ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
เลื่อนประจำเดือนยังไงดีคะ

คือประจำเดือนจะมาในอีก 3 วัน แต่ว่าต้องการจะเลื่อนประจำเดือนไปทั้งหมด 15 วัน ต้องกินยายังไงหรอคะ ตอนนี้ยังไม่เคยได้กินยาคุมมาก่อนเลยค่ะ

[รหัสคำถาม : 324] วันที่รับคำถาม : 25 ธ.ค. 64 - 11:54:09 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การเลื่อนประจำเดือนทำได้หลายวิธี ได้แก่ การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม (combined oral contraceptive : COC) วงแหวนสอดช่วงคลอดคุมกำเนิด (vaginal ring) แผ่นแปะคุมกำเนิด ยาฉีด depot medroxyprogesterone acetate (DMPA) ห่วงคุมกำเนิด (Levonorgestrel releasing intrauterine device : LNG-IUS) ยากลุ่มฮอร์โมนโพรเจสติน (norethindrone/norethisterone) ยาคุมกำเนิดแบบฝัง (etonogestrel implant) และยากลุ่ม gonadotropin-releasing hormone analogues (GnRH analogues)[1]
ยาที่นิยมใช้ในการเลื่อนประจำเดือน ได้แก่ ยา norethindrone ซึ่งเป็นยากลุ่มฮอร์โมน progestin ที่ควบคุมการหนาตัวของเยื่อบุผนังมดลูก ทำให้เยื่อบุผนังมดลูกไม่เกิดการหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน[2] สามารถใช้เพื่อเลื่อนประจำเดือนชั่วคราวได้ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมเป็นประจำ หรือมีข้อห้ามใช้ฮอร์โมน estrogen ได้แก่ อายุ ≥ 35 ปีร่วมกับสูบบุหรี่ ≥ 15 มวนต่อวัน มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตัน (เช่น สูบบุหรี่ โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น) มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ มีประวัติโรคหลอดเลือดสมอง โรคตับแข็ง มะเร็งเต้านม[3]
norethindrone ที่จำหน่ายในประเทศไทยมีชื่อการค้า Primolut-N® และ Steron® โดยยา 1 เม็ดจะประกอบด้วย norethisterone acetate 5 mg[4] แนะนำให้เริ่มรับประทานก่อนมีประจำเดือน 3 วัน โดยรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง จนกว่าจะถึงวันที่อยากให้ประจำเดือนมา โดยประจำเดือนจะมาหลังจากหยุดยาแล้ว 2-3 วัน
ผลข้างเคียงที่พบได้จากการใช้ยา norethindrone คือ ประจำเดือนมาผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ตึงคัดเต้านม ตัวบวม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นแต่สามารถกลับเป็นปกติได้เมื่อหยุดใช้ยา[5] ยา norethindrone มีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ที่มีประวัติหรือกำลังมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ผู้ที่มีประวัติหรือกำลังเป็นโรคตับ/เนื้องอกที่ตับ และไม่ควรใช้ยาเป็นระยะเวลานานกว่า 10-14 วัน เนื่องจากยามีค่าครึ่งชีวิตนาน การใช้ในระยะยาวจะเพิ่มการสะสมของยาในเลือด[6] ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้มากขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ[7]
ในกรณีที่ต้องการเลื่อนประจำเดือนมากกว่า 14 วัน ควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งประกอบด้วยฮอร์โมน estrogen และ progesterone ผสมกัน ออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ โดยยับยั้ง luteinizing hormone (LH), follicle stimulating hormone (FSH) และ GnRH จาก hypothalamus ทำให้เยื่อบุผนังมดลูกบางและฝ่อลง
การเลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมขึ้นกับข้อควรระวังและผลข้างเคียงของยา โดยทั่วไปนิยมใช้แบบ monophasic ที่มี ethinyl estradiol (EE) ขนาดต่ำก่อน (≤35 mcg)[8] สำหรับฮอร์โมน progestin ที่นิยมเลือกใช้ เช่น levonorgestrel ซึ่งมีความแรงมากกว่า norethindrone 10-20 เท่า ตัวอย่าง เช่น ยาคุมกำเนิดที่ประกอบด้วย EE 0.03 mg และ levonorgestrel 0.15 mg[9] นอกจากนี้ยังสามารถใช้ norgestimate ได้ เช่น ยาคุมกำเนิดที่ประกอบด้วย EE 0.035 mg + norgestimate 0.25 mg
โดยการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเพื่อเลื่อนประจำเดือนทำได้โดยเริ่มรับประทานยาก่อนมีประจำเดือน 3-5 วัน ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง รับประทานติดต่อกันทุกวันจนกว่าจะถึงวันที่อยากให้ประจำเดือนมา โดยประจำเดือนจะมาหลังจากหยุดยา 2-3 วัน ในกรณีที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเพื่อคุมกำเนิดอยู่แล้ว สามารถใช้เพื่อเลื่อนประจำเดือนได้ โดยกรณีที่รับประทานยาคุมแผงละ 21 เม็ด เมื่อรับประทานจนหมดแผงแล้วสามารถขึ้นแผงใหม่ได้เลยไม่ต้องเว้น 7 วัน กรณีที่รับประทานยาคุมแผงละ 28 เม็ด ให้รับประทานต่อเนื่องกัน 21 เม็ด จะเหลือยาเม็ดที่ไม่มีฮอร์โมนหรือเม็ดแป้ง 7 เม็ด ไม่ต้องกิน 7 เม็ดที่เหลือ ให้ขึ้นแผงใหม่ได้เลย[10]
ผลข้างเคียงที่พบจากการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ตึงคัดเต้านม ปวดศีรษะ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น สิว ฝ้า เลือดออกกะปริบกะปรอยในระหว่างการใช้ยา อาการเหล่านี้จะพบในระยะแรกของการกินยา ส่วนใหญ่อาการจะหายไปเมื่อใช้ยา 2-3 เดือน การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมน ethinyl estradiol และ levonorgestrel ในขนาดที่สูงขึ้นจะช่วยลดการมีเลือดออกกะปริบกะปรอยในระหว่างการใช้ยาได้ นอกจากนี้การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมอาจมีผลข้างเคียงในการเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ และห้ามใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรหรือผู้ที่มีข้อห้ามใช้ฮอร์โมน estrogen

