ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
วิตามินซี

อยากทราบวิธีกินวิตามินซีที่ได้ประโยชน์ ควรกินตอนไหน วันละเท่าไหร่ กินทุกวันจะเป็นอันตรายไหมคะ มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง

[รหัสคำถาม : 321] วันที่รับคำถาม : 14 ธ.ค. 64 - 09:27:34 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โดยปกติร่างกายต้องการปริมาณวิตามินซีอย่างน้อยเพียงวันละ 90 มิลลิกรัมสำหรับผู้ชาย และ 75 มิลลิกรัมสำหรับผู้หญิง แต่หากกำลังตั้งครรภ์ ให้นมบุตร หรือผู้ที่สูบบุหรี่ ความต้องการวิตามินซีจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติประมาณ 85-120 มิลลิกรัมต่อวัน วิตามินซียังสามารถใช้รักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน โดยอาจพิจารณารับประทานวิตามินซีเสริมในขนาด 100-300 มิลลิกรัมต่อวันไปจนกว่าอาการจะดีขึ้น และในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดวิตามินซีควรได้รับวิตามินซีเสริมในรูปแบบฉีด (ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หลอดเลือดดำ หรือชั้นใต้หิวหนัง) เช่น ผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้ควรได้รับวิตามินซีฉีดขนาด 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือใช้เพื่อสมานแผลผ่าตัดโดยให้ฉีดในขนาด 300-500 มิลลิกรัมต่อวัน ก่อนและหลังการผ่าตัดเป็นระยะเวลา 7-10 วัน โดยทั่วไปแล้วไม่ควรใช้วิตามินซีในปริมาณที่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีภาวะเมธฮีโมโกลบินในเลือดสูง (methemoglobinemia) และมีข้อห้ามใช้ต่อเมทิลีนบลู (methylene blue) ซึ่งควรได้รับวิตามินซีเสริมในรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 1,000-10,000 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมงจนกว่าระดับเมธฮีโมโกลบินจะเข้าสู่ช่วงปกติ[1]
มีการศึกษาการใช้วิตามินซีเสริมเพื่อรักษาหรือป้องกันโรคหวัดในคนสุขภาพดี พบว่า การใช้วิตามินซี 200-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่ได้ช่วยป้องกันการเกิดโรคหวัดในคนทั่วไป แต่อาจช่วยป้องกันได้ในคนที่ออกกำลังกายอย่างหนัก ผู้อยู่ในสภาพแวดล้อมอากาศหนาว หรือผู้ที่มีความเสี่ยงวิตามินซีในเลือดต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่สูบบุหรี่เรื้อรัง และการใช้วิตามินซีอย่างน้อย 200 มิลลิกรัมต่อวันก่อนที่จะเป็นหวัด อาจช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงในการเป็นโรคหวัดได้ในคนทั่วไป โดยเฉพาะในเด็ก แต่อย่างไรก็ตามการรับประทานวิตามินซีหลังจากที่เป็นหวัดแล้วพบว่าไม่ได้มีประโยชน์แต่อย่างใด[2] การศึกษาการใช้วิตามินซีในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ พบว่า การใช้วิตามินซี 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 7 วัน สามารถช่วยลดอาการของโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการคัน จาม น้ำตาไหล และไม่สบายตัว[3]
การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในผู้ป่วย COVID-19 ของการใช้วิตามินซีฉีดเข้าหลอดเลือดดำ 1.5 กรัม ทุก 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วัน ร่วมกับรับประทานยา lopinavir/ritonavir และ hydroxychloroquine พบว่า กลุ่มที่ได้รับวิตามินซีมีอุณหภูมิร่างกายที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยา lopinavir/ritonavir และ hydroxychloroquine เพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้มีความแตกต่างของค่าความอิ่มตัวของออกซิเจน (oxygen saturation) ระยะเวลาที่เข้าไอซียู (ICU) และอัตราการเสียชีวิตในระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ท้องอืด หรือไม่สบายท้อง ในกลุ่มที่ได้รับวิตามินซี[4] ดังนั้น สำหรับการใช้วิตามินซีเพื่อรักษา COVID-19 พบว่า ยังไม่มีหลักฐานที่เพียงพอที่จะแนะนำการใช้วิตามินซีเพื่อรักษา COVID-19 ทั้งในผู้ป่วยวิกฤตและไม่วิกฤต[5]
กระบวนการดูดซึมวิตามินซีนั้นสามารถเกิดการอิ่มตัวได้และการดูดซึมจะลดลงหากได้รับวิตามินซีในปริมาณที่สูง โดยหากรับประทานวิตามินซีขนาด 30-180 มิลลิกรัมต่อวัน ร่างกายจะสามารถดูดซึมได้ประมาณร้อยละ 70-90 แต่หากได้รับในขนาดที่มากกว่า 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน การดูดซึมจะเหลือเพียงร้อยละ 50[1] โดยวิตามินซีสามารถรับประทานเวลาเช้า เที่ยง เย็น หรือก่อนนอนก็ได้ขึ้นกับความสะดวกของผู้ใช้ แต่เนื่องจากวิตามินซีมีคุณสมบัติเป็นกรดและมีการศึกษาพบว่าสามารถกระตุ้นการหลั่งกรดจากกระเพาะอาหารได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อกระเพาะอาหารได้ เช่น อาการปวดแสบท้อง ไม่สบายท้อง ท้องอืด หรือท้องเสีย[6] ดังนั้น จึงแนะนำว่าควรรับประทานวิตามินซีหลังมื้ออาหาร เพื่อป้องกันการระคายเคืองกระเพาะอาหารที่อาจเกิดขึ้นได้
อาการไม่พึงประสงค์ของวิตามินซี ส่วนใหญ่จะเป็นอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการปวดแสบท้อง ไม่สบายท้อง แต่หากได้รับวิตามินซีในปริมาณที่สูงอาจสามารถทำให้เกิดนิ่วในไตได้ เนื่องจากร่างกายมีการขับวิตามินซีออกมาทางปัสสาวะจนอาจเกิดการตกตะกอนได้ ส่วนการรับประทานวิตามินซีในระยะยาว มีการศึกษาในผู้ที่ได้รับวิตามินซีขนาด 250-1,500 มิลลิกรัมทุกวัน พบว่า การรับประทานวิตามินซีต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงอาจสามารถรับประทานวิตามินซีอย่างต่อเนื่องได้ปลอดภัย โดยที่ขนาดไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน[7],[8]
โดยสรุป การเสริมวิตามินซีควรเสริมในผู้ที่ขาด เช่น ผู้ที่มีอาการเลือดออกตามไรฟัน โดยให้รับประทานในขนาด 100-300 มิลลิกรัมต่อวันจนกว่าอาการจะดีขึ้น ผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้ควรได้รับวิตามินซีฉีดขนาด 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ที่ต้องการให้วิตามินซีเสริมเพื่อช่วยสมานแผลผ่าตัด โดยฉีดในขนาด 300-500 มิลลิกรัมต่อวัน ก่อนและหลังการผ่าตัดเป็นระยะเวลา 7-10 วัน ผู้ป่วยที่มีภาวะเมธฮีโมโกลบินในเลือดสูง และมีข้อห้ามใช้ต่อเมทิลีนบลู ควรได้รับวิตามินซีเสริมในรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 1,000-10,000 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมงจนกว่าระดับเมธฮีโมโกลบินจะเข้าสู่ช่วงปกติ ในผู้ภูมิแพ้จมูกอักเสบ การใช้วิตามินซี 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 7 วัน อาจสามารถช่วยลดอาการของโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบได้ สำหรับผู้คนทั่วไปที่ไม่ได้มีภาวะขาดวิตามินซี การเสริมวิตามินซีอย่างน้อย 200-1,000 มิลลิกรัมต่อวันก่อนที่จะ อาจช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงหากเกิดโรคหวัดได้ แต่เป็นข้อมูลจากการศึกษาจำนวนน้อยดังนั้นโดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องใช้ในคนทั่วไป แต่สำหรับการใช้วิตามินซีเพื่อรักษา COVID-19 พบว่า ยังไม่มีหลักฐานที่เพียงพอที่จะแนะนำการใช้วิตามินซีเพื่อรักษา COVID-19 ทั้งในผู้ป่วยวิกฤตและไม่วิกฤต

