ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การทานยา Miracid

เป็นโรคกรดไหลย้อน แต่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร มีเพียงอาการร้อนบริเวณลำคอ
คุณหมอให้ยา Miracid มาทานติดต่อกันเป็นเวลาเดือนกว่าแล้วค่ะ อาการดีขึ้นมากแต่ยังต้องทานยาต่อไป การทานยา Miracid ติดต่อกันเป็นเวลานานๆจะมีผลเสียต่อร่างกายหรือไม่คะ? และสามารถทานติดต่อกันเป็นเวลานานเท่าใด

ขอบคุณค่ะ

[รหัสคำถาม : 316] วันที่รับคำถาม : 08 ธ.ค. 64 - 13:34:15 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคกรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร สาเหตุเกิดจากความผิดปกติในการทำหน้าที่ของหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง (lower esophageal sphincter, LES) จึงทำให้เกิดการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบน ปัจจัยเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อน เช่น ภาวะอ้วน การตั้งครรภ์ โรคไส้เลื่อนกะบังลม (hiatal hernia), พฤติกรรมการบริโภค (เช่น อาหารรสเผ็ด อาหารประเภทไขมันสูง ชา กาแฟ น้ำอัดลม สุรา) การปฏิบัติตัว (เช่น การสูบบุหรี่ การนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร) การใช้ยาบางชนิดที่มีผลกระตุ้นการคลายตัวของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง เช่น amlodipine, nifedipine [1]
จากแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนในประเทศไทย พ.ศ. 2563 แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม proton pump inhibitors (PPIs) เป็นยากลุ่มแรกในการรักษา เช่น omeprazole, esomeprazole, lansoprazole และจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันร่วมด้วย เช่น ลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือผู้ที่มีอาการกำเริบหลังจากมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น, งดสูบบุหรี่และงดดื่มสุรา, หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในช่วง 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน และนอนยกหัวเตียงสูงในผู้ป่วยกรดไหลย้อนที่มีอาการหลังนอนหลับไปแล้ว [2]
ยา Miracid มีตัวยาสำคัญ คือ omeprazole 20 มิลลิกรัม เป็นยาในกลุ่ม proton pump inhibitors (PPIs) มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร [3] อาการข้างเคียงของยา เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดหัว [4,5] ขนาดยาที่แนะนำโดยทั่วไปสำหรับรักษาโรคกรดไหลย้อน คือ รับประทาน omeprazole 20 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์ [2,3,4,5] ยานี้มีประสิทธิภาพในการควบคุมอาการจากกรดไหลย้อนมากกว่ายากลุ่ม histamine2-receptor antagonists (เช่น famotidine, cimetidine, ranitidine) และยาลดกรด [2]
โดยทั่วไป การใช้ยา omeprazole สำหรับรักษาโรคกรดไหลย้อน จะรับประทานยาติดต่อกัน 4-8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาเกิน 8 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์และควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เช่น กรณีใช้ยา omeprazole 20 มิลลิกรัม ทุกวันต่อเนื่องกัน 8 สัปดาห์ แล้วยังคงมีอาการ หรือกรณีหลอดอาหารอักเสบรุนแรง (severe erosive esophagitis) หรือมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุผิวหลอดอาหาร (barrett's esophagus) [5] ถึงแม้ว่ายังคงมีหลักฐานการศึกษาน้อย การใช้ยาในระยะยาวอาจส่งผลทำให้การดูดซึมแมกนีเซียม, แคลเซียม, และวิตามินB12 ลดลงได้ และพบว่าการใช้ omeprazole นาน ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงของกระดูกหักได้ [3]
ข้อมูลเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์เมื่อรับประทานยา omeprazole ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน มีตัวอย่างการศึกษา เช่น
