ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ผงเกลือแร่ บรรเทาอาการท้องเสียค่ะ

- ถ้าเรากินสไปร์ทใส่เกลือแทนผงเกลือแร่ เพื่อบรรเทาอาการท้องเสียได้หรือไม่ และมีอย่างอื่นที่สามารถแทนผงเกลือแร่ได้มั้ย และเราจะรู้ได้อย่างไรว่าถ้ารับประทานน้ำอื่นๆ แทนผงเกลือแร่แล้ว สภาวะเกลือในร่างกายในช่วงปกติ และช่วงปกติของเกลือในร่างกายคือเท่าใดคะ
- ผงเกลือแร่ควรกินกี่ซองต่อวัน
- ผงเกลือแร่กินมากๆ มีผลอะไรมั้ยคะ

[รหัสคำถาม : 330] วันที่รับคำถาม : 28 ธ.ค. 64 - 14:34:15 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

อาการท้องร่วง หมายถึง การถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือโปรโตซัว ซึ่งผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงทุกรายจะเกิดการสูญเสียน้ำและอิเล็กโทรไลต์ไม่ว่าจะมีอาการแสดงของการสูญเสียน้ำหรือไม่ ดังนั้นผู้ป่วยทุกรายควรได้รับสารน้ำทดแทน ซึ่งรูปแบบของสารน้ำทดแทนที่ใช้ขึ้นกับความรุนแรงในการขาดน้ำ ผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำในระดับน้อยถึงปานกลาง เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง แต่ยังพอเดินไปไหนมาไหนได้ ไม่กระหายน้ำหรือกระหายน้ำเล็กน้อย ควรได้รับสารน้ำทดแทนทางปากซึ่งรูปแบบที่แนะนำและนิยมใช้คือ สารละลายที่มีปริมาณน้ำตาลและอิเล็กโทรไลต์ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เรียกว่า oral rehydration solution (ORS) หรือผงน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อป้องกันหรือแก้ไขภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ แต่ไม่สามารถหยุดหรือบรรเทาอาการท้องเสียได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำรุนแรงมาก คือ อ่อนเพลียมากจนไม่มีแรง ลุกเดินไม่ค่อยไหว ปากคอแห้งมาก กระหายน้ำมาก มีปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเร็ว ควรไปสถานพยาบาลเพื่อให้สารน้ำทดแทนในรูปฉีดเข้าหลอดเลือดดำ[1,2,3]
การเตรียมผงน้ำตาลเกลือแร่สำหรับทดแทนการสูญเสียน้ำจากการท้องเสียทำโดยละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วตามปริมาตรที่ระบุบนฉลาก ยกตัวอย่างเช่น ORS ขององค์การเภสัชกรรม ปริมาณ 6.98 g (Glucose 15 g, NaCl 2.625 g, Na citrate dihydrate 2.175 g, KCl 1.125 g) ให้ละลายในน้ำ 250 มิลลิลิตร จะทำให้ได้ความเข้มข้นของเกลือแร่ที่เหมาะสม ค่อยๆ จิบ ไม่ควรรับประทานรวดเดียวจนหมด เนื่องจากผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงจะมีสภาวะดูดซึมน้ำและอาหารได้ลดลง ส่งผลให้อาการอุจจาระร่วงรุนแรงกว่าเดิมได้ และควรดื่มให้หมดภายใน 24 ชั่วโมงเมื่อละลายแล้ว หากดื่มไม่หมดให้ทิ้งไปแล้วละลายซองใหม่ เมื่ออาการท้องร่วงหรืออาการอ่อนเพลียจากท้องร่วงดีขึ้นแล้ว ก็สามารถหยุดรับประทานได้ เนื่องจากการรับประทานผงน้ำตาลเกลือแร่โดยที่ร่างกายไม่มีภาวะขาดน้ำ อาจทำให้บวมน้ำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ หรือมีอาการบวมน้ำอยู่ก่อน และอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นในผู้ที่มีประวัติความดันโลหิตสูง เนื่องจากจากการได้รับปริมาณโซเดียมมากเกิน[3,4]