เอกสารอ้างอิง
[1]. Vitamin C (ascorbic acid). In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 17 December 2021; cited 18 December 2021]. Available from: http://online.lexi.com.
[2]. National Institutes of Health. Vitamin C - Health professional [internet]. 2021 [cited 22 December 2021]. Available from: https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminC-HealthProfessional.
[3]. Munjal M, Singh A, Khurana AS, Bajwa N, Munjal S, Dhawan N, et al. Study of vitamin C therapy in allergic rhinitis. Int. J. Otorhinolaryngol. Head. Neck. Surg. 2020;6(11):1951-5.
[4]. JamaliMoghadamSiahkali S, Zarezade B, Koolaji S, SeyedAlinaghi S, Zendehdel A, Tabarestani M, et al. Safety and effectiveness of high-dose vitamin C in patients with COVID-19: a randomized open-label clinical trial. Eur. J. Med. Res. 2021;26(1):20.
[5]. National Institutes of Health. COVID-19 Treatment Guidelines [internet]. 2021 [cited 22 December 2021]. Available from: https://www.covid19treatmentguidelines.nih.gov/therapies/supplements/vitamin-c/.
[6]. Lee JK, Jung SH, Lee SE, Han JH, Jo E, Park HS, et al. Alleviation of ascorbic acid-induced gastric high acidity by calcium ascorbate in vitro and in vivo. Korean. J. Physiol. Pharmacol. 2018;22(1):35-42.
[7]. Curhan GC, Willett WC, Rimm EB, Stampfer MJ. A prospective study of the intake of vitamins C and B6, and the risk of kidney stones in men. J. Urol. 1996;155(6):1847-51.
[8]. Curhan GC, Willett WC, Speizer FE, Stampfer MJ. Intake of vitamins B6 and C and the risk of kidney stones in women. J. Am. Soc. Nephrol. 1999;10(4):840-5.

วันที่ตอบ : 17 ก.พ. 65 - 23:34:36




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110