ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
อาหารเสริม L carnitine

อยากทราบข้อมูลของอาหารเสริม L-carnitine ว่าลดความอ้วนได้จริงหรือไม่ แล้วมีความปลอดภัยแค่ไหน


[รหัสคำถาม : 340] วันที่รับคำถาม : 11 ม.ค. 65 - 14:51:02 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

L-carnitine หรือ Levocarnitine เป็นสารที่สามารถได้รับจากอาหาร [1] หรือสังเคราะห์ได้ในร่างกาย จากกรดอะมิโน L-methionine และ L-lysine พบมากในกล้ามเนื้อลายและกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งใช้กรดไขมันเป็นพลังงาน มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ขนส่ง long chain fatty acid ไปยัง mitochondria ที่อยู่ในเซลล์ เพื่อให้เกิดปฏิกิริยา oxidation เผาผลาญไขมันที่เก็บสะสมในกล้ามเนื้อลายและกล้ามเนื้อหัวใจเป็นพลังงาน รวมทั้งมีผลกระตุ้นการสร้างพลังงานจากน้ำตาลกลูโคส จึงทำให้มีการนำใช้ในการควบคุมน้ำหนักตัว [2]
จากผลการศึกษาแบบวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ในปี 2020 [2] ที่ทำการรวบรวมรายงานการวิจัย37การศึกษามาทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักของการให้ L-carnitine เสริม ทั้งในรูปแบบการให้ L-carnitine เพียงอย่างเดียวหรือให้ร่วมกับอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำและ/หรือการออกกำลังกาย
หรือให้ร่วมกับยาลดน้ำหนักหรือยาลดไขมันในเลือด เช่น orlistat simvastatin เป็นต้น เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ให้ L-carnitine แต่ให้การรักษาอื่นที่เหมือนกัน โดยทำการศึกษาในคนที่มีน้ำหนักปกติ (ดัชนีมวลกาย ตั้งแต่ 18.5 ถึง 24.9) น้ำหนักเกิน (ดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 ถึง 29.9) หรือมีภาวะอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 30) โดยขนาดรับประทานของ L-carnitine ที่มีการศึกษาคือ 250-2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 3-48 สัปดาห์ พบว่า การให้เสริม L-carnitine สามารถลดน้ำหนักในคนที่มีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยมีนำ้หนักตัวลดลงเฉลี่ยแตกต่างจากกลุ่มควบคุม 1.53 กิโลกรัม (95% CI -2.72, -0.34 ;P = 0.011) และ 1.29 กิโลกรัม (95% CI -2.00, -0.58;P<0.001)ตามลำดับและมีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักได้มากขึ้นหากรับประทานร่วมกับอาหารแคลลอรี่ต่ำและการออกกำลังกาย โดยมีน้ำหนักตัวลดลงเฉลี่ยแตกต่างจากกลุ่มควบคุม 1.51 กิโลกรัม (95% CI -2.91, -0.10; P= 0.035) ในขณะที่กลุ่มที่รับประทาน L-carnitine เพียงอย่างเดียวมีน้ำหนักตัวลดลงเฉลี่ยแตกต่างจากกลุ่มควบคุม 0.91 กิโลกรัม (95% CI -1.66, -0.66; P= 0.017 ) อย่างไรก็ตาม การให้เสริม L-carnitineในคนที่มีน้ำหนักตัวปกติไม่มีผลลดน้ำหนักตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ [ลดน้ำหนักตัวได้เฉลี่ย 0.69 kg (95% CI -1.65 , 0.26; P= 0.154) ชึ่งไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม]
ด้านประสิทธิภาพในการลดค่าดัชนีมวลกาย (body mass index, BMI) การให้เสริม L-carnitine สามารถลดค่าดัชนีมวลกายในคนที่มีภาวะ อ้วนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยมีค่าดัชนีมวลกายลดลงเฉลี่ยเแตกต่างจากกลุ่มควบคุม 0.42 กิโลกรัม/ตารางเมตร (95% CI -0.74, -0.10; P= 0.008)และการให้L-carnitineร่วมกับการรับประทานอาหารแคลอรี่ต่ำจะ
เพิ่มประสิทธิภาพในการลดค่าดัชนีมวลกายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นเดียวกัน โดยสามารถลดค่าดัชนีมวลกายได้เฉลี่ย 0.44 กิโลกรัม/ตารางเมตร (95% CI -1.02, -0.13 ;P <0.001) ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับ L-carnitine เพียงอย่างเดียว มีผลลดดัชนีมวลกายเฉลี่ย 0.17 กิโลกรัม/ตารางเมตร (95% CI -0.36, 0.00; P= 0.050)
ด้านประสิทธิภาพในการลดมวลไขมันทั้งหมด (body fat mass) การให้ L-carnitine เสริมสามารถลดมวลไขมันได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้สูงอายุที่กล้ามเนื้ออ่อนล้าอย่างรวดเร็ว นักกีฬา และในผู้ที่มีโรคตับคั่งไขมันที่มีภาวะตับอักเสบ(nonalcoholic steatohepatitis) โดยมีมวลไขมันลดลงเฉลี่ยต่างจากกลุ่มควบคุม 2.08 กิโลกรัม (95% CI -3.44 , - 0.72) ; P = 0.003)
ด้านประสิทธิภาพในการลดเส้นรอบเอว (waist circumference) และสัดส่วนของไขมันในร่างกายที่คิดเป็นร้อยละเมื่อเทียบกับน้ำหนักร่างกาย(body fat percentage) การให้ L-carnitine เสริมในผู้ที่มีน้ำหนักปกติและผู้ที่เป็นโรคอ้วน ไม่มีผลลดเส้นรอบเอวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ในผู้ที่น้ำหนักเกิน L-carnitine สามารถลดเส้นรอบเอวได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีความยาวเส้นรอบเอวลดลงเฉลี่ยจากกลุ่มควบคุม 1.55 เซนติเมตร (95% CI -2.30, - 0.80; P < 0.001) อย่างไรก็ตามการให้ L-carnitine เสริมในคนน้ำหนักตัวปกติ มีน้ำหนักเกิน หรือ มีภาวะอ้วน ไม่มีผลเปลี่ยนแปลง body fat percentage ในร่างกายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ข้อจำกัดในการศึกษานี้ คือ ความหลากหลายของขนาด L-carnitine ที่ใช้เพื่อลดน้ำหนักในงานวิจัยที่มีตั้งแต่ขนาด 250-4,000 มิลลิกรัมต่อวัน และในระยะเวลา 3 – 48 สัปดาห์ พบว่า การรับประทาน L-carnitine ขนาด 2 กรัม/วัน จะให้ประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักตัวได้สูงสุด[2]
สำหรับความปลอดภัยในการนำ L-carnitine มาใช้ลดน้ำหนักตัว พบว่า การรับประทาน L-carnitine ในขนาด 2 กรัมต่อวัน เป็นเวลานาน 2 เดือน ก่อให้เกิดผลข้างเคียงระดับไม่รุนแรง ได้แก่ คลื่นไส้ และไม่สบายท้อง แต่มีรายงานว่าการรับประทาน L-carnitine ขนาด 1.5 กรัม เป็นเวลา 6 เดือน จะมีการเพิ่มระดับสาร trimethylamine-N-oxide (TMAO)[3] ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดหลอดเลือดแข็ง (pro-atherogenic) และนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้[4]รวมทั้งมีข้อควรระวังในการรับประทาน L-carnitine ดังนี้
1. อาจทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันไวเกินต่อยา เช่น ผื่น หน้าบวม เป็นต้น
2. อาจทำให้ชักได้และเพิ่มความถี่การชักในผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก
3.ยังไม่มีข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ L-carnitine ในการใช้ในผู้ที่ภาวะการทำงานของไตบกพร่อง [5]
ในปัจจุบันยังไม่มีการรับรองการใช้ L-carnitine เพื่อลดน้ำหนัก [5] จากข้อมูลการศึกษาทางคลินิกที่สืบค้นได้ มีข้อมูลยืนยันประสิทธิภาพของ L-carnitine ในการลดน้ำหนักตัวในผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินได้และ
ควรรับประทานควบคู่กับอาหารแคลลอรี่ต่ำและการออกกำลังกาย การใช้ยาต้องคำนึงถึงขนาดยาที่ให้ประสิทธิภาพและเนื่องจากการใช้ยาเพื่อลดน้ำหนักจำเป็นต้องกินยาต่อเนื่องกันเป็นเวลานานอย่างน้อย 3-6 เดือน[6] จึงต้องคำนึงถึงการก่อให้เกิดอาการข้างเคียงข้อควรระวังและกลุ่มผู้ป่วยที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

