ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
น้ำหวานแก้ภาวะ Hypoglycemia

อยากทราบอัตราการผสมในการเตรียมน้ำหวาน (ปริมาณ glucose) ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย DM ที่มีภาวะ Hypoglycemia ครับ

[รหัสคำถาม : 317] วันที่รับคำถาม : 09 ธ.ค. 64 - 15:26:36 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การวินิจฉัยภาวะ hypoglycemia
ในผู้ป่วยเบาหวานอาศัยเกณฑ์ 3 ประการร่วมกัน ได้แก่ 1. มีระดับพลาสมากลูโคส ≤70 mg/dL (≤ 60 mg/dL ในผู้ป่วยเบาหวานที่ตั้งครรภ์) 2. มีอาการและอาการแสดงของภาวะ hypoglycemia และ 3. อาการหายไปเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น[1]
อาการของภาวะ hypoglycemia แบ่งได้ 2 ชนิด ได้แก่[1]
1. autonomic symptoms ได้แก่ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกหิว รู้สึกร้อน เหงื่อออก มือสั่น รู้สึกกังวล ความดัน systolic สูง กระสับกระส่าย คลื่นไส้ และชา ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ป่วยรับรู้ว่ากำลังมีภาวะ hypoglycemia เกิดขึ้นและต้องแก้ไขก่อนที่จะมีอาการสมองขาดกลูโคสที่รุนแรงเกิดขึ้น
2. neuroglycopenic symptoms (อาการสมองขาดกลูโคส) ได้แก่ อ่อนเพลีย อุณหภูมิร่างกายต่ำ มึนงง ปวดศีรษะ การทำงานของสมองด้าน cognitive บกพร่อง ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง สับสน ไม่มีสมาธิ ตาพร่ามัว พูดช้า ง่วงซึม หลงลืม พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง อัมพฤกษ์ครึ่งซีกคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หมดสติ และชัก
การประเมินความรุนแรงของภาวะ hypoglycemia แบ่งได้ 3 ระดับ ได้แก่
1. ระดับไม่รุนแรง (mild hypoglycemia) คือ ผู้ป่วยที่มีระดับกลูโคสในเลือด <70 mg/dL (3.9 mmol/L)[1, 2] และ ≥54 mg/dL (3.0 mmol/L) แต่ไม่มีอาการ[2]
2. ระดับปานกลาง (moderate hypoglycemia) คือ ผู้ป่วยที่มีระดับกลูโคสในเลือด <54 mg/dL (3.0 mmol/L)[2] มีอาการออโตโนมิคเล็กน้อยถึงปานกลาง และเริ่มมีอาการสมองขาดกลูโคสเกิดขึ้น[1, 2]
3. ระดับรุนแรง (severe hypoglycemia) คือ ผู้ป่วยที่มีระดับกลูโคสในเลือด ≤40-50 mg/dL[1] มีอาการสมองขาดกลูโคสที่รุนแรงจนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองและต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นหรือมีอาการรุนแรงมาก เช่น ชัก หมดสติ[1, 2]
การรักษาภาวะ hypoglycemia ในผู้ป่วยเบาหวาน
1. ภาวะ hypoglycemia ระดับไม่รุนแรงถึงปานกลาง
- การรักษาให้กินกลูโคส 10-15 กรัม[1, 2, 3] ได้แก่ กลูโคสเม็ด 3 เม็ด น้ำส้มคั้น 180 ml น้ำอัดลม 180 ml น้ำผึ้ง 3 ช้อนชา ขนมปัง 1 แผ่นสไลด์ นมสด 240 ml ไอศกรีม 2 สคูป ข้าวต้มหรือโจ๊ก ½ ถ้วยชาม กล้วย 1 ผล โดยผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นภายใน 15-20 นาที หลังจากได้รับกลูโคสหรืออาหารในปริมาณดังกล่าว และให้ติดตามระดับกลูโคสในเลือดที่ 15 นาที หลังจากที่กินกลูโคสครั้งแรกโดยใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา[1]
- หากระดับของกลูโคสในเลือดยังคง <70 mg/dL ให้กินกลูโคส 10-15 กรัม ซ้ำอีกครั้ง[1, 2, 3]
- หากอาการดีขึ้นและระดับของกลูโคสในเลือด >80 mg/dL ให้ผู้ป่วยกินอาหารต่อเนื่องทันทีเมื่อใกล้หรือถึงเวลาอาหารมื้อหลัก ถ้าต้องรอเวลาอาหารมื้อหลักนานเกินกว่า 1 ชั่วโมง ให้กินอาหารที่มีกลูโคส 15 กรัมและโปรตีนเป็นส่วนประกอบ เช่น นม เนยแข็ง ขนมปัง และข้าว เพื่อลดการเกิดภาวะ hypoglycemia ซ้ำ[1]
2. ภาวะ hypoglycemia ระดับรุนแรง (ผู้ป่วยหมดสติหรือใกล้หมดสติ)
2.1 รักษาโดยใช้ glucagon 1 mg ฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ[1, 3] จะทำให้ระดับกลูโคสในเลือดสูงขึ้นและการรู้สติกลับมาภายในเวลา 10-15 นาที และขึ้นสูงสุดภายในเวลา 25-30 นาที[1]
หากอาการดีขึ้น การรู้สติกลับมาและระดับกลูโคสในเลือด >80 mg/dL ให้ผู้ป่วยกินอาหารต่อเนื่องทันทีเมื่อใกล้หรือถึงเวลาอาหารมื้อหลัก ถ้าต้องรอเวลาอาหารมื้อหลักนานเกินกว่า 1 ชั่วโมง ให้กินอาหารที่มีกลูโคส 15 กรัมและโปรตีนเป็นส่วนประกอบ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะ hypoglycemia ซ้ำ[1]
