ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
อยากทราบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของหญ้าหนวดแมว?

เนื่องจากหมอที่โรงพยาบาลอยากใช้หญ้าหนวดแมวเพื่อรักษาโรคนิ่ว จึงอยากทราบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ว่าสามารถใช้รักษาโรคนิ่วได้จริงหรือไม่ อย่างไร รอคำตอบอยู่ครับ

[รหัสคำถาม : 325] วันที่รับคำถาม : 27 ธ.ค. 64 - 13:45:25 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เกิดจากการเกิดผลึกในท่อปัสสาวะหรือท่อไตจากสารก่อนิ่ว ได้แก่ แคลเซียม ออกซาเลต ฟอสเฟต และกรดยูริก สามารถแบ่งประเภทของนิ่วที่เกิดได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ 1) นิ่วที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบซึ่งเป็นนิ่วที่พบมากที่สุด (80%) 2) นิ่วที่ไม่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ นิ่วกรดยูริก นิ่วจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือ struvite และ cystine stone นิ่วกรดยูริกและแคลเชียมฟอสเฟต มีโอกาสกับเป็นซ้ำสูงกว่านิ่วชนิดอื่น ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนิ่วไต ได้แก่ พันธุกรรม เพศและอายุ (เพศชายจะพบนิ่วมากที่สุดที่อายุประมาณ 35 ปี และเพศหญิงจะพบนิ่วมากที่สุดที่อายุ 30 ปีและ 55 ปี) อาหารที่มีโปรตีนสูงซึ่งจะเพิ่มการขับสารก่อนิ่วในปัสสาวะหรือมีกรดยูริกสูง (ได้แก่ เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์) อาหารที่ทําจากยีสต์ (ได้แก่ เบียร์ และขนมปัง) อาหารที่มีออกซาเลตสูง (ได้แก่ ผักโขม ผักติ้ว ผักชะพลู ผักหนาม งาดํา ชา และช็อคโกแลต) ภาวะขาดน้ำ ได้รับยาที่มีผลต่อการขับสารก่อนิ่วออกมาในปัสสาวะเพิ่มขึ้น เช่น ได้รับวิตามินซีในปริมาณสูงเป็นประจําซึ่งจะทําให้มีออกซาเลตในเลือดและในปัสสาวะสูง เป็นต้น และการมีความผิดปกติทางเมแทบอลิกที่ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดนิ่ว ได้แก่ มีภาวะออกซาเลตสูงในปัสสาวะ (hyperoxaluria) และมีภาวะกรดยูริกสูงในปัสสาวะ (hyperuricosuria) ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการหรืออาจมีอาการปวดเอวหรือปวดหลังข้างใดข้างหนึ่งแบบเสียดๆ หรือปวดบิดเป็นพักๆ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะอาจมีลักษณะขุ่นแดงหรือมีเม็ด การรักษาโรคนิ่วมีหลากหลายวิธีทั้งการผ่าตัด การใช้ยา (เช่น allopurinal thiazide orthophosphate เกลือโพแทสเซียมฟอสเฟต และ เกลือของซิเทรต เป็นต้น) รวมถึงการปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้เหมาะสม[1]
หญ้าหนวดแมว (Orthosiphon aristatus Miq. ) ส่วนที่นำมาใช้คือใบสดหรือใบแห้ง มีองค์ประกอบทางด้านพฤกษเคมีที่โดดเด่นคือ สารกลุ่ม phenolic compounds[2] การศึกษากลไกการออกฤทธิ์ในสัตว์ทดลอง พบว่า มีฤทธิ์ลดการเกิดผลึกแคลเซียม ออกซาเลต และทำให้สาร biomarker กว่า 20 ชนิดที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อไตบาดเจ็บจากผลึกของ แคลเซียม ออกซาเลต สามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ผ่าน multiple metabolic pathways[3]
จากการสืบค้นข้อมูลประสิทธิภาพของหญ้าหนวดแมวในการรักษาโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ พบรายงานการศึกษาดังนี้ การศึกษาในคนไข้โรคนิ่วในท่อไตจำนวน 23 คนที่มีขนาดนิ่วประมาณ 0.5 เซนติเมตร โดยให้คนไข้รับประทานยาชงหญ้าหนวดแมว 4 กรัม ในน้ำเดือด 750 ซีซี วันละ 3 ครั้ง ทุกวันเป็นเวลา 2-6 เดือน พบว่า ผู้ป่วยปัสสาวะคล่องขึ้น ผู้ป่วยร้อยละ 20 มีอาการปวดทุเลาลง ผู้ป่วยร้อยละ 40 มีนิ่วหลุด ขนาดของนิ่วที่หลุดส่วนใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางส่วนแคบน้อยกว่า 0.5 เซนติเมตร และนิ่วมักจะหลุดภายใน 3 เดือน[4] ผลการศึกษาในคนไข้นิ่วในท่อไตในภาคอีสานที่มีก้อนนิ่วอย่างน้อย 1 ก้อนที่เป็นนิ่วแบบผสมที่มีแคลเซียมเป็นองค์ประกอบสำคัญและมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ≥ 10 มิลลิเมตรขึ้นไป โดยมีปัญหาพื้นฐานของความผิดปกติเมทาบอลิซึมที่สำคัญ คือ การขาดโพแทสเซียมและอาจมีการติดเชื้อร่วม โดยให้ผู้ป่วยรับประทานชาชงหญ้าหนวดแมวในปริมาณ 2.5 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เปรียบเทียบฤทธิ์ในการละลายนิ่วกับยาโซเดียมโพแทสเซียมซิเตรทปริมาณ 5-10 กรัม ละลายในน้ำ และแบ่งรับประทานวันละ 3 เวลา เมื่อติดตามผลการรักษาในระยะเวลา 18 เดือน พบว่า กลุ่มที่ได้รับชาหญ้าหนวดแมวสามารถลดขนาดนิ่วได้มากกว่ายาโซเดียมโพแทสเซียมซิเตรทเล็กน้อย โดยมีขนาดนิ่วลดลงร้อยละ 28.6±16.0% ต่อปี ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาโซเดียมโพแทสเซียมซิเตรทมีขนาดนิ่วลดลง 33.8±23.6% ต่อปี และสามารถบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง ได้แก่ ปวดหลัง ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ และจุกแน่นท้อง[5] นอกจากนี้มีรายงานว่า หญ้าหนวดแมวในรูปแบบยาต้มที่เตรียมจากใบหญ้าหนวดแมวแห้ง ในความเข้มข้น 0.5 % ขนาด 300 ซีซี รับประทานวันละครั้ง ติดต่อกันนาน 1-10 เดือน มีผลเพิ่ม pH ในปัสสาวะของผู้ดื่มจึงสามารถช่วยละลายนิ่วที่มีส่วนผสมของกรดยูริกได้ดี อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า การดื่มชาหญ้าหนวดแมวมีผลเพิ่มปริมาณออกซาเลตในคนปกติได้[6]
ในปัจจุบัน ยาชงหญ้าหนวดแมวอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีข้อบ่งใช้สำหรับขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา ขับนิ่วขนาดเล็ก โดยให้รับประทานครั้งละ 2 - 3 กรัม ชงในน้ำร้อนประมาณ 120 - 200 มิลลิลิตร ดื่มวันละ 2 - 3 ครั้ง มีข้อห้ามใช้ในผู้ที่มีการทำงานของไตบกพร่อง มีข้อควรระวังการใช้ในผู้ที่ต้องจำกัดปริมาณโพแทสเซียมเนื่องจากยาหญ้าหนวดแมวมีปริมาณโพแทสเซียมสูง ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยาลดน้ำตาลในเลือดหรือฉีดอินซูลินเพราะอาจเสริมฤทธิ์กันได้[7] ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มีการใช้ยากลุ่ม ACEIs เช่น enalapril เนื่องจากอาจทำให้มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น และระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีการเปลี่่ยนแปลงที่ตับผ่านเอนไซม์ CYP3A4 เนื่องจากอาจทำให้เพิ่มระดับยาดังกล่าวในเลือดได้[8] นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหญ้าหนวดแมวต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเพราะอาจทำให้เพิ่มปริมาณสารออกซาเลตที่เป็นสารก่อนิ่วได้