เอกสารอ้างอิง
[1]. National Institutes of Health Office of Dietary Supplements. Carnitine Fact Sheet for Health Professionals. 2021. Accessed Sep,16,2021. Available at:
https://ods.od.nih.gov/factsheets/Carnitine-HealthProfessional
[2]. Talenezhad N, Mohammadi M, Ramezani-Jolfaie N, Mozaffari-Khosravi H, Salehi-Abargouei A. Effects of l-carnitine supplementation on weight loss and body composition: A systematic review and meta-analysis of 37 randomized controlled clinical trials with dose-response analysis. Clin.Nut.ESPEN. 2020 Jun;37:9-23. doi: 10.1016/j.clnesp.2020.03.008.
[3]. Samulak JJ, Sawicka AK, Hartmane D, Grinberga S, Pugovics O, Lysiak-Szydlowska W, et al. L-Carnitine Supplementation Increases Trimethylamine-N-Oxide but not Markers of Atherosclerosis in Healthy Aged Women. Ann.Nutr.Metab. 2019;74(1):11-17. doi: 10.1159/000495037. Epub 2018 Nov 28. PMID: 30485835.
[4]. Sawicka AK, Renzi G, Olek RA. The bright and the dark sides of L-carnitine supplementation: a systematic review. J.Int.Soc.Sports.Nutr. 2020 Sep 21;17(1):49. doi: 10.1186/s12970-020-00377-2.
[5]. Levocarnitine. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2021 [updated 12 May 2021; cited 7 Dec 2021]. Available from: http://online.lexi.com
[6]. Garvey WT, Mechanick JI, Brett EM, Garber AJ, Hurley DL, Jastreboff AM, et al. American Association of Clinical Endocrinologists And American College Of Endocrinology Comprehensive Clinical Practice Guidelines For Medical Care Of Patients With Obesity. Endocr.Pract. 2016 Jul;22 Suppl 3:1-203.doi: 10.4158/EP161365.GL. Epub 2016 May 24. PMID: 27219496.

วันที่ตอบ : 20 ม.ค. 65 - 13:21:07




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110