ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
สมุนไพร

ซื้อน้ำผึ้งเดือนห้ามาจาก7-11 อยากทราบว่าช่วยบรรเทาอาการไอและเจ็บคอได้ไหมครับ แล้วประสิทธิภาพมีมากน้อยเพียงใด

[รหัสคำถาม : 323] วันที่รับคำถาม : 19 ธ.ค. 64 - 23:07:58 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

น้ำผึ้งเป็นแหล่งสำคัญของ สารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุมากมาย เช่น คาร์โบไฮเดรต โดยเฉพาะน้ำตาลกลูโคสและฟรุกโตส มีประมาณร้อยละ 95 ของน้ำหนักแห้ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อคุณค่าพลังงานและลักษณะทางกายภาพของน้ำผึ้ง เช่น การดูดความชื้น และความหนืด นอกจากนี้ยังมีโปรตีน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเอนไซม์และกรดอะมิโนอิสระ โดยเฉพาะโปรลีน โดยมักถูกใช้เป็นพารามิเตอร์ในการประเมินระดับการสุกของน้ำผึ้ง และในน้ำผึ้งยังมีแร่ธาตุที่จำเป็นที่หลากหลาย ได้แก่ โพแทสเซียม แคลเซียม ทองแดง เหล็ก แมกนีเซียม แมงกานีส ฟอสฟอรัส โซเดียม สังกะสี และซีลีเนียม และยังมีวิตามินมากมาย ได้แก่ วิตามินซี วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี3 วิตามินบี5 และวิตามินบี6 ผลต่อสุขภาพของน้ำผึ้ง พบว่า น้ำผึ้งมีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระที่สูงจากสารประสอบฟลาโวนอยด์และกรดฟีนอลิก การดื่มน้ำผึ้งยังอาจช่วยลดอาการไอในเด็กและเพิ่มคุณภาพการนอนหลับในเด็กที่มีอาการไอได้ นอกจากนี้การนำน้ำผึ้งมาทาที่บริเวณแผล อาจช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นได้[1]
จากการศึกษาประสิทธิภาพของน้ำผึ้งในการบรรเทาอาการไอในเด็ก พบว่า น้ำผึ้งมีประสิทธิภาพในการลดความถี่และความรุนแรงของอาการไอได้ดีกว่ายาต้านฮิสตามีน (diphenhydramine), ยาหลอก, และการไม่ใช้ยา[2] อีกหนึ่งการศึกษาประสิทธิภาพของน้ำผึ้งในการบรรเทาอาการสำหรับการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน พบว่า การใช้น้ำผึ้งสามารถช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการไอและนอนหลับยากจากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้ดีกว่าการใช้ยาต้านฮิสตามีน (diphenhydramine) เช่นกัน แต่สำหรับการใช้น้ำผึ้งเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ พบว่า การใช้น้ำผึ้งควบคู่ไปกับยากลุ่ม NSAIDs และยาปฏิชีวนะ มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการเจ็บคอไม่ได้แตกต่างไปจากการใช้ยากลุ่ม NSAIDs และยาปฏิชีวนะเพียงลำพัง ซึ่งอาจแสดงว่าการใช้น้ำผึ้งอาจไม่มีประสิทธิภาพในการช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ และผู้ที่ใช้น้ำผึ้งส่วนใหญ่ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ โดยอาการที่เกิดขึ้นส่วนมากเป็นแบบไม่รุนแรง เช่น อาการคลื่นไส้[3]
แนวทางการรักษาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำวิธีการบรรเทาอาการเมื่อเป็นหวัดหรือเจ็บคอ โดยใช้น้ำผึ้งเพื่อบรรเทาอาการไอสำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป[4] และแนวทางการรักษาโรคหวัดโดยสมาคมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวของสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำแนะนำการรักษาเพิ่มเติมที่ได้ผลในการบรรเทาอาการหวัดในเด็ก คือ การใช้น้ำผึ้งก่อนนอนอาจช่วยลดความถี่และความรุนแรงของการไอ แต่ไม่ควรแนะนำให้ใช้น้ำผึ้งในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 เดือน เนื่องจากจะมีความเสี่ยงต่อการได้รับสปอร์ของเชื้อโบทูลินัม โดยมีขนาดการรับประทานน้ำผึ้งในเด็ก ดังนี้ สำหรับเด็กอายุ 2-5 ปี รับประทานปริมาณ 2.5 มิลลิลิตร ครั้งเดียว สำหรับเด็กอายุ 6-11 ปี รับประทานปริมาณ 5 มิลลิลิตร ครั้งเดียว และสำหรับเด็กอายุ 12-18 ปี รับประทานปริมาณ 10 มิลลิลิตร ครั้งเดียว[5]
กล่าวโดยสรุป คือ การใช้น้ำผึ้งมีประสิทธิภาพในการช่วยบรรเทาอาการไอได้ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี แต่สำหรับในผู้ใหญ่ข้อมูลการใช้น้ำผึ้งยังมีน้อย จึงอาจไม่สามารถบ่งบอกถึงประสิทธิภาพที่ชัดเจนในผู้ใหญ่ได้ และสำหรับการใช้น้ำผึ้งเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอจากภาวะคอหอยอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย พบว่า การใช้น้ำผึ้งควบคู่ไปกับยากลุ่ม NSAIDs และยาปฏิชีวนะ มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการเจ็บคอไม่ได้แตกต่างไปจากการใช้ยากลุ่ม NSAIDs และยาปฏิชีวนะเพียงลำพัง โดยอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นแบบชนิดไม่รุนแรง ได้แก่ อาการคลื่นไส้ และที่สำคัญไม่ควรใช้น้ำผึ้งกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 เดือน เนื่องจากจะมีความเสี่ยงต่อการได้รับสปอร์ของเชื้อโบทูลินัม

เอกสารอ้างอิง
[1]. Cianciosi D, Forbes-Hernández TY, Afrin S, Gasparrini M, Reboredo-Rodriguez P, Manna PP, et al. Phenolic compounds in honey and their associated health benefits: a review. Molecules. 2018;23(9):2322.
[2]. Oduwole O, Udoh EE, Oyo-Ita A, Meremikwu MM. Honey for acute cough in children. Cochrane. Database. Syst. Rev. 2018;4(4):CD007094.
[3]. Abuelgasim H, Albury C, Lee J. Effectiveness of honey for symptomatic relief in upper respiratory tract infections: a systematic review and meta-analysis. BMJ. Evid. Based. Med. 2021;26(2):57-64.
[4]. Centers for Disease Control and Prevention. Treatment for common illnesses [internet]. 2021 [cited 24 December 2021]. Available from: https://www.cdc.gov/antibiotic-use/common-illnesses.html.
[5]. DeGeorge KC, Ring DJ, Dalrymple SN. Treatment of the common cold. Am. Fam. Physician. 2019;100(5):281-289.

วันที่ตอบ : 17 ก.พ. 65 - 23:35:00




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110