วันที่รับคำถาม : 02 ธ.ค. 64 - 18:18:17 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ผมร่วงในผู้หญิงที่เกิดจากพันธุกรรม (Female pattern hair loss) เป็นการหลุดร่วงของเส้นผมที่ไม่มีแผลเป็น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ มีลักษณะเฉพาะโดยจะมีการหลุดร่วงของผม (terminal hair) ที่บริเวณเหนือหน้าผาก และบริเวณกระหม่อมของศีรษะ[1] ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ early onset ผมร่วงเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และระยะ late onset ผมร่วงเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี หรือเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือบางรายพบเมื่ออายุ 60 ปี[2] อย่างไรก็ตาม อาการผมร่วงอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น โรคผิวหนัง[3]
ยารักษาผมร่วงในผู้หญิงที่เกิดจากพันธุกรรม ที่แนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกแรก (First-line drug) คือ ยา minoxidil รูปแบบยาใช้ภายนอก ได้แก่ 2% หรือ 5% minoxidil ในรูปแบบสารละลาย (solution) และ 5% minoxidil รูปแบบโฟม ส่วนยาที่ทางเลือกรอง (second-line drug) เป็นยารูปแบบรับประทาน เช่น Spironolactone, Cyproterone acetate (CPA), Flutamide และ Finasteride[1] ซึ่งยาเหล่านี้แนะนำให้ใช้ในกรณีที่มีผมร่วงที่สัมพันธ์กับการมีระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนสูง (hyperandrogenism) เช่น มีขนเยอะ เป็นสิว[1,2,4] หรือใช้ในผู้ที่มีการตอบสนองไม่ดีต่อการรักษาด้วย minoxidil รูปแบบยาใช้ภายนอกเพียงอย่างเดียว[1] อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้จาก minoxidil รูปแบบทาเฉพาะที่ เช่น ผื่นแดง คัน มีขนที่หน้ามากกว่าปกติ ผมเปลี่ยนสี ในช่วงแรกของการรักษาอาจทำให้เกิดการหลุดร่วงของเส้นผมมากกว่าปกติ ไม่ควรใช้ยานี้กับส่วนอื่นของร่างกาย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณตา ปาก จมูก หรือเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ[5]
สำหรับประสิทธิภาพของยา minoxidil รูปแบบทาเฉพาะที่ใช้ในการรักษาผมร่วงในผู้หญิงที่เกิดจากพันธุกรรม มีการศึกษาแบบ systematic review และ meta-analysis ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ทั้งหมด 47 การศึกษา โดยมี 4 การศึกษาที่เปรียบเทียบระหว่าง 2% และ 5% minoxidil รูปแบบทาเฉพาะที่ พบว่ายาทั้งสองความเข้มข้นมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันในเรื่องการงอกใหม่ของเส้นผม (Risk ratio (RR) = 1.12, 95% CI 0.72-1.73), ผลต่อคุณภาพชีวิต (P value = 0.672), และอาการไม่พึงประสงค์/การทนต่อยา (RR 1.02, 95% CI 0.91-1.15)[6] ส่วนอีกหนึ่งการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ซึ่งเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยา 2% และ 5% minoxidil รูปแบบสารละลายทาเฉพาะที่ เทียบกับยาหลอก ในการรักษาอาการผมร่วงในผู้หญิงที่เกิดจากพันธุกรรม พบว่าทั้ง 5% และ 2% minoxidil มีประสิทธิภาพในการเพิ่มจำนวนขนอ่อน และเพิ่มการเจริญเติบโตของเส้นผมที่งอกใหม่/การปกคลุมหนังศีรษะได้ดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ 5% minoxidil ทำให้จำนวนขนอ่อนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย (24.5 ± 21.9) เทียบกับยาหลอก (9.4 ± 14.6 ) (P value <0.001) และทำให้การเจริญเติบโตของเส้นผมที่งอกใหม่/การปกคลุมหนังศีรษะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย (11.7 ± 17.2) เทียบกับยาหลอก (2.2 ± 17.9) (P value=0.001) ส่วน 2% minoxidil มีประสิทธิภาพเหนือกว่ายาหลอกดังนี้ จำนวนขนอ่อนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย (20.7 ± 17.6) มากกว่ายาหลอก (9.4 ± 14.6) (P value <0.001) และมีการเจริญเติบโตของเส้นผมที่งอกใหม่/การปกคลุมหนังศีรษะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย (10.3 ± 17.0) มากกว่ายาหลอก (2.2 ± 17.9) (P value=0.004)[7]