ส่วนการดื่มสไปร์ทใส่เกลือแทนผงน้ำตาลเกลือแร่ เป็นวิธีที่ไม่แนะนำสำหรับทดแทนน้ำและเกลือแร่ เนื่องจากในน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่าผงน้ำตาลเกลือแร่ และยังมีการอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาจทําให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร เกิดอาการท้องอืด และปวดท้องเนื่องจากเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือทำให้อาการท้องเสียแย่ลงได้ และยังต้องระมัดระวังในผู้ป่วยโรคเบาหวานและเด็กเล็ก[5,6,7,8]
หากไม่สามารถหาซื้อผงน้ำตาลเกลือแร่ได้ อาจผสมผงน้ำตาลเกลือแร่รับประทานเองได้โดยใช้เกลือป่น 1 ช้อนชา และน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ผสมในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ลิตร ดื่มเพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ได้ ทำให้สภาวะเกลือแร่ในร่างกายกลับมาเป็นปกติ โดยสภาวะเกลือแร่ปกติในร่างกาย โซเดียม (Na) 135-145 mEq/L และ โปแทสเซียม (K) 3.5-5 mEq/L การจะทราบปริมาณเกลือแร่ในร่างกายต้องทำการวัดระดับจากการเจาะเลือด อย่างไรก็ตามสามารถสังเกตอาการของตนเองได้ หากร่างกายยังขาดน้ำหรือเกลือแร่ จะยังคงมีอาการอ่อนเพลียหรือกระหายน้ำ[9,10]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Fabel PH, Shealy KM. Diarrhea. In: DiPiro JT, Tolbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey LM, Ed’s. Pharmacotherapy Handbook. 9th ed. New York: McGrew-Hill. 2015: 200-5.
[2]. สถาพร มานัสสถิต, สุกัญญา จงถาวรสถิต, รัชนี ธีระวิทยเลิศ, ปิ่นนพธุวานนท์. แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในผู้ใหญ่. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชุมชุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย; 2546: 18-9.
[3]. ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา, เฉลิมศรี ภุมมางกูร, พุทธรัตน์ ขันอาษา. ข้อแนะนําในการรักษาโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันสําหรับเภสัชกรชุมชน. Thai Journal Online. 2561; 14(4): 1-17.
[4]. สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1: แนวทางการตรวจรักษาโรคและการใช้ยา. พิมพ์ครั้งที่ 4 ฉบับปรับปรุง. กรุงเทพมหานคร: โฮลิสติก พับลิซซิ่ง; 2551: 306.
[5]. World Health Organization. The treatment of diarrhoea. 2005;[50]. Available at: http://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/43209/9241593180.pdf?sequence=1. Accessed November, 12, 2021.
[6]. A research review education series. Oral Rehydration Therapy for Diarrhea-Related Dehydration in The Philippines. 2019. Available at: https://www.researchreview.co.nz /getmedia/. Accessed November, 12, 2021.
[7]. ช่อลัดดา เที่ยงพุก. เรื่องน่ารู้ของน้ำอัดลม. ข่าวสารเกษตรศาสตร์ 2553; 56: 39-45.
[8]. Coca-cola Great Britain. Sprite. Available at: https://www.coca-cola.co.uk/brands/ sprite. Accessed November, 12, 2021.
[9]. DiPiro CV. Electrolyte Homeostasis. In: DiPiro JT, Tolbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey LM, Ed’s. Pharmacotherapy Handbook. 9th ed. New York: McGrew-Hill. 2015: 798-812.
[10]. Barr W, Smith A. Acute diarrhea. Am Fam Physician. 2014; 89(3): 180-9.

วันที่ตอบ : 28 ธ.ค. 64 - 15:13:09




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110