ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Licochalcone A , polyhydroxy acid ส่วนผสมในยาทา อันตรายกับให้นมบุตรไหมคะ

ยาทารักษาสิว มีส่วนผสมหลัก คือ Licochalcone A , polyhydroxy acid
เป็นอันตรายกับการให้นมบุตรไหมคะ
ตอนนี้ลุกอายุ 1.7 ขวบ ยังเข้าเต้าอยู่บ้าง
แล้ว มียาทารักษาสิวแบบไหน ที่ต้องหลีกเลี่ยงในการใช้บ้างคะ

[รหัสคำถาม : 326] วันที่รับคำถาม : 27 ธ.ค. 64 - 15:04:34 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การรักษาสิวในหญิงให้นมบุตรควรพิจารณาถึงความรุนแรงของสิวและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากยา เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของยาที่ใช้ในการรักษาสิวในหญิงให้นมบุตรมีน้อย จากการสืบค้นข้อมูล แนะนำให้ใช้ยาทาภายนอกเป็นทางเลือกแรก ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ (erythromycin, clindamycin), benzoyl peroxide, azelaic acid และ salicylic acid ส่วนยารับประทานหรือการเลเซอร์อาจถือเป็นการรักษาทางเลือกรอง[1]
ข้อมูลความปลอดภัยของยาทาภายนอกที่ใช้ในการรักษาสิวในหญิงให้นมบุตรมีดังต่อไปนี้ erythromycin และ clindamycin ชนิดทาภายนอกมีแนวโน้มว่าปลอดภัยสำหรับใช้ในหญิงให้นมบุตร[1], tretinoin ถือเป็นองค์ประกอบที่มีอยู่ในธรรมชาติของน้ำนม แต่ยังไม่มีข้อมูลถึงปริมาณที่ถูกขับออกมาในน้ำนมหลังการใช้ยาทาภายนอก รวมถึงการดูดซึมมีเพียงเล็กน้อยหลังการใช้ยาและไม่ปรากฏว่ามีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อเด็ก[2], azelaic acid ยังไม่มีข้อมูลว่ายาถูกขับออกมาในน้ำนมแม่หรือไม่ แต่ปริมาณยาที่มีอยู่ในกระแสเลือดหลังจากการบริหารแบบทาภายนอกมีน้อยมาก คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในน้ำนมแม่ ดังนั้นการใช้ยาในหญิงให้นมบุตรควรใช้ด้วยความระมัดระวัง[1,3], salicylic acid ชนิดทาภายนอกในหญิงให้นมบุตรมีแนวโน้มว่าปลอดภัย เนื่องจากการดูดซึมทางกระแสเลือดจะน้อยมากหากใช้ในปริมาณเล็กน้อย แต่อาจเสี่ยงต่อการเกิด Reye's syndrome หากใช้ร่วมกับยา aspirin ชนิดรับประทาน[1], benzoyl peroxide ยามีการดูดซึมทางกระแสเลือดน้อยมาก แต่ยังไม่มีข้อมูลว่ายาถูกขับออกมาในน้ำนมแม่หรือไม่[3] ดังนั้นการใช้ในหญิงให้นมบุตรควรใช้ด้วยความระมัดระวัง[1], adapalene ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยาในหญิงให้นมบุตร โดยการใช้ยาทาภายนอกพบว่าดูดซึมทางกระแสเลือดต่ำมาก ดังนั้นปริมาณในน้ำนมแม่ก็น่าจะต่ำมากเช่นกัน แต่ในปริมาณระดับนี้ หากขับออกมาในน้ำนมยังคงเป็นที่น่าสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อเด็กหรือไม่ แนะนำให้ใช้ด้วยความระมัดระวัง[2]
ยาทาภายนอกในการรักษาสิวที่ควรหลีกเลี่ยงและไม่แนะนำในหญิงให้นมบุตร ได้แก่ isotretinoin เนื่องจากขับออกมาในน้ำนมแม่[3]
ในส่วนของ licochalcone A เป็นสารในธรรมชาติที่ได้จากรากชะเอม มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านจุลชีพ ส่วน polyhydroxy acids เป็นสารช่วยผลัดเซลล์ผิว จากการศึกษาทางคลินิกซึ่งทำการศึกษาในผู้ที่เป็นสิวบนใบหน้าระดับเล็กน้อย (มีสิวอุดตันแบบเปิดและแบบปิดไม่เกิน 10 เม็ด) อายุ 18-30 ปี จำนวน 91 ราย โดยอาสาสมัครจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ licochalcone A/salicylic acid/L-carnitine รูปแบบทาภายนอกในตอนเช้าและ licochalcone A/hydroxy-complex 10% ซึ่ง hydroxy complex เป็นส่วนผสมของสารช่วยผลัดเซลล์ผิว 3 ชนิด ได้แก่ glycolic acid, salicylic acids และ polyhydroxy acids จะสามารถทำให้เซลล์ที่อยู่ชั้นบนสุดหลุดลอกเพื่อกระตุ้นฤทธิ์สลายสิวอุดตัน โดยจะได้รับในรูปแบบทาภายนอกในช่วงก่อนนอน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าที่ 4 สัปดาห์หลังการใช้ผลิตภัณฑ์ คะแนน GAGS (global acne grading system) ซึ่งเป็นคะแนนที่ใช้ประเมินความรุนแรงของสิวลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จำนวนเฉลี่ยของสิวอุดตัน (comedones) ลดลง 41% และสิวแบบตุ่ม (papules) ลดลง 45% อย่างมีนัยสำคัญ ค่าเฉลี่ยความมันบนใบหน้า (sebum) ลดลง 47% อย่างมีนัยสำคัญและที่ 8 สัปดาห์หลังการใช้ผลิตภัณฑ์ พบว่าคะแนน GAGS ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน จำนวนเฉลี่ยของสิวอุดตันลดลง 64% และสิวแบบตุ่มลดลง 71% อย่างมีนัยสำคัญ ค่าเฉลี่ยความมันบนใบหน้าลดลง 52% อย่างมีนัยสำคัญ[4] แต่อย่างไรก็ตามจากการสืบค้นข้อมูลยังไม่มีงานวิจัยที่สนับสนุนถึงความปลอดภัยของการใช้สารดังกล่าวในหญิงให้นมบุตรอย่างชัดเจน ดังนั้นหญิงให้นมบุตรจึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

เอกสารอ้างอิง
[1]. Kong YL, Tey HL. Treatment of acne vulgaris during pregnancy and lactation. Drugs. 2013 Jun;73(8): 779-87.
[2]. Briggs GG, Forinash AB, Freeman RK, Towers CV. Drugs in Pregnancy and Lactation. 11th ed. Philadelphia: Wolters Kluwer Health; 2015. 27-8, 1461-63.
[3]. Koh YP, Tian EA, Oon HH. New changes in pregnancy and lactation labelling: Review of dermatologic drugs. Int. J. Womens Dermatol. 2019 May. 16;5(4): 216-226.
[4]. Dall'Oglio F, Fabbrocini G, Tedeschi A, Donnarumma M, Chiodini P, Micali G. Licochalcone A in Combination with Salicylic Acid as Fluid Based and Hydroxy-Complex 10% Cream for the Treatment of Mild Acne: A Multicenter Prospective Trial. Clin Cosmet Investig Dermatol. 2019 Dec. 31;12: 961-967.

วันที่ตอบ : 06 ม.ค. 65 - 14:31:39




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110