1) การศึกษาแบบย้อนหลัง (retrospective cohort study) ซึ่งศึกษาการลดลงของระดับฮีโมโกลบินและฮีมาโตคริต ในผู้ใช้ยากลุ่ม proton pump inhibitor เป็นระยะนาน โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ใช้ยา proton pump inhibitor (PPI) ระยะยาว (เฉลี่ย 20.16 เดือน) (98 ราย) (มีระดับฮีโมโกลบินเริ่มต้นเฉลี่ย 14.30 กรัม/เดซิลิตร, ระดับฮีมาโตคริตเริ่มต้นเฉลี่ย 42.04 กรัม/เดซิลิตร) กับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยา (98 ราย) (มีระดับฮีโมโกลบินเริ่มต้นเฉลี่ย 14.29 กรัม/เดซิลิตร, ระดับฮีมาโตคริตเริ่มต้นเฉลี่ย 41.83 กรัม/เดซิลิตร) ประเมินผลโดยวัดระดับของฮีโมโกลบินที่ลดลง ≥1.0 กรัม/เดซิลิตร และระดับของฮีมาโตคริตลดลง ≥3% จากระดับเริ่มต้น พบว่า กลุ่มที่ใช้ยา PPI ระยะยาวมีความเสี่ยงต่อการลดลงของระดับฮีโมโกลบินมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Odds Ratio (OR) = 5.03, 95% CI = 1.71–14.78, p < 0.01) และกลุ่มที่ใช้ยา PPI ระยะยาวมีความเสี่ยงต่อการลดลงของระดับฮีมาโตคริตมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยา PPI อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Odds Ratio (OR) =5.46, 95% CI = 1.67–17.85, p < 0.01) [6]
2) การศึกษาแบบ meta-analysis ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาทั้งหมด 28 การศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลข้างเคียงของการใช้ยา proton pump inhibitor (PPI) ในระยะยาว (นานอย่างน้อย 3 เดือน) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยา พบว่ากลุ่มที่ใช้ PPI ระยะยาว (1-18 ปี) จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคปอดอักเสบในชุมชน (OR=1.67; 95%CI: 1.04-2.67), กระดูกสะโพกหัก (OR=1.42; 95%CI: 1.33-1.53) และโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (OR =1.78; 95%CI: 1.41–2.25) [7]
การรักษาโรคกรดไหลย้อน โดยทั่วไปแนะนำให้ใช้ยา omeprazole 20 มิลลิกรัม ต่อวัน เป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์ [2,3,4,5] ถ้าอาการไม่ดีขี้นอาจปรับขนาดยาขึ้นเป็น 2 เท่า หรือใช้ขนาดเท่าเดิมแต่เพิ่มระยะเวลาใช้ยาเป็น 8–12 สัปดาห์ [2] ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์และควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อติดตามการตอบสนองต่อการรักษาและอาการไม่พึงประสงค์จากยา การรักษาโรคกรดไหลย้อน นอกจากใช้ยาแล้ว ควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมด้วย เช่น ลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในช่วง 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน และให้นอนยกหัวเตียงสูง [2]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Kahrilas PJ. Patient education: Gastroesophageal reflux disease in adults (Beyond the Basics). In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate. Waltham, MA. (Accessed November 11, 2021.)
[2]. คณะกรรมการผู้จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วย โรคกรดไหลย้อนในประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนในประเทศไทย พ.ศ. 2563.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ: สมาคมประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว; 2563.
[3]. Proton pump inhibitors: Overview of use and adverse effects in the treatment of acid related disorders. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate. Waltham, MA. (Accessed November 12, 2021.)
[4]. MIMS Online [Internet]. Miracid: MIMS Thailand; 2021. [cited 2021 Nov 11]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/miracid.
[5]. Omeprazole. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2021. [cited 2021 Nov 11]. Available from: https://online.lexi.com.
[6]. Sarzynski E, Puttarajappa C, Xie Y, Grover M, Laird-Fick H. Association between proton pump inhibitor use and anemia: a retrospective cohort study. Dig Dis Sci. 2011 Aug;56(8):2349–53.
[7]. Islam MM, Poly TN, Walther BA, Dubey NK, Anggraini Ningrum DN, Shabbir S-A, et al. Adverse outcomes of long-term use of proton pump inhibitors: a systematic review and meta-analysis. Eur J Gastroenterol Hepatol. 2018 Dec;30(12):1395–405.

วันที่ตอบ : 08 ธ.ค. 64 - 14:27:36




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110