เอกสารอ้างอิง
[1]. ชาญชัย บุญหล้า, ปิยะรัตน์ โตสุโขวงศ์, เกรียง ตั้งสง่า. โรคนิ่วไต จากกลไกระดับโมเลกุลสู่การป้องกัน2007;[37 screens]. Available at: http://www.bmbmd.research.chula.ac.th/pdf/Kidney%20Stone-%20From%20Molecular%20Lithogenesis%20to%20Stone%20Prevention.pdf. Accessed November,14, 2021.
[2]. จันทร์เพ็ญ ตั้งจิตรเจริญกุล, วราพร ยะหะยอ, รุ้งตะวัน สุภาพผล. หญ้าหนวดแมวเพื่อประโยชน์ในการขับปัสสาวะ. J. Med. Health Sci, 2017; 24(1): 70-1.
[3]. Gao S, Chen W, Peng Z, et al. Urinary metabonomics elucidate the therapeutic mechanism of Orthosiphon stamineus in mouse crystal-induced kidney injury. J Ethnopharmacol 2015;166: 323-32. DOI: 10.1016/j.jep.2015.03.025.
[4]. วีระสิงห์ เมืองมั่น, กฤษฎา รัตนโอฬาร. การใช้สมุนไพรในโรคระบบปัสสาวะ. วารสารวิชาการสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย. 2527; 8: 7-12.
[5]. อมร เปรมกมล, ศรีน้อย มาศเกษม, พจน์ ศรีบุญลือ. การศึกษาผลของหญ้าหนวดแมวในการลดขนาดของนิ่วไต. วารสารการแพทย์แผนไทยและทางเลือก. 2549: 30-4.
[6]. มยุรี เนิดน้อย, วีระสิงห์ เมืองมั่น. ผลของหญ้าหนวดแมวต่อระดับของสารที่เป็นตัวส่งเสริมและยับยั้งการเกาะกลุ่มรวมตัวของผลึกในปัสสาวะของคนปกติ. จดหมายเหตุทางแพทย์. 2534; 74: 318-21.
[7]. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติพ.ศ. 2564 (2564, 20 กรกฎาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 138 ตอนพิเศษ 165 ง. หน้า 13. (เอกสารแนบท้ายประกาศ หน้า 332)
[8]. ชลีกร สอนสุวิทย์, ชบาไพร โพธิ์สุยะ, ดวงกมล จรูญวนิชกุล, นรัถภร พิริยะชนานุสารณ์. การใช้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีโอกาสเกิดอันตรกิริยากับยาที่ใช้ในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง. ไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ. 2557; 7(4): 153.

วันที่ตอบ : 28 ธ.ค. 64 - 14:08:01




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110