สำหรับวิธีใช้ 2% minoxidil ในรูปแบบสารละลายทาเฉพาะที่ ให้ใช้ครั้งละ 1 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้ง ส่วนสารละลายยา 5% minoxidil ใช้ครั้งละ 1 มิลลิลิตร วันละ 1 ครั้ง ส่วนรูปแบบโฟม 5% minoxidil ใช้ครั้งละครึ่งฝา วันละ 1 ครั้ง[1, 3, 4] วิธีการใช้คือ ให้นวด minoxidil ลงบนหนังศีรษะด้วยนิ้วมือ ควรใช้อย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน[1] ระยะเวลาเห็นผลอยู่ที่ 6 - 8 เดือน ส่วนใหญ่แล้วจะมีผลสูงสุดเมื่อใช้นาน 12 เดือน สามารถใช้ต่อเนื่องได้[1, 3]
ส่วนยา Finasteride เป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5alpha-reductase ทำให้ระดับฮอร์โมน Dihydrotestosterone (DHT) ในร่างกายลดลง[3, 8] ยานี้มีข้อบ่งใช้ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาคือ รักษาโรคต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia) และรักษาผมร่วงในผู้ชายที่เกิดจากพันธุกรรม (male pattern alopecia)[8] ส่วนการใช้เพี่อรักษาผมร่วงในผู้หญิงที่เกิดจากพันธุกรรมเป็นการใช้ยานอกข้อบ่งใช้ (off-label indication)[4] โดยจะใช้ในผู้ที่มีระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนสูง(hyperandrogenism)[1,2,4] หรือใช้ในผู้ที่มีการตอบสนองไม่ดีต่อการรักษาด้วยยา minoxidil รูปแบบยาใช้ภายนอกเพียงอย่างเดียว[1] ขนาดยาโดยทั่วไปที่แนะนำคือ รับประทานครั้งละ 1 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง[2, 3] อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้ เช่น ตึงคัดเต้านม เต้านมโตในผู้ชาย หรือความต้องการทางเพศลดลง ยานี้มีข้อห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์เนื่องจากทำให้เกิดทารกวิรูปได้[4, 8]
มีการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยา finasteride ในการรักษาผมร่วงในผู้หญิงที่เกิดจากพันธุกรรม เช่น 1) การศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม โดยเปรียบเทียบยา finasteride ขนาด 1 มิลลิกรัมกับยาหลอก ในการเพิ่มการงอกใหม่ของเส้นผม และความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมการศึกษา โดยติดตามนาน 12 เดือน พบว่า ยา finasteride มีประสิทธิภาพในการเพิ่มการงอกใหม่ของเส้นผมไม่แตกต่างกับยาหลอก (RR 0.95, 95% CI 0.66 - 1.37) ส่วนความพึงใจไม่มีความแตกต่างกับยาหลอกเช่นเดียวกัน (RR 0.78, 95% CI 0.40-1.5)[9] 2) อีกหนึ่งการศึกษาเป็นแบบการศึกษานำร่อง ซึ่งเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังใช้ยา finasteride 1.25 มิลลิกรัม ติดตามเป็นระยะเวลานาน 28 สัปดาห์ พบว่า ความหนาแน่นของผมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.87 (101.7±27.14 เทียบกับ 107.8±18.34/ตารางเมตร, P value=0.29) และความหนาของเส้นผมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 11.8 (53.4±10.3 เทียบกับ 60.1±10.4 ไม่โครเมตร, P value=0.06) ซึ่งไม่มีความแตกต่างกัน[10] 3) การศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครวัยก่อนหมดประจำเดือนที่กำลังได้รับยาคุมกำเนิดขนิดฮอร์โมนรวม (Drospirenone + ethinyl estradiol) จำนวน 37 ราย ซึ่งเปรียบเทียบประสิทธิภาพก่อนและหลังใช้ยา finasteride 2.5 มิลลิกรัม ติดตามนาน 12 เดือน พบว่า ความหนาแน่นของผมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ ผู้ป่วย 23 รายอาการดีขึ้นจากเดิม (P value = 0.002) แบ่งเป็น 12 รายดีขึ้นเล็กน้อย (ระดับคะแนน = 1), 8 รายดีขึ้นปานกลาง (ระดับคะแนน = 2), และ 3 รายดีขึ้นมาก (ระดับคะแนน = 3), 13 รายมีอาการคงที่ (ระดับคะแนน = 0) และอีก 1 รายมีอาการแย่ลง (ระดับคะแนน = -1)[11]
