ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
หาข้อมูลยาตัวนี้ยากมากครับ เป็นยาบำรุงฮอร์โมนเพศชายชื่อ Lekcher


หาข้อมูลยาตัวนี้ยากมากครับ เป็นยาบำรุงฮอร์โมนเพศชายชื่อ Lekcher


[รหัสคำถาม : 33] วันที่รับคำถาม : 22 ม.ค. 63 - 13:25:41 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ Lekcher จัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อหวังผลเพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย[1,2] Lekcher มีส่วนประกอบต่างๆ ได้แก่ สารสกัดจากกระชายดำ 330 mg, สารสกัดจากโกจิเบอร์รี 100 mg, L-Arginine 50 mg, L-ornithine HCl 50 mg, สารสกัดจากโสม 50 mg, สารสกัดจากเมล็ดองุ่น 30 mg และวิตามินอี อะซิเตท 50% 20 mg[1] ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับส่วนประกอบสำคัญ 2 ชนิด คือ สกัดจากกระชายดำ และสารสกัดจากโกจิเบอร์รี[1,2]

กระชายดำ (Kaempferia parviflora Wall. ex Baker) มีสารสำคัญหลายชนิด เช่น น้ำมันหอมระเหย, Borneol, flavonoids; 5,7-dimethoxyflavone, 3,5,7,3’,4’-pentamethoxyflavone, anthocyanins เป็นต้น[3,4] ซึ่งสรรพคุณในตำรายาสมุนไพรไทยระบุว่าเป็นยาอายุวัฒนะ ส่วนเหง้าและรากของกระชายดำ ช่วยบำรุงกาม บำรุงกำหนัด เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ แก้กามตายด้าน และทำให้กระชุ่มกระชวย[5,6] ในสัตว์ทดลองสารสกัดเอทานอลจากเหง้ากระชายดำมีฤทธิ์ยังยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบองคชาต ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว จึงเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะเพศของสัตว์ทดลอง จากการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง(หนู) โดยเทียบกับยาหลอก พบว่า สารสกัดจากกระชายดำจะเพิ่มพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสี ส่วนพฤติกรรมทางเพศอื่นๆ เช่น mount frequency, intromission frequency, mount latency, intromission latency พบว่า ให้ผลไม่แตกต่างกัน แม้ว่าจะไม่พบผลต่อการทำงานของไตและตับในสัตว์ทดลอง แต่ลักษณะทางสัณฐานวิทยา (morphological) ของตับมีการเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่แนะนำให้ใช้สารสกัดจากกระชายดำขนาดสูงและติดต่อกันเป็นระยะเวลานานในมนุษย์[7]

สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับกระชายดำในมนุษย์ พบการศึกษา เช่น 1) การศึกษาในมนุษย์แบบเปิด (open-label trial) ในกลุ่มอาสาสมัครเพศชายที่มีสุขภาพดี โดยใช้สารสกัดเอทานอลจากกระชายดำขนาด 100 mg/day เป็นเวลา 30 วัน พบว่า ระดับความพึงพอใจต่อสมรรถภาพทางเพศ ความพึงพอใจของการมีเพศสัมพันธ์หลังจากการใช้สารสกัด เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับก่อนใช้สารสกัด[8] แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้อาจมีอคติเนื่องจากเป็นการศึกษาแบบเปิด (open-label trial) และประเมินความพึงพอใจด้วยตนเอง 2) การศึกษาในมนุษย์แบบปกปิดสองทาง (double-blind) ในกลุ่มอาสาสมัครเพศชายที่มีสุขภาพดี โดยใช้สารสกัดเอทานอลจากกระชายดำ ขนาด 25 mg/day, 90 mg/day เทียบกับยาหลอก เป็นเวลา 2 เดือน พบว่า กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอลจากกระชายดำ ขนาด 90 mg/day เท่านั้น ที่เพิ่มการตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางเพศ โดยเพิ่มขนาดและความยาวขององคชาติเฉลี่ย 1 เซนติเมตร อวัยวะเพศแข็งตัวเร็วขึ้น ซึ่งแตกต่างกับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p<0.05) แต่ไม่พบความแตกต่างของระดับฮอร์โมน testosterone, FSH และ LH ในทุกกลุ่มตัวอย่าง[4]