เอกสารอ้างอิง
1. Kaunitz AM. Hormonal contraception for suppressions of menstruation. Uptodate [internet]. 2021. Accessed on November 12, 2021. Available from https://www.uptodate.com/contents/hormonal-contraception-for-suppression-of-menstruation#H623734935.
2. Norethindrone. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 Accessed on November 12, 2021.
3. Andrea R. Combined estrogen-progestin oral contraceptives: Side effects and health concerns. uptodate [internet]. 2021. Accessed on November 12, 2021. Available from https://www.uptodate.com/contents/combined-estrogen-progestin-contraception-side-effects-and-health-concerns
4. MIMS. Norethisterone. MIMS [internet]. 2021. Accessed on November 12, 2021. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/norethisterone?mtype=generic
5. Dean J, Kramer KJ, Akbary F, Wade S, Hüttemann M, Berman JM, Recanati MA. Norethindrone is superior to combined oral contraceptive pills in short-term delay of menses and onset of breakthrough bleeding: a randomized trial. BMC Womens Health. 2019;19(1):70.
6. Bayer Group. PRODUCT INFORMATION PRIMOLUT® N [Internet]. Accessed on November 12, 2021. Available from: https://resources.bayer.com.au/resources/uploads/PI/file9462.pdf
7. Al Abdulhai SA, El-Ali MW, El-Dahshan Mel-S. Bleeding and thrombosis in a patient with primary antiphospholipid syndrome using norethisterone: a case report. J Med Case Rep. 2015;9:87.
8. Allen RH. Combined estrogen-progestin oral contraceptives: Patient selection, counseling, and use. uptodate [internet]. 2021. Accessed on November 12, 2021. Available from https://www.uptodate.com/contents/combined-estrogen-progestin-oral-contraceptives-patient-selection-counseling-and-use.
9. Hicks CW, Rome ES. Menstrual manipulation: options for suppressing the cycle. Cleve Clin J Med. 2010;77(7):445-53.
10. สุรศักดิ์ วิชัยโย. ยาเลื่อนประจำเดือน [Internet]. Accessed on November 12, 2021. Available from: https://pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0212.pdf

วันที่ตอบ : 27 ธ.ค. 64 - 10:07:42




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110