โดยสรุป ยาที่แนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกแรกสำหรับรักษาผมร่วงในผู้หญิงที่เกิดจากพันธุกรรม (Female pattern hair loss) คือ ยา minoxidil รูปแบบยาใช้ภายนอก (2% minoxidil หรือ 5% minoxidil รูปแบบสารละลาย และ 5% minoxidil รูปแบบโฟม)[1] ส่วนยา finasteride แนะนำให้ใช้ในกรณีที่มีอาการผมร่วงที่สัมพันธ์กับการมีระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนสูง (hyperandrogenism)[1, 2, 4] หรือใช้ในผู้ที่มีการตอบสนองไม่ดีต่อการรักษาด้วยยา minoxidil (รูปแบบยาใช้ภายนอก) เพียงอย่างเดียว[1] ยา finasteride มีข้อห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์เนื่องจากอาจทำให้เกิดทารกวิรูปได้[4, 8] และการใช้ยานี้ควรได้รับการประเมินจากแพทย์และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

เอกสารอ้างอิง
[1]. Amy McMichael. Female pattern hair loss (androgenetic alopecia in women): Treatment and prognosis. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate. Waltham, MA. [Accessed November 11, 2021.].
[2]. ผมร่วงและศีรษะล้าน [Internet]. [cited 2021 Nov 12]. Available from: http://medinfo.psu.ac.th/smj2/26_6/pdf-26-6/08-sunisa.pdf.
[3]. การผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผม [Internet]. [cited 2021 Nov 12]. Available from: http://clmjournal.org/_fileupload/journal/13-4-6.pdf.
[4]. Rodney Sinclair, Wei-Liang Koh. Treatment of Skin Disease: Androgenetic alopecia. 6th ed. 2022:40-43.
[5]. Minoxidil (topical): Drug information. In: UpToDate. Post TW. Ed. Massachusetts: UpToDate; 2021.
[6]. Van Zuuren EJ, Fedorowicz Z, Schoones J. Interventions for female pattern hair loss. Cochrane Database of Systematic Reviews 2016, Issue 5. Art. No.: CD007628. DOI: 10.1002/14651858.CD007628.pub4. Accessed 12 November 2021.
[7]. Lucky AW, Piacquadio DJ, Ditre CM, Dunlap F, Kantor I, Pandya AG, Savin RC, Tharp MD. A randomized, placebo-controlled trial of 5% and 2% topical minoxidil solutions in the treatment of female pattern hair loss. J Am Acad Dermatol. 2004 Apr;50(4):541-53. doi: 10.1016/j.jaad.2003.06.014. PMID: 15034503.
[8]. Finasteride. In: DRUGDEX® System [database on the Internet]. Greenwood Village (CO): IBM Corporation; 2020 [cited 2021 Sep 21]. Available from: www.micromedexsolutions.com. Subscription required to view.
[9]. Price VH, Roberts JL, Hordinsky M, Olsen EA, Savin R, Bergfeld W, Fiedler V, Lucky A, Whiting DA, Pappas F, Culbertson J, Kotey P, Meehan A, Waldstreicher J. Lack of efficacy of finasteride in postmenopausal women with androgenetic alopecia. J Am Acad Dermatol. 2000 Nov;43(5 Pt 1):768-76. doi: 10.1067/mjd.2000.107953. PMID: 11050579.
[10]. Kim WJ, Song M, Ko HC, Kim BS, Kim MB. Efficacy of Finasteride 1.25 mg on Female Pattern Hair Loss; Pilot Study. Ann Dermatol. 2012 Aug;24(3):370-2. doi: 10.5021/ad.2012.24.3.370. Epub 2012 Jul 25. PMID: 22879729; PMCID: PMC3412254.
[11]. Iorizzo M, Vincenzi C, Voudouris S, Piraccini BM, Tosti A. Finasteride treatment of female pattern hair loss. Arch Dermatol. 2006 Mar;142(3):298-302. doi: 10.1001/archderm.142.3.298. PMID: 16549704.

วันที่ตอบ : 03 ธ.ค. 64 - 08:49:56




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110