2.2 รักษาโดยการฉีดสารละลายกลูโคส 50% ปริมาตร 50 ml เข้าหลอดเลือดดำ[1, 3] โดยให้บริหารสารละลายกลูโคส 50% ปริมาตร 10-20 ml ก่อนอย่างรวดเร็ว ตามด้วยปริมาตร 30-40 ml ที่เหลือ จากนั้นให้ติดตามระดับกลูโคสในเลือดที่ 15 นาที หลังได้รับสารละลายกลูโคส 50% เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและสามารถกินอาหารได้ ควรให้ผู้ป่วยกินอาหารทันที ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือระดับกลูโคสในเลือดยัง ≤40-50 mg/dL ให้ฉีดสารละลายกลูโคส 50% จำนวน 50 ml ซ้ำและดูการตอบสนองของผู้ป่วย[1]
- เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเป็นปกติหลังจากการให้สารละลายกลูโคส ให้หยดสารละลายกลูโคส (10% dextrose) เข้าทางหลอดเลือดดำต่อเนื่องทันที โดยเริ่มในอัตราที่ได้รับกลูโคส 2 mg/น้ำหนักตัว 1 kg/min (คือ 60 ml/h ในผู้ป่วยที่น้ำหนักตัว 50 kg) โดยเป้าหมายคือให้ระดับกลูโคสในเลือดสูงกว่า 80 mg/dL แต่ไม่ควรเกิน 180 mg/dL เพื่อลดควาเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ hypoglycemia ซ้ำอีก[1]
- หากระดับกลูโคสในเลือดต่ำกว่าเป้าหมายไม่มากนักให้หยด 10% dextrose ในอัตราเดิมต่อไป แต่ต้องติดตามอาการของผู้ป่วยและตรวจวัดระดับกลูโคสในเลือดอย่างใกล้ชิด[1]
- หากระดับกลูโคสในเลือดยังต่ำกว่าเป้าหมายให้ปรับอัตรา 10% dextrose เพิ่มขึ้น และตรวจวัดระดับกลูโคสในเลือดเป็นระยะทุก 15-30 นาที ในระยะแรก จนได้ระดับตามเป้าหมาย แต่หากปรับอัตรา 10% dextrose เพิ่มขึ้นมากแล้วและระดับกลูโคสในเลือดยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย อาจพิจารณาใช้ยาอื่นร่วมด้วยตามสาเหตุและกลไกของภาวะ hypoglycemia[1]
- หากระดับกลูโคสในเลือดอยู่ในเกณฑ์เป้าหมายและคงที่ดี ให้ปรับลดอัตราให้ 10% dextrose ลงพร้อมติดตามระดับกลูโคสในเลือดเป็นระยะจนสามารถหยุด 10% dextrose ได้[1]
การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ hypoglycemia ในผู้ป่วยเบาหวาน[1]
- การให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ญาติ ผู้ใกล้ชิด และผู้ดูแล เกี่ยวกับอาการและปัจจัยเสี่ยงของภาวะ hypoglycemia
- การเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยการซักประวัติเกี่ยวกับอาการของ hypoglycemia และประเมินผลการควบคุมเบาหวานว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ hypoglycemia มากหรือน้อย
- ส่งเสริมการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง หรือการติดตามระดับน้ำตาลในเลือดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีประโยชน์มากในการวินิจฉัยภาวะ hypoglycemia ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ
- ปรับเป้าหมายการควบคุมเบาหวาน (glycemic target) ให้เหมาะสมกับภาวะของผู้ป่วย ค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ hypoglycemia และกำจัดหรือลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำได้ โดยเฉพาะการปรับยารักษาเบาหวานทั้งชนิดยา ขนาดยา และรูปแบบการบริหารยา ได้แก่ การงดใช้ หรือลดขนาด หรือเปลี่ยนชนิดของอินซูลิน และ/หรือยากลุ่ม sulfonylurea ที่ผู้ป่วยได้รับอยู่ เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
[1]. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน พ.ศ. 2560 (Clinical Practice Guideline for Diabetes 2017). พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: บริษัท ร่มเย็น มีเดีย จำกัด; 2560:102-12.
[2]. American Diabetes Association. Standards of medical care in diabetes 2021: Glycemic targets. Diabetes Care. 2021; 44 (Suppl 1):S79-80.
[3]. Triplitt CL, Repas T, Alvarez C. Diabetes Mellitus. In: Schwinghammer TL, ed. Pharmacotherapy: A Pathophysiologic Approach. 10th ed. New York: McGraw-Hill Education; 2017:256.

วันที่ตอบ : 14 ธ.ค. 64 - 12:26:00




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110