ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ไวรัสตับอักเสบบี

กรณีที่ผู้ป่วยฟอกไตเเต่ได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีเข็มเเรกเเค่ 1 ซีซี (20 ไมโครกรัม) จะให้การกระตุ้นเข็มต่อไปอย่างไรที่จะเหมาะสมให้ผู้ป่วยมี Antibody ถึงระดับที่ป้องกันได้

[รหัสคำถาม : 334] วันที่รับคำถาม : 30 ธ.ค. 64 - 15:33:45 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

คำถาม กรณีผู้ป่วยฟอกไตแต่ได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีเข็มแรก 1 cc (20microgram) จะกระตุ้นเข็มต่อไปอย่างไรที่จะเหมาะสมให้ผู้ป่วยมีantibodyถึงระดับที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus,HBV) สามารถนำไปสู่โรคตับอักเสบฉียบพลันหรือตับอักเสบเรื้อรังและภาวะตับแข็งได้ผู้ป่วยที่มีการฟอกไตจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี[1]เนื่องจากการมีภาวะคั่งของของเสียและสารเคมีต่างๆในเลือดจากการสูญเสียการทำงานของไต หรือ ภาวะยูรีเมีย (uremia) จะส่งผลกดระบบภูมิคุ้มกัน รบกวนการทำงานของ T-lymphocytes และ antigen-presenting cells ของ B- cell ส่งผลให้มีการสร้าง antibody เมื่อถูกกระตุ้นด้วย antigen ที่มีในวัคซีนลดลงเมื่อเทียบกับในบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ พบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HBV (Hepatitis B virus vaccine) ในผู้ป่วยฟอกไตด้วยปริมาณแอนติเจนเช่นเดียวกับที่ให้ในบุคคลทั่วไป จะมีผู้ป่วยเพียง 60-70 % ที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HBV (anti-HBs) มากกว่า 10 mIU/mL ซึ่งเป็นระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ได้[2]
วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HBV ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยในปัจจุบันนี้ เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) ชนิดน้ำที่ผลิตจากโปรตีนผิวนอกของเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (HBsAg) ด้วยวิธีทางพันธุวิศวกรรม (recombinant DNA vaccine) และใช้ aluminium hydroxide เป็นสารช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (adjuvant) ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ได้แก่ Engerix B® HB VaxPro II® Euvax B® และ Heberbiovac® โดยปริมาณแอนติเจนในวัคซีนของแต่ละบริษัทอาจจะไม่เท่ากัน ตั้งแต่ขนาด 10-20 µg/ml แต่ปริมาตรในการฉีดแต่ละครั้งของวัคซีนแต่ละบริษัทจะเท่ากัน คือ 0.5 ml/dose ในเด็กและ 1 ml/dose ในผู้ใหญ่[3] ในบุคคลทั่วไป การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ต้องฉีดอย่างน้อย 3 เข็ม ในเดือนที่ 0 เดือนที่ 1-2 และเดือนที่ 6-7[3]
สำหรับผู้ป่วยฟอกไต จากคำแนะนำของ The Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP) ปี 2012 และ ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2562 ได้มีการแนะนำให้ฉีดในขนาดครั้งละ (dose) 40 µg/ml จำนวน 4 ครั้ง ในเดือนที่ 0 เดือนที่ 1 เดือนที 2 และเดือนที่ 6[3,4] โดยปริมาตรในการฉีดวัคซีนแต่ละครั้งจะแตกต่างกันไปตามปริมาณแอนติเจนที่มีในแต่ละปริมาตรของแต่ละบริษัท ตัวอย่าง เช่น
● Engerix B® Euvax B® และ Heberbiovac® มีปริมาณแอนติเจน 20 µg/ml ดังนั้นต้องฉีดครั้งละ 2 ml
● HB–Vax ProII® มีปริมาณแอนติเจน 40 µg/ml ดังนั้นฉีดครั้งละ 1 ml
ในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยมีระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส HBV (anti- HBs) น้อยกว่า 10 mIU/ml หลังฉีดวัคซีนครบชุดแล้ว 1-2 เดือน ผู้ป่วยควรได้รับการฉีดซ้ำ (booster doses) แล้วตรวจวัดระดับ anti-HBs หลังฉีดวัคซีนแต่ละเข็ม 1 เดือน ถ้าได้ระดับภูมิคุ้มกัน (anti-HBs) มากกว่า 10 mIU/ml ก็สามารถหยุดฉีดได้ แต่ถ้าพบว่าระดับภูมิคุ้มกัน anti-HBs ภายหลังฉีด booster dose ครบ 3 ครั้งแล้วยังคงต่ำกว่าระดับ 10 mIU/ml ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากอาจต้องพิจารณาให้ฉีดวัคซีนซ้ำ ในขนาดที่สูงขึ้นหรือติดตามภาวะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี อย่างใกล้ชิด[3]
ดังนั้นในกรณีที่ผู้ป่วยฟอกไตได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HBV เข็มแรกในปริมาณตามมาตรฐานของคนทั่วคือ 20 µg/ml จะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มต่อไปโดยเพิ่มปริมาณเป็น 40 µg/ml จนครบชุดการฉีด 4 เข็ม โดยให้ฉีดวัคซีนครั้งที่สองห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 4 สัปดาห์ และเข็มสุดท้ายควรฉีดห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 6 เดือน[5] แต่หากพบว่ามีระดับภูมิคุ้มกันต่อไวรัส HBV (anti- HBs) น้อยกว่า 10 mIU/ml หลังฉีดครบชุดแล้ว 1-2 เดือน ควรได้รับการฉีดกระตุ้นซ้ำ (booster dose) ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น [3,4]
ในปัจจุบันได้มีวัคซีนใหม่ Heplisav-B® ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาสำหรับป้องกันเชื้อไวรัส HBV ในผู้ป่วยฟอกไตและมีอายุ ≥ 18 ปี Heplisav-B® มีปริมาณ HBsAg 20 µg/0.5 ml และใช้ CpG 1018 เป็นสารช่วยกระตุ้นเพิ่มการตอบสนองของภูมิคุ้มกันโรค การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนในผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย (end-stage renal disease, ESRD) อายุ ≥ 18 ปีที่ได้รับการฟอกไตและยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันไวรัส HBV มาก่อน จำนวน 119 คน โดยผู้ป่วยจะได้รับการฉีด Heplisav-B® ในปริมาณ 20 µg/ml ในสัปดาห์ที่ 0 4 8 และ 16 และทำการวัดระดับภูมิคุ้มกันที่สัปดาห์ที่ 20 พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยที่มีระดับภูมิคุัมกันโรค (anti-HBs) ≥ 10 mIU/mL 89.3% และมีจำนวนผู้ป่วยที่มีระดับภูมิคุุ้มกันต่อเชื้อ HBV สูง ≥ 100 mIU/mL 81.3% อาการไม่พึงประสงค์ที่พบภายใน 7 วันหลังการฉีดวัคซีน ได้แก่ ปวดบริเวณที่ฉีด (23% ถึง 39%) เหนื่อยล้า (11% ถึง 17%) และปวดศีรษะ (8% -17%)[6] ซึ่งหาก HeplisavB® ไดัรับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในประเทศไทย ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูงในการใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัส HBV ในผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกไต

เอกสารอ้างอิง
[1] Holley,J.L: Immunizations in patients with end-stage kidney disease. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. (Accessed on September 11, 2021.)
[2] Udomkarnjananun, S., Takkavatakarn, K., Praditpornsilpa, K., Nader, C., Eiam-Ong, S., Jaber, B.L., & Susantitaphong, P. (2020). Hepatitis B virus vaccine immune response and mortality in dialysis patients: a meta-analysis. Journal of Nephrology, 33(2), 343–354.doi: 10.1007/s40620-019-00668-1. Epub 2019 Nov. 7.
[3] กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, ชนเมธ เตชะแสนศิริ, วีระชัย วัฒนวีรเดช, อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์, และ ฤดีวิไล สามโกเศศ. (บรรณาธิการ). ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค. กรุงเทพฯ: กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข, 2562. 99-104.
[4] Centers for Disease Control and Prevention. Prevention of Hepatitis B Virus Infection in the United States: Recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices.(2012) [เข้าถึงเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/67/rr/pdfs/rr6701-H.PDF.
[5] Surquin, M., Tielemans, C.L., Kulcsár, I., Ryba, M., Vörös, P., Mat, O., Treille, S., Dhaene, M., Stolear, J.C., Kuriyakose, S.O., Leyssen, M.X., & Houard, S.A. (2010). Rapid, enhanced, and persistent protection of patients with renal insufficiency by AS02(V)-adjuvanted hepatitis B vaccine. Kidney International, 77(3), 247–255. doi: 10.1038/ki.2009.454. Epub 2009 Nov. 25.
[6] Awad, A.M., Ntoso, A., Connaire, J.J., Hernandez, G.T., Dhillon, K., Rich, L., Henderson, H., Lynn, R., Hyer, R. N., Xie, F., Erby, K., Janssen, R.S., & HBV-24 Study Group (2021). An open-label, single-arm study evaluating the immunogenicity and safety of the hepatitis B vaccine HepB-CpG (HEPLISAV-B®) in adults receiving hemodialysis. Vaccine, 39(25), 3346–3352. doi: 10.1016/j.vaccine.2021.05.003. Epub 2021 May. 14.

วันที่ตอบ : 11 ม.ค. 65 - 19:03:44




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110