ส่วนโกจิเบอร์รี (Lycium barbarum L.) มีสารสำคัญหลายชนิด เช่น สารในกลุ่ม polysaccharides, flavonoids, carotenoids, phenylpropanoids และ polyphenols เป็นต้น[9] ซึ่งสารสำคัญที่มีการศึกษาเกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์และมีการนำมาใช้ในการแพทย์แผนจีนดั้งเดิมสำหรับรักษาภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย คือ Lycium barbarum polysaccharides (LBPs) ที่มีฤทธิ์ต้านความเมื่อยล้า Antioxidant เป็นต้น[9,10] จากการสืบค้นข้อมูลพบเพียงการศึกษาในสัตว์ทดลองเท่านั้น เช่น 1) การศึกษาในสัตว์ทดลองเกี่ยวกับการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย พบว่า การใช้สาร LBPs ในหนูทดลองเพศผู้ ช่วยให้องคชาตแข็งตัวเร็วขึ้น ควบคุมการหลั่งและเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศ เพิ่มน้ำหนักของอวัยวะเพศ ช่วยลดการถูกทำลายของอัณฑะด้วยความร้อน และทำให้ปริมาณและคุณภาพของน้ำอสุจิดีขึ้น[10] 2) การศึกษาในสัตว์ทดลองโดยให้สาร LBPs ในหนูทดลองที่เป็นเบาหวานขนาด 40 mg/kg เป็นเวลา 62 วัน มีผลเพิ่มประสิทธิภาพในการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงเพิ่มจำนวนเชื้ออสุจิ (×10^6/mL) และการเคลื่อนที่ของอสุจิ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับหนูทดลองที่เป็นเบาหวานแต่ไม่ได้รับสารใด และสามารถปรับระดับฮอร์โมน testosterone, LH และ FSH ในหนูที่เป็นเบาหวานให้กลับมามีระดับใกล้เคียงภาวะปกติได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01, p<0.01, p<0.05) ตามลำดับ[11] 3) อีกหนึ่งการศึกษาพบว่า สาร LBPs สามารถช่วยยับยั้งการเกิด apoptosis ของ testicular germ cells ในหนูทดลองได้[12]

จากข้อมูลเท่าที่สืบค้นได้ สารสกัดจากกระชายดำ ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในสัตว์ทดลอง ส่วนการศึกษาในมนุษย์ยังมีน้อยและเป็นการศึกษาที่มีจุดอ่อนหลายประการ ส่วนสารสกัดจากโกจิเบอร์รี ไม่พบข้อมูลการศึกษาในมนุษย์

เอกสารอ้างอิง
[1]. บริษัทเสริมพิสิทธิ์ จำกัด. Lekcher[อินเทอร์เน็ต]. บริษัทเสริมพิสิทธิ์ จำกัด. [เข้าถึงเมื่อ 8 มกราคม 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://lekcher.weebly.com/
[2]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. ตรวจสอบการอนุญาต[อินเทอร์เน็ต]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. [เข้าถึงเมื่อ 8 มกราคม 2563]. เข้าถึงได้จาก:http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/PRODUCT
[3]. สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. ตำรามาตรฐานยายาสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด; 2562.
[4]. Panakaporn W, Jintanaporn W, Terdthai T.U, Prasert P, Supaporn M, Bungorn S. Efficacy Assessment of Kaempferia parviflora for the Management of Erectile Dysfunction. J of Biological Sciences [Internet]. 2012 [cited 2020 Jan 11];12(4),149-155.
[5]. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรไทย. พิมพค์รั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์; 2540.
[6]. อรัญญา ศรีบุศราคัม. กระชายดํากับสมรรถภาพทางเพศชาย[อินเทอร์เน็ต]: สํานักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล; 2560 [เข้าถึงเมื่อ 12 มกราคม 2563]. เข้าถึงได้จาก:www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/374/
[7]. Sudwan P, Saenphet K, Saenphet S, Suwansirikul S. Effect of Kaempferia parviflora Wall. ex. Baker on sexual activity of male rats and its toxicity. Southeast Asian J Trop Med Public Health. 2006 [cited 2020 Jan 11];3:210-5. PubMed PMID: 17547083.
[8]. Stein RA, Schmid K, Bolivar J, Swick AG, Joyal SV, Hirsh SP. Kaempferia parviflora ethanol extract improves self-assessed sexual health in men: a pilot study (Abstact). J Integr Med[Internet]. 2019 [cited 2020 Jan 11];16(4),249-254. doi.org/10.1016/j.joim.2018.05.005.
[9]. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. สาระสำคัญและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเก๋ากี้ดำ [อินเทอร์เน็ต]: สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล; 2561 [เข้าถึงเมื่อ 12 มกราคม 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://www.medplant.mahidol.ac.th/active/shownews.
[10]. Luo Q, Li Z, Huang X, Yan J, Zhang S, Cai YZ. Lycium barbarum polysaccharides: Protective effects against heat-induced damage of rat testes and H2O2-induced DNAdamage in mouse testicular cells and beneficial effect on sexual behavior and reproductive function of hemicastrated rats. Life Sci. 2006 [cited 2020 Jan 11];10:79(7),613-21. doi.org/10.1016/j.lfs.2006.02.012.
[11]. Guang-Jiang S, Jie Z, Jing W, Hai-Qi Q, Qing C, Yang N. Protective effects of Lycium barbarum polysaccharide on male sexual dysfunction and fertility impairments by activating hypothalamic pituitary gonadal axis in streptozotocin-induced type-1 diabetic male mice. Endocrine journal, 2017 [cited 2020 Jan 11];64(9),907-922. doi: 10.1507/endocrj.EJ16-0430.
[12]. Shao H Z, Yu Fei D, Zhi W.W, Hao W.W, Zhi D.L. Traditional Chinese Medicine as a Remedy for Male Infertility: A Review. World J Mens Health, 2019 [cited 2020 Jan 11];37(2):175-185. doi: 10.5534/wjmh.180069
วันที่ตอบ : 23 ม.ค. 63 - 10:53:01




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110