ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ฉีดวัคซีนคนละบริษัท

๑.ถ้าฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีคนละบริษัท จะมีประสิทธิ ภาพเหมือนกันไหมคะ

๒.แล้วอย่างในกรณี เช่นตอนแรกฉีด verorab ตอนหลังฉีด pcecเข้มต่อไป ได้ไหมคะ

[รหัสคำถาม : 337] วันที่รับคำถาม : 04 ม.ค. 65 - 13:45:47 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยปัจจุบันเป็นแบบเชื้อตาย ที่ผลิตด้วยวิธีทางพันธุวิศวกรรม (recombinant DNA) และใช้สารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน aluminium hydroxide เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงสามารถใช้วัคซีนต่างบริษัททดแทนกันได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ฉีดวัคซีนและมีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่แตกต่างกัน[1, 2, 3] จำนวนครั้งของการฉีดในวัคซีนแต่ละบริษัท จะฉีด 3 เข็มเหมือนกันในเดือนที่ 0 เดือนที่ 1 และเดือนที่ 6 แม้ปริมาณแอนติเจน (HBsAg) ในวัคซีนต่อการฉีดแต่ละครั้งในแต่ละบริษัทจะไม่เท่ากัน แต่ปริมาตรของวัคซีนในการฉีดแต่ละครั้งของทุกบริษัทจะเท่ากันคือ 0.5 มิลลิลิตร/ครั้ง สำหรับเด็ก และ 1 มิลลิลิตร/ครั้ง สำหรับผู้ใหญ่ ถ้าฉีดของบริษัทหนึ่งไปแล้ว 1 เข็ม เข็มที่ 2 สามารถฉีดวัคซีนของอีกบริษัทหนึ่งหลังฉีดเข็มแรก 1-2 เดือน และฉีดวัคซ๊นเข็มที่ 3 หลังฉีดเข็มที่สอง 5 เดือน โดยใช้ปริมาตรตามที่บริษัทได้กำหนดไว้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยน[1] ผลการศึกษาในทารกแรกเกิดที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี Engerix-B® สลับกับ Euvax-B® ซึ่งเป็น recombinant hepatitis B vaccines เช่นเดียวกัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ Engerix- หรือ Euvax-B® ทั้ง 3 เข็ม พบว่า การฉีด Engerix-B® 1 เข็มแล้วตามด้วย Euvax-B® 2 เข็ม เมื่อเดือนที่ 1 และเดือนที่ 6 ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี 90.2% ซึ่งมีค่าสูงไม่แตกต่างกับระดับภูมิคุ้มกันในกลุ่มที่ได้รับ Engerix- หรือ Euvax-B®ทั้ง 3 เข็ม (95.9% และ 94.7% ตามลำดับ) อย่างมีนัยสำคัญ และทารกสามารถทนต่อการใช้วัคซีนได้[3]
องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ได้มีการรับรองวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ชนิดใหม่คือ Heplisav-B® ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดฉีด 2 เข็ม ในปริมาตร 0.5 ml เข้ากล้ามเนื้อ โดยฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน Heplisav-B® ผลิตโดยใช้แอนติเจนที่มีการดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นสัญญลักษณ์ของไวร้สที่สามารถกระตุ้นการตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกันแต่ไม่ก่อให้เกิดโรค และใช้ CpG 1018 เป็นสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้เพียงฉีดแค่ 2 เข็ม ก็มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงไม่แตกต่างจากการฉีดแบบวัคซีนเดิม 3 เข็ม วัคซีนนี้ยังไม่ได้ขึ้นทะบียนในประเทศไทย และยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ทดแทนวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ที่มีใช้กันอยู่ในขณะนี้[4]
วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า purified vero cell rabies vaccine (PVRV) ชื่อการค้า Verorab® เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ที่ผลิตโดยการเพาะเลี้ยงเชื้อภายใน vero cell ส่วน PCEC (purified chick embryo cell) rabies vaccine เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่ผลิตโดยการเพาะเลี้ยงเชื้อใน embryonated chick หรือ duck cell[5] ผลการศึกษาในคนที่ได้รับวัคซีนหลังจากโดนสัตว์กัดทั้งหมด 90 คน และมีการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารยา หรือ เปลี่ยนบริษัทที่ผลิต เช่น 24 คนเปลี่ยนจากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อเป็นการฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง 23 คนเปลี่ยนจากการฉีดเข้าในชั้นผิวหนังเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 27 คนเปลี่ยนขนิดจาก PCEC เป็น PVRV และ 16 คนเปลี่ยนชนิดจาก PVRV เป็น PCEC เป็นต้น พบว่า ไม่มีผู้ทดลองคนใดเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้น และเมื่อตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อพิษสุนัขบ้า หลังผ่านไป 14 วัน พบว่า ค่า RVNA titers ของวัคซีนมีค่า geometric mean concentration (GMC) เท่ากับ 11.84 IU/mL ซึ่งมีค่ามากกว่าระดับ 0.5 IU/mL ที่เป็นระดับค่าที่บ่งบอกว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ [6]
ดังนั้นวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าชนิด PCEC กับ PVRV สามารถสลับเปลี่ยนฉีดได้หากมีความจำเป็นโดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ฉีดวัคซีน และสามารถกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าได้[5, 6]

เอกสารอ้างอิง
[1]. กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2562. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ. บริษัท เวิร์ค พริ้นติ้ง จำกัด, 2562. 97-104 , 242-253.
[2]. Bassily S, Kotkat A, Gray G, Hyams KC, Brown FM, Imam IZ, Arthur R. Comparative study of the immunogenicity and safety of two dosing schedules of hepatitis B vaccine in neonates. Am. J. Trop. Med. Hyg. 1995 Oct;53(4):419-22. doi: 10.4269/ajtmh.1995.53.419. PMID: 7485697.
[3]. Tregnaghi M, Ussher J, Baudagna AM, Calvari M, Graña G. Comparison of two recombinant hepatitis B vaccines and their interchangeability in Argentine infants. Rev Panam Salud Publica. 2004 Jan;15(1):35-40. doi: 10.1590/s1020-49892004000100006. PMID: 14987456.
[4]. Dynavax. Dynavax Announces Final Immunogenicity and Interim Safety Results from Clinical Trial Evaluating HEPLISAV-B in Patients Undergoing Hemodialysis. 2021 Jan.
[5]. สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. แนวทางการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2561 และ คำถามที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ. ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพนตากอน แอ็ดเวอร์ไทซิ่ง, 2561.7-11.
[6]. Ravish HS, Sudarshan MK, Madhusudana SN, Annadani RR, Narayana DH, Belludi AY, Anandaiah G. Assessing safety and immunogenicity of post-exposure prophylaxis following interchangeability of rabies vaccines in humans. Hum. Vaccin. Immunother. 2014;10(5):1354-8. doi: 10.4161/hv.28064. Epub 2014 Feb 28. PMID: 24584134; PMCID: PMC4896519.
วันที่ตอบ : 21 ม.ค. 65 - 14:59:29




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110